วันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2563
โดย แขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์
ดำเนินรายการโดย
คุณรัตนกร รัตนชีวร
-
Cognitive impact of COVID-19
อ.ดร. พจ ธรรมพีร ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cognitive impact กล่าวว่า Cognitive load คือกระบวนการความคิด เปรียบกับคอมพิวเตอร์ที่ประกอบด้วย Processor, Ram, Storage ดังนั้น สมองของเราก็เหมือนกับ RAM ถ้าเราใช้งานหลาย ๆ ฟังก์ชั่นพร้อมกัน ก็อาจทำให้การทำงานของคอมพิวเตอร์นั้นช้า เช่นกันว่า ถ้าเราทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน สมองของเราก็จะเกิด Cognitive load ดังนั้น เราควรมีเวลาให้สมองพักผ่อน ผลเสียของการเกิด cognitive load คือ อาจมีอาการปวดศีรษะ ตึง รวมไปถึงอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น วิธีแก้ไขก็อาจจะพักผ่อน 10-15 นาที ระหว่างการทำงาน
สำหรับสถานการณ์ COVID-19 ที่หลาย ๆ บริษัทมีนโยบายให้ work from home เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา บางคนอาจเคยชินกับการทำงานที่โต๊ะทำงาน คุยกับเพื่อนร่วมงานอย่าง face to face แต่เมื่อต้องปรับตัวมาทำงานที่บ้าน หรือในห้องนอน ที่เมื่อก่อนใช้สำหรับการนอนพักผ่อนเพียงอย่างเดียว การคุยกับเพื่อร่วมงานหรือประชุมกับหัวหน้า ก็ต้องใช้ระบบ Video Conference ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ เครียด วิตกกังวล ทำให้ Cognitive load เพิ่มขึ้น นำไปสู่การ burn out ได้ด้วย
วิธีหนึ่งที่เราควรทำเพื่อกำจัดความเครียด ความเบื่อหน่ายนี้ คือ การนำสิ่งที่ต้องทำที่มันวนเวียนอยู่ในหัว ออกมาจัดหมวดหมู่ และลำดับความสำคัญ จะทำให้เราหาแนวทางที่จะจัดการสิ่งเหล่านี้ว่า เราควรทำสิ่งใด ก่อนหรือหลัง ไม่ให้มันล้นเกินกว่าที่จะรับมือได้
-
จิตวิทยากับการรับมือกับภัยพิบัติและโรคระบาด
อ.ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์ ผู้มีประสบการณ์เคยไปศึกษาอยู่ที่ญี่ปุ่นทำให้รับรู้ เข้าใจ และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของญี่ปุ่นอย่างหนึ่งก็คือ การรับมือกับปรากฏการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่มักเกิดที่ญี่ปุ่นมากที่สุด โดยประเทศญี่ปุ่นจะมีการเตรียมการ เช่น การซ้อมหนีภัยแผ่นดินไหวเพื่อให้รู้สึกว่า ประชาชนพร้อมและสามารถอยู่กับมันได้อย่างไม่ต้องหวาดกลัวจนเกินไป
“ความรู้สึกปลอดภัย” เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อยู่แล้ว แต่เมื่อต้องประสบกับปัญหาที่ควบคุมไม่ได้อย่างภัยพิบัติทางธรรมชาติ เมื่อนำมาประยุกต์กับการประสบกับโรคระบาด COVID-19 สิ่งที่เราเห็นคือ ไม่ใช่ผู้ประสบภัยจะต้องเป็นฝ่ายรอการช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขากลับออกมาช่วยกันให้ผ่านปัญหาไปด้วยกัน
ส่วนเรื่อง “การช่วยเหลือ” ถ้าพูดถึงคนที่ไม่ประสบภัย หรือประสบภัยมากกว่า มันจะนำมาสู่การช่วยเหลือกัน การช่วยเหลือและการรับการช่วยเหลือ ค่อนข้างเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในการศึกษาของนักวิจัย ซึ่งพบว่า ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือมากเกินไป ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นผู้ประสบภัยมาก หรือแม้กระทั่งความรู้สึกว่าตนทำอะไรไม่ได้ ช่วยเหลือผู้อื่นไม่ได้ จึงเกิดพฤติกรรม “การให้” มากขึ้น เพราะจะช่วยเยียวยาจิตใจของตนเองว่า ได้ให้ ได้ช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งก็อยากให้ทุกท่านหันมาสนใจทั้งร่างกายและจิตใจตัวเองด้วย ไม่ให้ burn out จนเกินไป
-
Telemedicine
อ.ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย “การปรับตัว” ในแง่ของการคิด การจัดการอารมณ์ และพฤติกรรมต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งปกติแล้วโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าสถานการณ์ COVID-19 เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและค่อนข้างรุนแรง เกิดเป็น “ความท้าทาย” ในการดำรงชีวิต หลาย ๆ สิ่ง ต้องเข้าสู่กระบวนการออนไลน์ ทั้งการประชุม การทำงาน และการศึกษา รวมถึงการแพทย์ด้วย เราจะมารู้จักคำว่า “Telemedicine” หรือ “การแพทย์ทางไกล” คือ การรักษา การให้คำปรึกษา การวินิจฉัย ผ่านระบบออนไลน์ โดยที่บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย ไม่จำเป็นต้องมาพบหน้ากันที่โรงพยาบาล เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อไวรัส ซึ่งจะใช้ได้ในขั้นตอน ติดตามอาการ ติดตามผลการรักษา มักใช้กับการรักษาทางกายภาพ เช่น การฝึกเดิน ฝึกการทรงตัว โดยใช้นวัตกรรมของอุปกรณ์การรักษา เช่น พื้นรองเท้าที่มีเซ็นเซอร์ที่สามารถบอกความสมดุล จุดศูนย์ถ่วงในการเดิน ระยะก้าว เป็นต้น
มาถึงตรงนี้ท่านอาจสงสัยว่า แล้วนักจิตวิทยามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร คำตอบก็คือ ในการที่ผู้ป่วยต้อง “ปรับตัว” มาใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ แทนการรักษาแบบเดิม ทำให้บุคคลนั้น ๆ มี “ความรู้สึก” อย่างไร ความง่ายในการใช้ วัยที่ใช้อยู่ในวัยใด ก็ต้องวิเคราะห์หน้าจอของเครื่องมือรักษาว่ามีความเหมาะสมกับวัยหรือไม่ ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในการใช้เพียงใดและทำให้เขามี “สุขภาวะ” ที่ดีที่ควรจะเป็นหรือไม่ นักจิตวิทยาจะเข้ามาเก็บข้อมูลและช่วยในการรักษาในส่วนนี้
-
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคมในมุมมองทางจิตวิทยา
รศ. ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ นับวันศาสตร์ทางจิตวิทยาจะมีความสำคัญมากขึ้น และสามารถประยุกต์เข้ากับศาสตร์อื่น ๆ ได้หลายศาสตร์ ระบบที่ประกอบด้วยคนและสิ่งแวดล้อม เมื่อสิ่งแวดล้อมเอื้อให้กับคน คนก็ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกันในระบบได้ด้วยเช่นกัน ทำอย่างไรการใช้ชีวิตจะตอบโจทย์ของตัวมันเอง ยกตัวอย่าง เช่น ปัญหาความอ้วน เป็นปัญหาระดับประเทศและระดับโลก ถ้ามองในระบบที่ประกอบด้วยคนและสิ่งแวดล้อม ก็จะประกอบด้วยกิจกรรมที่ควรทำ อาหารที่ควรกินคืออะไร ต้องกินช่วงไหน พฤติกรรมการออกกำลังกาย อีกอย่างหนึ่งคือ การกำหนด “norm”เพราะ norm ในแต่ละสังคมมีผลอย่างมากต่อความคิดและพฤติกรรมของคนที่จะคล้อยตาม การที่คนหนึ่งจะเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง ควรที่จะแก้ที่ตัวเอง สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ ไปจนถึงประเทศที่เราอยู่
เมื่อเรามองในคนหลาย ๆ วัย จะมีพฤติกรรมต่างกันเราจึงต้องมีคำถามว่า อะไรที่ลูกหลานจะทำให้ปู่ย่า ตายายชื่นใจ เช่น การบอกรัก การมาเยี่ยมเยียน มันคือความผูกพันกัน นักจิตวิทยาก็จะเก็บข้อมูลนี้มาทำเป็นสื่อออกไปว่า คนในชุมชนรู้หรือไม่ว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดี และยืนยาว จิตวิทยาประยุกต์ได้มีโครงการร่วมมือกับ กทม. และชุมชน ซึ่งกำลังจะดำเนินการ ยกตัวอย่าง จิตวิทยากับสุขภาวะคนอยู่คอนโดหรืออาคารสูง ประกอบด้วยปัจจัยพื้นที่ที่จำกัด การที่เคยอยู่บ้านแบบมีพื้นที่กว้าง สนามในบ้าน กับการเปลี่ยนมาอยู่บนห้องที่มีแต่ระเบียง การจัดภูมิทัศน์โดยรอบ ส่งผลต่อ well-being ของคนอย่างไร
แม้ว่าศาสตร์ทางจิตวิทยาจะดูเป็นน้องใหม่ในประเทศไทย แต่ก็เข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกระดับ ตั้งแต่นโยบาย สังคม ชุมชน ครอบครัว จนกระทั่งบุคคล สามารถประยุกต์กับศาสตร์อื่น ๆ เกิดเป็นหลายทฤษฎีที่สามารถเข้าไปตอบโจทย์ชีวิตของคนได้มาก
ก่อนและเมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 สังคมต้องการองค์ความรู้ที่ต่างออกไปของการดำรงชีวิตของคน ยกตัวอย่าง การที่เราต้องปรับตัวมาอยู่อาคารสูงหรือคอนโด จากที่เคยอยู่บ้าน มันอาจจะทำให้สุขภาวะของคนเราลดลง เราจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร กับคนที่สามารถมีความสุขกับการอยู่ในห้องขนาดพื้นที่เท่ากัน แต่มี flexibility ในการจัดสัดส่วนของห้องต่าง ๆ ทำให้สร้างความสุขได้มากขึ้น เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปรับตัว โดยการให้ลูกค้ามีส่วนในการออกแบบห้องในแบบที่ตัวลูกค้าชอบ เป็นการช่วยตอบโจทย์ในเรื่อง “better life”
วิทยากร
- รศ. ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์
- อ. ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย
- อ. ดร.พจ ธรรมพีร
- อ. ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์