การโทษเหยื่อในกรณีล่วงละเมิดทางเพศ

05 Jan 2022

คุณรวิตา ระย้านิล

บ่อยครั้งที่มีกรณีล่วงละเมิดทางเพศ ตั้งแต่การคุกคามด้วยสายตา วาจา ไปจนถึงเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นการข่มขืนและฆาตกรรม เราจะพบข้อคิดเห็นในลักษณะที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับเหยื่อ ว่าผู้ถูกกระทำมีลักษณาการเช่นไร หรือมีการปฏิบัติตนเช่นไรก่อนและระหว่างการถูกล่วงละเมิด

 

“เหยื่อแต่งตัวโป๊”

“เหยื่อเป็นเด็กเอนฯ”

“เหยื่อเดินคนเดียวในซอยเปลี่ยว”

“เหยื่อไม่ร้องขอความช่วยเหลือ ไม่ดิ้นรนขัดขืน”

“เหยื่อสมยอมตามผู้กระทำไปที่ห้องเอง”

 

ข้อความที่มุ่งไปที่เหยื่อเหล่านี้ นอกจากถูกใช้เป็นข้อแก้ต่างของตัวผู้กระทำผิดเองแล้ว ยังเป็นข้อคิดเห็นจากบุคคลทั่วไปที่ได้รับทราบข่าวสารอีกด้วย แม้ในเหตุการณ์ที่มีความร้ายแรงมาก คือเหยื่อได้รับผลกระทบทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงหรือเสียชีวิต การโทษเหยื่อก็ยังคงปรากฏอยู่ มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ไม่เคยหายไป บางครั้งก็สุดโต่งแม้กระทั่งว่า เมื่อได้รับข้อมูลแล้วว่าเหยื่อเป็นเหยื่อในอุดมคติ (ideal victim) หรือมีลักษณะที่อยู่ภายในกรอบที่สังคมกำหนดทุกประการ เช่น แต่งตัวมิดชิด ไม่ดื่มเหล้า ไม่พาตนไปอยู่ในสถานที่และสถานการณ์เสี่ยง เป็นผู้เยาว์หรือเป็นผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเผชิญปัญหาภายหลังเกิดเหตุของเหยื่อ ว่าเหยื่อแจ้งความหรือไม่ บอกผู้ปกครองหรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือไม่ ปล่อยให้เกิดเหตุซ้ำหรือไม่ และเมื่อกล่าวโทษสิ่งใดไม่ได้ ก็โทษไปยังเคราะห์กรรมในอดีตของเหยื่อ

 

 

การโทษเหยื่อ (victim blaming)

คือ การที่ผู้ถูกกระทำถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุหรือมีส่วนให้การกระทำผิดหรือภัยอันตรายเกิดขึ้นแก่ตน การกล่าวโทษเหยื่อนั้น นอกจากเป็นการซ้ำเติมผู้ถูกกระทำให้ได้รับความเจ็บปวด และทำให้เหยื่อหลายรายไม่กล้าที่จะเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ตนแล้ว ยังเป็นการลดทอนความร้ายแรงของการกระทำผิดและเพิ่มความชอบธรรมให้แก่ผู้ที่กระทำผิดอีกด้วย อันเป็นการส่งผลเสียต่อทั้งตัวบุคคลผู้เสียหายและต่อสังคมโดยรวม ที่จะไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเหยื่อ และกระทบต่อความโน้มเอียงในการตัดสินเชิงจริยธรรมของคนในสังคม

 

การโทษเหยื่อเกิดขึ้นได้อย่างไร

การศึกษาทางจิตวิทยาพบว่า การโยนความผิดไปยังผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือผู้ประสบเหตุร้ายประเภทต่าง ๆ มีส่วนสัมพันธ์กับความเชื่อที่ว่า “โลกนี้มีความยุติธรรม” (Belief in a just world) บุคคลที่มีความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรม จะเชื่อว่าโลกนี้มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่า ผู้ทำดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำไม่ดีย่อมได้รับผลที่ไม่ดี เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นกับใคร สิ่งนั้นย่อมคู่ควรแก่คนนั้น ความเชื่อนี้เป็นแรงจูงใจพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องการเห็นความยุติธรรม คนส่วนใหญ่ก็มีความเชื่อนี้ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตและการหล่อหลอมทางสังคม ตลอดจนความเชื่อทางศาสนา และนอกเหนือจากปัจจัยทางสังคมแล้ว ความเชื่อนี้ยังเกิดจากกลไกการทำงานของจิตใจที่พัฒนามาตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเด็กเล็กจะยึดหลักความพึงพอใจของตน ต้องการได้รับการตอบสนองทันทีในสิ่งที่อยากได้อยากทำ แต่เมื่อโตขึ้น เด็กเรียนรู้ว่าการได้รับการตอบสนองในทันทีเป็นเรื่องยาก จึงเริ่มมีพันธะส่วนบุคคลในการละทิ้งความพึงพอใจในปัจจุบัน และอดทนรอเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่าและคู่ควรในวันข้างหน้า การรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เพียรพยายาม อุตสาหะ และการจัดการสิ่งแวดล้อมของตน พันธะส่วนบุคคลเหล่านี้จะถูกต้องเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อบุคคลรู้สึกว่าตนอยู่ในโลกที่มีความยุติธรรม เป็นโลกที่ทุกสิ่งที่ตนทำได้ผลลัพธ์ที่คู่ควรกันเสมอ (อย่างไรก็ดี เมื่อบุคคลเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีพัฒนาการทางการรู้คิด มีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้นและเห็นโลกมากขึ้น ความเชื่อว่าโลกยุติธรรมจะลดลงหรือมีการเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยยึดติดในผลกรรม หรือมองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องชี้พฤติกรรมก่อนหน้าว่าถูกหรือผิด จะคำนึงถึงความยุติธรรมที่แท้จริงมากขึ้น มีแนวคิดที่ยืดหยุ่นมากขึ้น)

 

นักจิตวิทยาเสนอว่าความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมเป็นความลำเอียงทางปัญญา (cognitive bias) ซึ่งเป็นกลไกให้มนุษย์รับมือกับความเครียด เพราะในชีวิตประจำวันที่เราเผชิญเต็มไปด้วยความไม่ยุติธรรม กดขี่ กีดกัน ไม่เท่าเทียม คนทำดีไม่ได้ดี คนทำชั่วไม่ได้ชั่ว สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุกคามให้เกิดความคับข้องใจ การรักษาความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมเอาไว้เป็นการรักษาความรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างยังมั่นคง มีระบบระเบียบและสามารถควบคุมได้ 

 

แม้ความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมเป็นเครื่องมือที่คนใช้เป็นเกราะป้องกันทางจิตใจ ช่วยให้บุคคลครุ่นคิดต่อเหตุการณ์ด้านลบน้อยกว่า ยอมรับต่อเหตุการณ์ไม่ยุติธรรมที่เกิดกับตนได้มากกว่า มองโลกในแง่ดีมากกว่า เชื่อในอำนาจควบคุมภายในตนเองมากกว่า แต่เหรียญด้านที่สองของความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมคือการดูหมิ่นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ อคติ และการกีดกันสถานภาพ เมื่อบุคคลพบกับเหตุการณ์ที่ผู้ถูกกระทำตกเป็นเหยื่อของความไม่ยุติธรรมหรือความไม่สมเหตุสมผล ผู้ที่มีความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมจะกล่าวหาว่าผู้ประสบเคราะห์ร้ายนั้นได้กระทำสิ่งที่ไม่ดีมาก่อนจึงได้รับผลเช่นนี้ เป็นความคิดที่กู้ความรู้สึกว่าทุกสิ่งยังยุติธรรมดีอยู่ ยิ่งในกรณีที่บุคคลรู้สึกหมดหนทางที่จะนำความยุติธรรมกลับคืนมาหรือชดเชยใด ๆ ให้แก่เหยื่อได้ การดูหมิ่นและโยนความผิดให้เหยื่อยิ่งจะเกิดได้มากขึ้น 

 

นอกจากปัจจัยเรื่องความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมซึ่งเป็นสาเหตุของการโทษเหยื่อ (victim blaming) โดยทั่วไปแล้ว ในเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ อีกปัจจัยที่กล่าวข้ามไปไม่ได้คือเรื่องการมีอคติทางเพศ หรือการเหยียดเพศ (sexism)

ความเชื่อของคนในสังคมที่มองว่าเพศชายและเพศหญิงมีความแตกต่างกัน เพศชายมีความแข็งแกร่งทางสรีระมากกว่า ได้รับบทบาททางเพศให้เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองสังคม ส่วนเพศหญิงที่อ่อนแอกว่า ได้รับบทบาททางเพศให้เป็นผู้ดูแลความสัมพันธ์และบุคคลในครอบครัว ความเชื่อในบทบาททางเพศ (gender role) จากการแบ่งแยกเพศ (gender differentiation) เช่นนี้ นอกจากกำหนดบทบาทหน้าที่และพฤติกรรมของชายและหญิงแล้ว ยังส่งผลต่อการเหมารวมด้านบุคลิกลักษณะ และความสามารถอีกด้วย กล่าวคือ สังคมมีภาพเหมารวมว่าผู้ชายต้องมีความเป็นผู้นำ เข็มแข็ง กล้าตัดสินใจ มีพลังอำนาจ เป็นอิสระ (masculine) เก่งคำนวณและทิศทาง และมีภาพเหมารวมว่าผู้หญิงต้องมีความอ่อนหวาน นุ่มนวล ขี้อาย เป็นผู้ตาม (feminine) เก่งภาษาและงานที่มีความละเอียดอ่อน ผลที่ตามมาจากการคติความเชื่อเช่นนี้คือ บุคคลที่มีลักษณะสอดคล้องกับค่านิยมทางเพศดังกล่าวจะได้รับการยกย่อง ชมชอบ ส่วนบุคคลที่มีลักษณะไม่สอดคล้องจะได้รับการตำหนิ รังเกียจเดียดฉันท์ โดยนักจิตวิทยาเรียกเจตคติต่อผู้หญิงในลักษณะแบ่งแยกเป็นกลุ่มดี-กลุ่มเลว ตามความสอดคล้อง-ขัดแย้งกับค่านิยมทางเพศเช่นนี้ว่า การเหยียดเพศแบบแยกขั้ว (ambivalent sexism)

 

การเหยียดเพศแบบแยกขั้ว ประกอบด้วย 

  1. การเหยียดเพศแบบปฏิปักษ์ (hostile sexism) และ 
  2. การเหยียดเพศแบบให้คุณ (benevolent) 

 

การเหยียดเพศแบบปฏิปักษ์ คือความรู้สึกเกลียดชัง เป็นศัตรู และเหยียดหยาม ต่อผู้หญิงที่มีบทบาทกับจารีตประเพณีหรือแสดงออกว่ามีอำนาจเหนือผู้ชาย เช่น ผู้หญิงที่มีลักษณะยั่วยวนก่อให้เกิดความปรารถนาทางเพศ ผู้หญิงที่มีความเป็นผู้นำสูง ขณะที่การเหยียดเพศแบบให้คุณนั้น คือความรู้สึกรักใคร่ นิยม ให้เกียรติ และปกป้องดูแล ต่อผู้หญิงที่มีบทบาทไปในทางเดียวกับจารีตประเพณี เช่น ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านแม่เรือน ผู้หญิงที่อ่อนน้อมโอนอ่อนต่อผู้ชาย

 

การเหยียดเพศแบบแยกขั้วเกิดขึ้นในหลาย ๆ สังคม แม้ในสังคมที่ให้คุณค่าเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ก็ยังมีระบบที่ส่งเสริมให้ผู้ชายมีสิทธิเหนือกว่าผู้หญิงแฝงอยู่ (เช่นในการจ้างงานและการให้สวัสดิการ) กลับมามองที่สังคมไทย การเหยียดเพศแบบแยกขั้วปรากฏอยู่อย่างชัดเจนในหลายมิติ คติของการแบ่งแยกผู้หญิงดีและผู้หญิงไม่ดีมีทั้งในการอบรมสั่งสอนจากครอบครัว การศึกษาในหลักสูตร ตลอดจนการนำเสนอข่าวและสื่อบันเทิง ดังเช่น การที่สังคมสอนให้ผู้หญิงต้องระมัดระวังตัวเองมากกว่าที่จะสอนให้ทุกคนไม่ไปละเมิดและทำร้ายผู้อื่น ดังนั้นในการโทษเหยื่อ เหยื่อที่ถูกโยนความผิดจึงมักเป็นเหยื่อที่มีลักษณะไม่ได้อยู่ในกรอบของการเป็นผู้หญิงที่ดี ทำให้การแต่งกาย อาชีพ บุคลิก การวางตัว กลายเป็นตัวแบ่งระหว่างเหยื่อที่ได้รับความเห็นใจและเหยื่อที่ถูกซ้ำเติมดูหมิ่น

การเลือกปฏิบัติจากอคติทางเพศในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดผลร้ายเฉพาะเหยื่อเพศหญิงเท่านั้น แม้การเหยียดเพศแบบแยกขั้วเป็นคอนเซปต์ที่เน้นไปยังเพศหญิง แต่ผู้ชายเองก็ได้รับผลกระทบจากการแบ่งแยกผู้ชายที่สอดคล้องกับภาพในความคิดและไม่สอดคล้องเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่า ผู้ชายถูกกดดันคาดหวังให้มีความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว เป็นผู้นำ ไม่แสดงความอ่อนแอ เมื่อตกเป็นผู้ถูกกระทำจึงมักถูกตั้งคำถามในเจตนา และความสามารถทางกายตลอดจนความสามารถทางปัญญา แทนที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจ ในกรณีที่เพศชายตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ บ่อยครั้งจะถูกมองเป็นเรื่องขำขัน ความร้ายแรงของเหตุการณ์จะถูกลดทอนลงไป ความกระทบกระเทือนทางร่างกายและจิตใจของเหยื่อเพศชายมักถูกมองข้าม มาตรการทั้งในเชิงป้องกันและดูแลช่วยเหลือเหยื่อเพศชายไม่ค่อยได้รับการพูดถึง เหยื่อผู้หญิงที่กล้าแจ้งความหรือเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ตนมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนเหยื่อทั้งหมด เหยื่อผู้ชายที่กล้าเปิดเผยเรื่องราวที่ตนเผชิญยิ่งมีน้อยกว่า มีหลายรายที่ต้องแบกรับความเจ็บปวดเพียงลำพังเพราะไม่กล้าเสี่ยงกับความอับอายและการถูกดูหมิ่น

 

เราจะลดการกล่าวโทษเหยื่อในกรณีล่วงละเมิดทางเพศได้อย่างไร

เมื่อเราได้ทราบแล้วถึงที่มาของการกล่าวโทษเหยื่อว่ามาจากวิธีคิดและคติความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่เป็นธรรม การลดการโทษเหยื่อจึงต้องช่วยกันสร้างการตระหนักรู้เท่าทันในวิธีการคิดของตน ช่วยกันเน้นย้ำว่าเหยื่อคือผู้ถูกกระทำ คือผู้ที่ได้รับความเจ็บปวด เป็นผู้ที่ต้องการการช่วยเหลือ การปกป้องจากอันตรายและการซ้ำเติมอื่น ลักษณะของเหยื่อไม่ใช่เหตุผลของการถูกทำร้ายถูกล่วงละเมิด ความยุติธรรมของโลกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่เอง แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ในสังคมจะร่วมกันสร้างขึ้นมา เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นแล้ว ความยุติธรรมจะมีอยู่ได้เมื่อเหยื่อมีพื้นที่ปลอดภัยในการต่อสู้และได้ชีวิตปกติกลับคืนมา ส่วนผู้ที่ต้องเผชิญจากการตั้งคำถามจากสังคมคือผู้ที่กระทำผิด โดยเป็นการตั้งคำถามเพื่อหาทางแก้ไขไม่ให้ความผิดเดิมเกิดขึ้นซ้ำ และป้องกันไม่ให้กรณีเดียวกันเกิดขึ้นกับใครอีก

นอกจากการตระหนักรู้ของปัจเจกบุคคลในสังคมแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลต่อการชี้นำความคิดของคนในสังคม ต้องช่วยกันสร้างและดำเนินการอย่างเคร่งครัดในมาตรการ ข้อกฎหมาย และจรรยาบรรณ เกี่ยวกับการพิทักษ์เหยื่อ และส่งสารไปยังสังคมให้ตระหนักในความสำคัญของความเท่าเทียมและการไม่ใช้อคติในการตัดสินผู้ใด 

สังคมมนุษย์เป็นสังคมใหญ่ที่ประกอบด้วยความแตกต่างหลากหลาย การจัดกลุ่มทางสังคมเป็นเรื่องธรรมชาติของคนเรา หากแต่การประเมินคุณค่าของบุคคลด้วยภาพเหมารวมเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความเจ็บปวดให้แก่กันและกันได้ การเคารพในความแตกต่างจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแม้ว่ามนุษย์แต่ละคนจะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันเพียงใด แต่ความเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึก ต้องการความเข้าใจ ได้มีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย คือพื้นฐานร่วมกันของพวกเราทุกคน

 

 

รายการอ้างอิง

 

ไตรภพ จตุรพาณิชย์. (2557). อิทธิพลของความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมต่อการตัดสินด้านจริยธรรม [วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. Chulalongkorn University Intellectual Repository (CUIR). http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/45922

 

ธารวิมล ดิษฐรักษ์. (2558). อิทธิพลของการเหยียดเพศแบบแยกขั้วต่อการกระทำเพื่อกลุ่มโดยมีการรับรู้ความยุติธรรมระหว่างเพศและการรับรู้ข้อได้เปรียบของการเป็นผู้หญิงเป็นตัวแปรส่งผ่าน [วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. Chulalongkorn University Intellectual Repository (CUIR). http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/50744 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


 

Share this content