ตัวอย่างสถานการณ์ช่องว่างระหว่างวัยในบ้านและในที่ทำงาน
ในครอบครัวที่มีสมาชิกหลากหลายยุค เช่น ปู่ย่าเป็น Gen Baby Boomers, พ่อแม่เป็น Gen X และลูกหลานเป็น Gen Millennials และ Gen Z ความท้าทายคือการปรับตัวเข้าหากัน เนื่องจากแต่ละรุ่นมีความสนใจ ความชอบ รูปแบบการสื่อสาร และค่านิยมที่ต่างกัน
บริษัทนวัตกรรมชุมชนคนเมือง เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีพนักงานประจำเต็มเวลา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่เพิ่งเรียนจบ และพนักงานบางส่วนที่ทำงานพาร์ทไทม์หลังเกษียณจากงานประจำ เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทได้เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่หลายตัว โดยมุ่งหวังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของชุมชน
หัวใจ 2 ข้อในการ “เติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย”
ข้อแรก ลดช่องว่างด้วยการสื่อสารที่สร้างสรรค์
- หลีกเลี่ยงการกระแนะกระแหนหรือแซะกัน : พยายามลดคำพูดที่อาจสร้างบรรยากาศเชิงลบ แทนที่จะวิจารณ์หรือเหน็บแนมกัน
- เปลี่ยนมุมมองมาเป็นการแบ่งปันและรับฟัง : ส่งเสริมการแบ่งปันประสบการณ์ ความคิด และฟังกันอย่างตั้งใจ ให้แต่ละคนมีพื้นที่แสดงออกและเรียนรู้จากกัน
ข้อที่สอง เติมเต็มความแตกต่างด้วยกิจกรรมร่วมกัน
- ทำกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ : หากการพูดคุยกันยังไม่คุ้นเคย ลองหากิจกรรมที่ทำด้วยกัน เช่น เดินเลือกซื้อของ ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร หรือออกกำลังกายร่วมกัน ซึ่งช่วยเชื่อมโยงกันผ่านการทำสิ่งสร้างสรรค์และการลงมือทำไปพร้อมกัน
- ใช้เวลาให้กันอย่างสม่ำเสมอ : ไม่จำเป็นต้องนาน แต่การใช้เวลาคุณภาพร่วมกันและอัปเดตชีวิตกันสั้นๆ ช่วยให้แต่ละฝ่ายรู้สึกผูกพันต่อกัน
- สร้างพื้นที่หรือหาเป้าหมายร่วมกัน : ค้นหาสิ่งที่ทุกคนให้คุณค่าร่วมกัน เช่น การทำแปลงผักสวนรวมหลายเจนที่แต่ละวัยสามารถร่วมปลูกและดูแล หรือเลี้ยงสัตว์ร่วมกัน เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้สมาชิกในบ้านรู้สึกเชื่อมโยงและรับผิดชอบต่อสิ่งเดียวกัน
ตัวอย่าง การเติมเต็มความแตกต่างในสถานการณ์ช่องว่างระหว่างวัยในบ้านและที่ทำงาน
กฎ Platinum 3 ข้อ สำหรับ เตือนใจ เชื่อมใจคนต่างยุคกัน
- ข้อแรก : เปิดใจ – ไม่ว่ารุ่นไหนหรือวัยไหน ทุกคนต่างมีความสามารถและความถนัดในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตน การแก้ปัญหาเป็นหน้าที่ของทุกคน
- ข้อที่สอง : ปิดช่องว่างระหว่างวัย – ควรมองหาสิ่งที่เรามีร่วมกันเพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมโยงระหว่างกัน
- ข้อสุดท้าย : หลีกเลี่ยงความคาดหวังเกินจริง – ควรรักษาความสม่ำเสมอในการสื่อสารและการทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่ตั้งความหวังที่สูงเกินไป
ขอบคุณทุกท่านที่เห็นความสำคัญของ “การลดความแตกต่างและเติมเต็มช่องว่างระหว่างรุ่นวัย” สิ่งนี้จะช่วยลดภาพเหมารวม (stereotypes) ของแต่ละรุ่น ทำให้เราเห็นคุณค่าในความหลากหลาย และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนวิธีการอยู่ร่วมกันในสังคม การเชื่อมโยงนี้ช่วยเสริมความยืดหยุ่นทางใจ เพิ่มความเข้าใจ รู้ทันโลก รู้จักคนรอบข้าง อีกทั้งเป็นการกระตุ้นความคิด ลดอารมณ์ทางลบ และช่วยรักษาทักษะทางสังคมในทุกช่วงวัย
บทความโดย
ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์
ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยา
ประธานแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์
และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย