คนแต่ละยุคซึมซับประสบการณ์และค่านิยมทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมที่ต่างกัน จึงพัฒนามุมมอง แนวคิด และค่านิยมเฉพาะตัวที่สะท้อนยุคสมัยของตนเอง ทำให้พวกเขามีลักษณะและมุมมองร่วมกันมากกว่าที่จะคล้ายคลึงกับคนรุ่นก่อน สิ่งนี้เป็นรากฐานของ “ช่องว่างระหว่างวัย” หรือ generation gap คาร์ล มันไฮม์ (Karl Mannheim) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน เป็นหนึ่งในคนแรก ๆ ที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ โดยเขาได้พัฒนา “ทฤษฎีรุ่นวัย” (Theory of Generations) ในผลงาน “The Problem of Generations” ที่ตีพิมพ์ในปี 1928
ช่องว่างระหว่างวัย — ความแตกต่างที่เกิดจาก “ขอบเขตของอายุ” (age boundaries)
เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คนที่เกิดในยุคเดียวกันมักมีมุมมองและให้ความสำคัญต่อสิ่งต่าง ๆ ในทิศทางคล้ายคลึงกัน การเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มีข้อสังเกตว่า:
- คนแต่ละยุคได้ซึมซับและสะสมประสบการณ์เฉพาะของยุคสมัยของตนเอง
- คนแต่ละยุคมีลักษณะร่วมและความคล้ายคลึงกันกับคนในยุคเดียวกันมากกว่าที่จะเหมือนกับคนในรุ่นพ่อแม่
ถอดรหัสลักษณะเฉพาะของคนแต่ละยุคในสังคมปัจจุบัน
กลุ่มคนตามช่วงอายุ
- ยุคปู่ย่าตายาย หรือ Silent Generation คนที่เกิดปี พ.ศ. 2468 – 2485 อายุ 80 ปี ขึ้นไป
- ยุคลุง ป้า พ่อและแม่ หรือ Baby Boomers คนที่เกิดปี พ.ศ 2489 – 2507 อายุ 58-76 ปี
- ยุค พ่อและแม่ น้า อา Generation X คนที่เกิดปี พ.ศ. 2508 – 2522 อายุ 43-57 ปี
- ยุค น้า อา พี่ น้อง Generation Y คนที่เกิดปี พ.ศ. 2523 – 2540 อายุ 25-42 ปี
- ยุค พี่ น้อง Generation Z คนที่เกิดปี พ.ศ 2539 ปี อายุต่ำกว่า 25 ปี
- ยุค หลาน เหลน Generation Alpha คนที่เกิดปี พ.ศ. 2553 ปี อายุต่ำกว่า 12 ปี
ลักษณะเฉพาะของกลุ่มคนแต่ละยุค โดยแบ่งตามคุณลักษณะเด่น และการใช้เทคโนโลยี อาจแบ่งได้ 3 กลุ่ม ดังนี้
ช่องว่างระหว่างวัย มีแนวโน้มเป็นภัยเงียบ อาจก่อให้เกิดปัญหา เมื่อคนเรา…
- ขาดความเข้าใจธรรมชาติของแต่ละวัย ทำให้เกิดการคาดหวังที่เกินจริง
- เมื่อคนต่างวัยให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน จึงเกิดความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับพฤติกรรมและความเชื่อที่แต่ละวัย “ควรจะมี”
- คนรุ่นสร้างเนื้อสร้างตัวหลังสงคราม (รุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย) มองว่าควรทำงานที่เดียวตลอดชีวิตและมีความภักดี ในขณะที่คนยุคใหม่หรือเจนวาย (Gen Y) มองหาความท้าทายและโอกาสจากหลากหลายองค์กร ไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง
- ให้คุณค่ากับความเป็นปัจเจกบุคคลสูง ทำให้คนมองต่างกันได้ง่ายขึ้น
- ใช้ชีวิตที่เร่งรีบ มีธุระเยอะ ไม่มีเวลาให้กันเท่าที่ควร
- อยู่ในครอบครัว สถานที่ทำงาน ชุมชน ที่มีความหลากหลายของคนต่างรุ่นวัย (คนมักเข้าใจคนรุ่นใกล้ตัวและเห็นต่างกับคนรุ่นที่ห่างจากตน)
ปัญหาคือ พอคุยกันไม่ได้ เลยไม่เข้าหากัน หนีหน้ากันเพียงเพราะไม่อยากมีปัญหา ไม่อยากโต้เถียงกัน ไม่มีกิจกรรมร่วมกัน ช่องว่างยิ่งห่างขึ้น
บทความโดย
ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์
ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยา
ประธานแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์
และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย