“ขอบคุณ” ที่ทำให้มีความสุข

13 Aug 2024

รศ. ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล

 

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า มนุษย์เราทุกคนต้องการมีชิวิตที่มีความสุข หากเมื่อใดประสบกับเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ เราก็อยากให้ความรู้สึกทุกข์ใจนั้นผ่านพ้นไปโดยเร็ว

 

จิตวิทยาเชิงบวก หรือ Positive psychology เป็นศาสตร์ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาคนให้มีคุณลักษณะต่าง ๆ ที่จะทำให้บุคคลมีความสุข
Robert Emmons นักจิตวิทยาทางบวกท่านหนึ่งที่สนใจศึกษาการแสดงความรู้สึกขอบคุณ หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Gratitude ส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจของบุคคล การแสดงความรู้สึกขอบคุณจะช่วยสร้างอารมณ์ความรู้สึกทางบวก (Emmons & McCullough, 2003; Seligman, Steen, Park, & Peterson, 2005) ทำให้บุคคลมีความพึงพอใจในสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ส่งผลให้มีสุขภาพจิตดี เมื่อมีอารมณ์ดี ก็สามารถส่งพลังบวกให้กับบุคคลอื่น ๆ ได้ นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่อยู่รอบข้างได้ดี ส่งผลให้บุคคลมีความสุข คนที่มีความสุขมักจะมีอายุที่ยืนยาวด้วย

 

Robert Emmons (2008) กล่าวว่า พลังบวกของการแสดงความขอบคุณ หรือ ARC of gratitude มีรายละเอียดดังนี้

 

A (Amplifies) การแสดงความรู้สึกขอบคุณ เป็นการขยายมุมมองของการมองสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต เมื่อบุคคลมองสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตผ่านแว่นตาการรู้สึกขอบคุณจะทำให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ในทิศทางบวกมากขึ้น สว่างมากขึ้น มีชีวิตชีวามากขึ้น

 

R (Rescues) ความรู้สึกขอบคุณ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ (Mental immunity) เมื่อเราประสบกับเหตุการณ์ร้าย หรือ เหตุการณ์เครียด หากเรารู้สึกขอบคุณเหตุการณ์ร้าย ๆ นั้น ทำให้เรามองเห็นสิ่งดี ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ร้ายนั้นได้ แม้เพียงเป็นสิ่งเล็ก ๆ ความรู้สึกขอบคุณที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ๆ สามารถเยียวยาจิตใจให้เรารู้สึกทุกข์น้อยลงได้

 

C (Connect) ความรู้สึกขอบคุณเป็นการคอยย้ำเตือนว่าเราไม่โดดเดี่ยว มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อยู่กันเป็นกลุ่ม การแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อกันเป็นแก่นสำคัญในการเชื่อมโยงให้สมาชิกแต่ละคนยังเกาะกลุ่มและยังคงเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่ม การแสดงความขอบคุณผู้อื่นสำหรับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้อื่นทำให้เรานั้น ยังเป็นการช่วยให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองนั้นก็มีคุณค่าได้เช่นกัน การกล่าวคำขอบคุณหรือการแสดงออกให้อีกฝ่ายได้รับรู้ว่า เรารู้สึกขอบคุณ รู้สึกซาบซึ้งกับสิ่งที่สมาชิกในกลุ่มทำให้เรา เท่ากับเป็นการส่งความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อกัน พลังทางบวกนี้ทำให้สมาชิกกลุ่มมีความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น

 

 

Emmons (2013) เสนอเทคนิควิธีการที่ช่วยทำให้บุคคลมีความสุขได้ง่ายขึ้นด้วยวิธีการดังนี้คือ การเขียนบันทึกขอบคุณ (Gratitude journal) เป็นการจดบันทึกขอบคุณสิ่งต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นบุคคล เหตุการณ์ หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน วันละสัก 5 สิ่ง เช่น ขอบคุณต้นไม้สีเขียว ที่ทำให้ฉันมีอากาศบริสุทธ์หายใจ หรือ ขอบคุณเพื่อนโทรมาตอนเช้า ทำให้ตื่นมาเรียนทัน

 

การเขียนบันทึกทุกวัน พร้อมเหตุผลดี ๆ ที่สิ่งนั้นเกิดขึ้น ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันความทุกข์ เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ดีเข้ามาในชีวิต หรือประสบกับความยากลำบากแค่ไหน เราก็ยังมีสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกขอบคุณได้เสมอ ความรู้สึกขอบคุณจะทำให้เราเปลี่ยนมุมมอง จากการมองเหตุการณ์ในแง่ลบเป็นบวกได้

 

การหาช่วงเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวัน เช่น ก่อนนอน หรือ ช่วงพักกลางวัน ทบทวนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่คุณรู้สึกขอบคุณมากที่สุด คุณอาจจะพบว่าคุณมีเรื่องที่อยากบันทึกมากกว่า 5 อย่างก็ได้

 

มนุษย์มีแนวโน้มมองสิ่งรอบตัวทางลบโดยอัตโนมัติ อาจเป็นเรื่องของสัญชาติญาณของความอยู่รอด ดังนั้นการเปลี่ยนตัวเองจากมุมมองที่เคยชินมาเป็นการมองสิ่งต่างๆ ทางบวก เช่น ความรู้สึกขอบคุณเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว จึงต้องมีการฝึกฝนบ่อย ๆ จนเป็นนิสัย ข้อดีของลงมือการเขียนบันทึกลงในกระดาษ หรือ โทรศัพท์คือ เราสามารถย้อนกลับไปอ่านบันทึกขอบคุณได้เสมอ เมื่อใดก็ตามที่เราเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก การกลับไปอ่านสิ่งที่คุณเคยเขียน “ขอบคุณ” ความสุขก็จะเกิดได้ง่ายขึ้น

 

 

ลองฝึกเขียนบันทึกขอบคุณทุกวันนะคะ “ขอบคุณ” ค่ะ

 

 

รายการอ้างอิง

 

Emmons, R. A., & McCullough, M. E. (2003). Counting blessings versus burdens: an experimental investigation of gratitude and subjective well-being in daily life. Journal of personality and social psychology, 84(2), 377.

 

Emmons, R. A. (2008). Thanks!: How practicing gratitude can make you happier. Houghton Mifflin Company.

 

Seligman, M. E., Steen, T. A., Park, N., & Peterson, C. (2005). Positive psychology progress: empirical validation of interventions. American psychologist, 60(5), 410.

 

Emmons, R. A. (2013). Gratitude works!: A 21-day program for creating emotional prosperity. John Wiley & Sons.

 

 


 

 

บทความโดย

รศ. ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

Share this content