Anxiety – ความวิตกกังวล

01 Dec 2022

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

ความวิตกกังวล หมายถึง สภาวะทางอารมณ์ที่บุคคลรู้สึกกังวล กระวนกระวายใจ เครียด รู้สึกว้าเหว่ มีความคิดเกี่ยวกับความตาย รวมถึงมีอาการนอนไม่หลับ และอาการชาหรือเจ็บแปลบตามร่างกายในชีวิต

 

ความวิตกกังวลคือลักษณะอารมณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ ซึ่งเกิดจากการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงอันตราย เป็นความรู้สึกของการเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ไม่คุ้นเคย หรือความขัดข้องใจที่คุกคามสวัสดิภาพ ภาวะสมดุล วิถีชีวิตของบุคคล หรือกลุ่มสังคมที่บุคคลนั้นเป็นเจ้าของอยู่

 

กล่าวได้ว่า ความวิตกกังวลไม่ได้เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับบุคคลโดยตรงจากสถานการณ์ที่เข้ามากระทบ แต่เป็นกระบวนการที่เกิดจากการที่บุคคลประเมินความน่าจะเป็นของสถานการณ์ในอนาคต ซึ่งเป็นผลจากการที่บุคคลเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตที่เคยประสบ

 

สรุปคือ ความวิตกกังวลเป็นผลจากการที่บุคคลได้รับสิ่งเร้าแล้วคิดประเมินหรือคาดคะเนว่าสิ่งเร้านั้นจะทำให้เกิดความไม่พึงพอใจหรือทำให้เกิดอันตรายต่อบุคคล ส่งผลให้บุคคลไม่สาม

 

 

สาเหตุของการเกิดความวิตกกังวล


 

ความวิตกกังวลสามารถเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการในชีวิต เช่น การเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่น โดยจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลและความคับข้องใจ อีกทั้งความวิตกกังวลยังสามารถเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือการเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือเกิดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ความขัดแย้งกับบุคคลอื่น เป็นต้น

 

 

อาการของความวิตกกังวล


 

  1. ความรู้สึกวิตกกังวล – เป็นอาการหลักที่เกิดขึ้น บุคคลมักรายงานว่าตนเองรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมาก รู้สึกว่าตนอยู่ในภาวะตึงเครียด อึดอัด หวาดหวั่น หงุดหงิด กระวนกระวาย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย สิ้นหวัง รู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า ตำหนิตนเองและผู้อื่น คิดกลับไปกลับมา และมีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะมีเคราะห์ร้ายเกิดขึ้นกับตนเอง อีกทั้งรู้สึกไม่สามารถควบคุมความวิตกกังวลของตนเองได้
  2. อาการด้านร่างกาย – บุคคลที่มีความวิตกกังวลจะมีการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติโดยเฉพาะระบบประสาทซิมพาเธติก ทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป และนำมาซึ่งอาการต่าง ๆ เช่น หัวใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก เท้าเย็น เหงื่อออก กล้ามเนื้อตึง ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ท้องอืด รู้สึกชาบริเวณปลายมือและเท้า ประจำเดือนมาผิดปกติ
  3. ปัญหาเรื่องการนอนหลับ – มีอาการนอนหลับยาก พักผ่อนไม่เพียงพอ รู้สึกไม่พึงพอใจการนอนหลับของตนเอง อาจมีปัญหาการตื่นขึ้นกลางดึกและไม่สามารถนอนหลับได้อีก ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า
  4. ด้านความคิด สติปัญญา และการรับรู้ – มีความหมกมุ่น ฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ ลืมง่าย สับสน ความสามารถในการตัดสินใจลดลง ระดับการรับรู้ลดลง บางครั้งมีรายงานว่าอยู่ ๆ บุคคลก็รู้สึกว่าหัวตื้อ รู้สึกโหวง ๆ
  5. อารมณ์โกรธ โมโหง่าย – มีอาการโกรธง่าย ฉุนเฉียวกับเรื่องเล็กน้อย และไม่มีสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้
  6. อาการอ่อนเพลีย – มักรู้สึกอ่อนเพลียแม้ไม่ได้ออกแรง โดยการพักผ่อนไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน
  7. ด้านพฤติกรรม – บุคคลจะแสดงออกพฤติกรรมทั้งทางคำพูดและท่าทาง เช่น หน้านิ่ว คิ้วขมวด กระสับกระส่าย กำมือแน่น พูดเร็ว พูดเรื่องซ้ำเดิม ใจลอย เคลื่อนไหวโดยไม่มีจุดหมาย พฤติกรรมถดถอย และหลีกเลี่ยงบุคคลหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความกังวล

 

 

ระดับความวิตกกังวลของบุคคล


 

มี 4 ระดับ ดังนี้

  1. ระดับต่ำ Mild anxiety – ระดับนี้พบได้ทั่วไป เช่น การตึงเครียดจากการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นระดับที่ทำให้บุคคลเกิดความตื่นตัว กระตือรือร้นที่จะเอาชนะปัญหา มีการรับรู้ที่ว่องไว ความจำดี สมาธิดี อารมณ์และการกระทำไม่เปลี่ยนจากปกติมากนัก รวมถึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระเนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้น เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ม่านตาขยาย ฝ่ามือมีเหงื่อออก การเคลื่อนไหวเร็วขึ้น บุคคลที่มีความวิตกกังวลระดับต่ำนี้ยังสามารถควบคุมตนเองได้ โดยอาจต้องการความช่วยเหลือบ้าง เช่น ต้องการข้อมูลเพิ่ม ต้องกาความสะดวก ต้องการให้ผู้อื่นรับรู้และเข้าใจ
  2. ระดับปานกลาง Moderate anxiety – ระดับนี้มีผลทำให้ประสาทสัมผัสและการรับรู้แคบลง ความสนใจน้อยลง ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง อาจมีอาการทางสรีระ เช่น หายใจเข้าออกแรง รู้สึกปั่นป่วนในกระเพาะอาหาร ปวดศีรษะ บุคคลที่มีความวิตกกังวลระดับปานกลางนี้ยังสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองได้
  3. ระดับรุนแรง (Severe anxiety) – ระดับนี้มีผลทำให้ประสาทสัมผัสและการรับรู้แคบลง ทำให้หมกมุ่นในรายละเอียดมากจนเกินไป ไม่สามารถจับสาระสำคัญของเรื่องใดได้ ความสามารถในการแก้ไขปัญหาลดลงและทำงานได้ไม่เต็มสมรรถภาพ เกิดความสับสน มีพฤติกรรมที่แสดงออกเพื่อปกป้องตนเองมากขึ้น และมักเป็นพฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่สังเกตเห็นได้ เช่น กระวนกระวาย หงุดหงิด โมโหง่าย เรียกร้องเกินกว่าเหตุ ต่อต้าน ตื่นกลัว ตัวสั่น เกร็ง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ท้องเดิน หรือท้องผูก นอนไม่หลับ บุคคลที่มีความวิตกกังวลระดับรุนแรงนี้ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น
  4. ระดับรุนแรงมาก (Panic anxiety) – ระดับนี้มีผลทำให้บุคคลเกิดความกลัวอย่างรุนแรงมาก หรือเป็นความกลัวสุดขีด ทำให้บุคคลขาดการควบคุมตนเอง และแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่มีในสภาวะปกติ เช่น กรีดร้อง วิ่งหนีไปอย่างไรจุดหมาย หรือตกตะลึงแน่นิ่งหมดสติทันทีทันใด บุคคลที่มีความวิตกกังวลระดับรุนแรงมากนี้จะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและไม่สามารถทำภารกิจเหมือนปกติได้

 

 

โรควิตกกังวล


 

คู่มือเกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช DSM-5 ระบุถึงโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ซึ่งมีลักษณะและระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ได้แก่

  1. โรคการกลัวอยู่ในที่ชุมชน (Agoraphobia)
  2. โรคการกลัวเฉพาะเจาะจง (Specific Phobia)
  3. โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia)
  4. โรคกลัวการพูดเฉพาะสถานการณ์ (Selective Mutism)
  5. โรควิตกกังวลอย่างรุนแรง (Panic Disorder)
  6. โรควิตกกังวลจากการพลัดพราก (Separate Anxiety Disorder)
  7. โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder)

 

 


 

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการล้อเลียนกับความซึมเศร้าและความวิตกกังวลในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้น โดยมีคุณภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทและการยอมรับจากเพื่อนในชั้นเรียนเป็นตัวแปรส่งผ่าน และมีความสามารถในการฟื้นพลังเป็นตัวแปรกำกับ” โดย ณัฐพล ชัยกิตติพรเลิศ (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/59835

 

“ผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยารายบุคคลตามแนวการบำบัดที่เน้นการยอมรับและความมุ่งมั่นแบบสั้นต่อความวิตกกังวลของผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรัง” โดย สืบพงศ์ ฉัตรธัมมลักษณ์ (2558) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/50258

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/pikisuperstar

 

 

Share this content