คงปฏิเสธได้ยากว่าความรักของลูกวัยรุ่นนำพามาซึ่งความเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย การรักษาความสมดุลในความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่อื่น ๆ และเผชิญกับความรู้สึกผิดหวัง ยิ่งถ้าบ้านไหนพบว่าแฟนของลูกไม่ตรงใจความเป็นห่วงอาจยิ่งเท่าทวีคูณ อย่างไรก็ตาม การเลือกและจัดการความสัมพันธ์โรแมนติกเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่สำคัญในช่วงวัยรุ่น ซึ่งช่วยให้ลูกสร้างความเป็นตัวเอง ฝึกทักษะชีวิต และเตรียมพร้อมสู่ความเป็นผู้ใหญ่ บทความนี้จะชวนพ่อแม่เรียนรู้ที่จะเปิดใจ เห็นประโยชน์ของการสนับสนุนลูก และสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกที่จะส่งผลดีทั้งในปัจจุบันและอนาคตค่ะ
ความรักเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติ
เมื่อพูดว่าสิ่งใดเป็น “พัฒนาการมนุษย์” แปลว่าสิ่งนั้น “ต้องเกิดขึ้น” เมื่อถึงเวลาที่สมควร เช่น เมื่อทารกเข้าสู่ขวบปีที่สอง เราจะได้เห็นกลไกของความเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) เริ่มทำงาน (และไม่น่าแปลกใจที่วัยนี้จะวิ่งหนีแม่ตอนถูกป้อนข้าว) เพราะธรรมชาติได้ตั้งโปรแกรมให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหว สำรวจและคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และสมองที่ทำงานได้อย่างว่องไวและซับซ้อน เด็กที่ได้รับการสนับสนุนให้เบ่งบานเป็นตัวเองจึงได้รับผลในทางบวก คือ กล้าตัดสินใจ ไม่กลัวผิด เริ่มใหม่ได้เสมอ ในทางกลับกันการไม่สนับสนุนให้เด็กได้มี autonomy แม้จะไม่ตั้งใจก็ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กได้ เด็กที่ไม่มี autonomy จะไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจ กลัวทำผิด กลัวถูกดุ ดูเผิน ๆ พ่อแม่อาจดีใจที่ลูกไม่เคยมีปากเสียง ยอมตามคำสั่ง แต่เมื่อเขาต้องไปตัดสินใจคนเดียวในโลก ภายในใจเขาอาจเต็มไปด้วยความรู้สึกไม่มั่นใจและวิตกกังวล
การมีความรักแบบโรแมนติกเองก็เป็นหนึ่งในพัฒนาการปกติของมนุษย์ที่เข้าสู่วัยหนุ่มสาว เมื่อเด็กน้อยของเราเติบโตเป็นวัยรุ่น เขาจะแยกตัวเป็นอิสระจากพ่อแม่ (independence) และมีความรัก นี่เป็นสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดไว้เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลตัวเอง และสร้างครอบครัวในวัยผู้ใหญ่สืบเนื่องต่อไปเป็นวงจร ดังนั้นการมีความรักแบบโรแมนติกจึงเป็นกระแสของธรรมชาติที่ต้านทานได้ยาก หากไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติก็อาจปิดกั้นลูกจากทักษะชีวิตในเรื่องการจัดการความสัมพันธ์ การประเมินสถานการณ์ทางความสัมพันธ์ และการจัดการอารมณ์ใหม่ ๆ ได้
วัยรุ่นที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความเป็นอิสระ มีแนวโน้มจะค้นพบอัตลักษณ์ (identity) ของตัวเองได้ไว ซึ่งทำให้เขาเข้าใจว่าตัวเองคือใคร ต้องการอะไร มีความชอบแบบไหน มีงานวิจัยจำนวนมากที่สนับสนุนว่าความรักแบบโรแมนติกช่วยส่งเสริมการค้นพบอัตลักษณ์ของวัยรุ่นได้ เพราะวัยรุ่นจะได้สำรวจและทดสอบค่านิยมที่ตัวเองมี จัดการความขัดแย้ง เรียนรู้การสื่อสาร การสร้างขอบเขตในความสัมพันธ์ และการสร้างสมดุลระหว่างการมีอิสระให้ตนเองและความผูกพันทางอารมณ์ (Gómez-López และคณะ, 2019)
ถึงตรงนี้ อาจจะพอเห็นภาพคร่าว ๆ แล้วว่าโจทย์ยากของผู้เป็นพ่อแม่คือ แม้ความรู้สึกเป็นห่วงจะท่วมท้นเพียงใด แต่หน้าที่ในการสนับสนุนพัฒนาการตามวัยของลูกก็ยังเป็นสิ่งสำคัญไม่ย่อหย่อนไปจากวันแรกที่ลูกลืมตาดูโลก การที่ลูกจะแยกตัวเป็นอิสระและมีความรักแบบโรแมนติกได้อย่างประสบความสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพ่อแม่เป็นทัพหลังคอยช่วยช่วยเหลือ การมีพ่อแม่ที่ “เปิดโอกาส” และ “ประคองอยู่เคียงข้าง” ไปพร้อม ๆ กับการสั่งสอน จึงถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าที่ลูกจะหาไม่ได้จากใครอื่น
ภารกิจหลักของพ่อแม่เมื่อลูกมีแฟน
พ่อแม่ที่สร้างสมดุลในการสั่งสอน เปิดโอกาส และประคับประคองอยู่ข้าง ๆ ได้ จะได้รางวัลจากธรรมชาติให้ได้อยู่ใน “พื้นที่แห่งความไว้วางใจ” ของลูก มีส่วนรับรู้ทุกข์สุขและเรื่องราวของลูกเมื่อเขาสำเร็จและล้มเหลวโดยที่ลูกไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตำหนิหรือตัดสิน เพราะรู้สึกว่ายังไง “พ่อแม่ก็เป็นทีมเดียวกับฉัน” ภารกิจสำคัญของพ่อแม่เมื่อลูกมีแฟน จึงไม่ใช่โฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ของลูกกับแฟน แต่โฟกัสที่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับลูก เพื่อให้พ่อแม่เป็นบุคคลที่เขาไว้ใจเพียงพอที่จะเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง และเปิดใจพิจารณาคำแนะนำที่พ่อแม่มอบให้ การแสดงออกให้ลูกรู้ว่าเราเป็นทีมเดียวกันมีหัวใจหลักคือการทำให้ลูกรู้สึกเป็นที่รักและปลอดภัย ซึ่งอาจทำได้ผ่านวิธีการหลากหลายและควรทำอย่างสม่ำเสมอจนเป็นเรื่องปกติของครอบครัว
-
ระลึกว่าลูกเป็นวัยรุ่นแล้ว
ละทิ้งความเคยชินว่าลูกของเรายังเป็นเด็ก และปรับใจและวิธีการสื่อสารและความคาดหวังให้ตรงกับวัยของลูกสักนิด ทำความเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่นที่ไม่ชอบฟังการพูดที่ยืดเยื้อ ซ้ำ เป็นผู้ฟังอยู่ฝ่ายเดียว และปรับวิธีการพูดให้กระชับ พูดครั้งเดียว และเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดตอบ
-
สร้างบรรยากาศของการพูดที่ผ่อนคลาย
เรื่องที่ยากควรจะพูดในเวลาที่ทุกคนอารมณ์ดี การพูดเรื่องความสัมพันธ์ของลูกควรจะเกิดขึ้นในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ตั้งใจจนเกินไป คล้ายนึกขึ้นได้จึงขอชวนคุย แต่หากทำให้เป็นเรื่องจริงจัง “ขอคุยด้วยหน่อย” จะกระตุ้นให้ลูกรู้สึกหวั่นใจและอาจปกป้องตัวเองจนไม่ได้ฟังสิ่งที่พ่อแม่อยากจะสื่อ
-
ให้ข้อมูลที่จำเป็น
แม้ว่าการเปิดโอกาสให้ลูกได้ทดสอบทดลองด้วยตัวเองจะเป็นหัวใจของการเติบโต แต่การให้ข้อมูลที่จำเป็นเพื่อให้ลูกมีพื้นฐานในการใช้วิจารณญาณก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เมื่อมีแฟน พ่อแม่ควรแนะนำให้ลูกสังเกตว่าคู่รักที่ดีควรเป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องของการให้เกียรติกันและกัน การสื่อสาร ควบคุมอารมณ์ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ รวมถึงเรื่องสำคัญอย่างความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจ การแชร์ประสบการณ์ของพ่อแม่ยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ได้อีกด้วย
-
สื่อสารกับลูกอย่างเปิดกว้าง
เปิดโอกาสให้ลูกได้พูดถึงความสัมพันธ์ของเขาโดยไม่ต้องกลัวการตัดสิน ควรเลี่ยงคำถามที่แสดงถึงการกล่าวโทษเช่น “ทำไมทำแบบนี้” และเปลี่ยนมาใช้คำถามปลายเปิดแทนเช่น “หนูตัดสินใจยังไง” “เรื่องนี้ทำให้หนูรู้สึกยังไงบ้าง” หรือ “เรื่องนี้ทำให้หนูรู้อะไรมากขึ้นบ้าง” รวมถึงยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างโดยอาจะไม่ต้องตัดสินว่าความคิดเห็นของใครถูกผิด
-
ดูแลอารมณ์ของลูก
การรับรู้และแสดงออกว่าเข้าใจอารมณ์ของลูกโดยไม่ตัดสินเป็นการแสดงออกว่าพ่อแม่มีความรักให้อย่างไม่มีเงื่อนไข และเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างดี ปลอบใจเมื่อลูกต้องผ่านเรื่องที่ยากลำบากโดยไม่สั่งสอนและวิจารณ์ ใช้การสะท้อนอารมณ์ เช่น “หนูรู้สึกน้อยใจ ที่เขาไม่ทำตามสัญญา” เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกแสดงความรู้สึกภายในออกมา ในขณะเดียวกันก็ยินดีกับลูกในความสำเร็จหรือเรื่องดี ๆ โดยไม่หยอก แซว หรือทำให้รู้สึกอาย
แม้ว่าความรักในวัยรุ่นอาจจะทำให้พ่อแม่ต้องวุ่นวายใจอยู่บ้าง แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้อย่างดี บทบาทของพ่อแม่ในช่วงเวลานี้คือการเป็นการสร้าง “ฐานที่มั่นคง” ที่ทำให้ลูกมั่นใจว่าจะมีพ่อแม่อยู่เคียงข้างเสมอในทุกช่วงเวลา การสื่อสารอย่างเปิดกว้างและความรักที่ไม่มีเงื่อนไข คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกพร้อมรับมือกับความสัมพันธ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ขอให้พ่อแม่เชื่อมั่นในศักยภาพและความสำคัญของตนเองและลูกและเติบโตทางจิตใจไปพร้อม ๆ กันนะคะ
อ้างอิง
Gómez-López, M., Viejo, C., & Ortega-Ruiz, R. (2019). Well-Being and Romantic Relationships: A Systematic Review in Adolescence and Emerging Adulthood. International journal of environmental research and public health, 16(13), 2415. https://doi.org/10.3390/ijerph16132415
บทความโดย
อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ