Attachment style – รูปแบบความผูกพัน

10 May 2019

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

รูปแบบความผูกพันเป็นความแตกต่างเชิงบุคลิกภาพ โดยคนเราจะมีลักษณะของการตอบสนองในสถานการณ์ที่เราปฏิสัมพันธ์ชิดใกล้กับบุคคลที่ผูกพันด้วยแตกต่างกัน

 

Ainsworth (1978) สังเกตว่า การที่ทารกสร้างความผูกพันกับผู้เลี้ยงดู และได้รับการตอบสนองจากผู้เลี้ยงดูในลักษณะแตกต่างกัน ทำให้พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความผูกพันของทารกมีรูปแบบแตกต่างกัน เมื่อทำการศึกษารูปแบบความผูกพันของทารกโดยการสร้างสถานการณ์ให้ทารกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้ยเคย และให้ผู้เลี้ยงดูแยกตัวออกไปจากนั้นจึงให้กลับมาในภายหลัง เพื่อดูว่าทารกมีพฤติกรรมอย่างไรในช่วงต่างๆ

 

ผลการทดลองพบว่า พฤติกรรมของทารกมีทั้งแบบที่แสดงถึงความมั่นคง (secure) คือ ทารกมีความวางใจผู้เลี้ยงดู กล้าสำรวจสิ่งต่างๆ ภายนอก ไม่สบายใจบ้างที่ผู้เลี้ยงดูจากไป และดีใจเมื่อผู้เลี้ยงดูกลับมา แต่ทารกบางคนแสดงรูปแบบความผูกพันแบบไม่มั่นคง (insecure) กล่าวคือ บ้างก็ต่อต้านต่อการจากไปของผู้เลี้ยงดูอย่างมาก และเมื่อผู้เลี้ยงดูกลับมาจะยึดหรือเกาะติดกับผู้เลี้ยงดูมากขึ้น (resistant) บ้างก็แสดงอาการเพิกเฉยต่อผู้เลี้ยงดู ไม่สนใจว่าผู้เลี้ยงดูจะอยู่หรือไม่ (avoidance) นอกจากนี้ยังพบว่าทารกบางคนมีรูปแบบที่ไม่แน่นอน (disorganize) คือมีการแสดงออกอย่างสับสน ทารกแสดงท่าทีว่าต้องการไปหาผู้เลี้ยงดูแต่ก็เปลี่ยนท่าทีและหันหลังกลับ

 

ทั้งนี้ Ainsworth ได้อธิบายว่า ทารกที่แสดงความผูกพันแบบมั่นคงจะเป็นเด็กที่ผู้ปกครองตอบสนองได้ตรงความต้องการ ขณะที่ทารกที่แสดงความผูกพันแบบไม่มั่นคง มักมีผู้ปกครองที่ไม่ตอบสนอง ไม่รู้ถึงความต้องการของทารก อาจเลี้ยงดูอย่างเพิกเฉย หรือแบบไม่คงเส้นคงวา

 

เรื่องรูปแบบความผูกพันของทารกและผู้เลี้ยงดูในวัยเด็กนั้น Bowlby (1973) ได้เสนอว่า การตอบสนองของผู้เลี้ยงดูต่อเด็กจะไปพัฒนาความคาดหวังของเด็กต่อบุคคลที่เด็กผูกพันด้วย ซึ่งความคาดหวังนั้นจะค่อยๆ พัฒนามาตลอดตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี และจะกลายเป็นความคาดหวังต่อบุคคลที่ผูกพันด้วยอย่างคงทนไปตลอดชีวิต

 

กล่าวคือ ความผูกพันระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดูนั้นมีผลกระทบไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ในความสัมพันธ์เชิงคู่รักนั่นเอง

 

งานวิจัยในระยะต่อมาได้สำรวจรูปแบบความผูกพันในวัยเด็กและลักษณะความสัมพันธ์เชิงคู่รักในปัจจุบัน พบว่า บุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแตกต่างกันมักมีความสัมพันธ์เชิงคู่รักที่แตกต่างกันด้วย โดยรูปแบบความผูกพันทั้งสองช่วงวัยของบุคคลมีลักษณะค่อนข้างสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นความพึงพอใจในความสัมพันธ์ ความใกล้ชิด ความไว้วางใจในความสัมพันธ์ การเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น รวมถึงความมั่นคงทางอารมณ์

นอกจากนี้ งานวิจัยแบบระยะยาวที่ตรวจสอบความคงทนของรูปแบบความผูกพันในวัยเด็ก พบว่า โมเดลการทำงานภายในตัวบุคคลอันมีพื้นฐานการรับรู้ประสบการณ์แล้วพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบในการรับรู้ผู้อื่นค่อนข้างมีความคงทน ถึงแม้ว่าความคงทนนั้นไม่ได้พบในระดับสูงหรือไร้การเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่รูปแบบความผูกพันของบุคคลจากวัยเด็กจะยังคงลักษณะเมื่อบุคคลเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ไม่มากก็น้อย

 

นักจิตวิทยาพยายามแบ่งประเภทรูปแบบความผูกพันในวัยผู้ใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง และในปี 1990 Bartholomew ได้พัฒนาโครงสร้างรูปแบบความผูกพันในผู้ใหญ่ที่แบ่งออกเป็นมิติ 2 ดังนี้

 

  • มิติความวิตกกังวล หมายถึง ความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองและความรู้สึกว่าตนเองคู่ควรแก่การยอมรับหรือปฏิเสธจากผู้อื่น มิตินี้จะสะท้อนว่าบุคคลมีความรู้สึกทางบวกหรือทางลบต่อตนเอง (model of self)
  • มิติหลีกเลี่ยง หมายถึง ระดับที่บุคคลจะเข้าถึงหรือหลีกเลี่ยงความใกล้ชิดและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มิตินี้สะท้อนความรู้สึกทางบวกหรือทางลบที่มีต่อผู้อื่น (model of others) มองว่าผู้อื่นน่าไว้ใจหรือไม่น่าไว้วางใจ อยู่เคียงข้าง ห่างเหิน เอาใจใส่หรือละทิ้ง

 

 

จากโมเดล 2 มิตินี้สามารถสร้างรูปแบบความผูกพันได้ 4 รูปแบบดังต่อไปนี้

 

  1. รูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง (Secure) เป็นรูปแบบที่มองตนเองและมองผู้อื่นในทางบวก บุคคลจะรู้สึกสบายใจเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เห็นคุณค่าในตนเองและให้ความสำคัญกับการเป็นตัวของตัวเอง เต็มใจพึ่งพาและรับการสนับสนุนจากผู้อื่น
  2. รูปแบบความผูกพันแบบหมกมุ่น (Preoccupied) เป็นรูปแบบที่มองตนเองทางลบ และมองผู้อื่นทางบวก บุคคลจะมีความรู้สึกลึกๆ ว่าตนเองไม่มีคุณค่า จึงต้องการที่จะยืนยันคุณค่าของตนเองด้วยการพยายามอย่างมากที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ขิดกับผู้อื่น และหากผู้อื่นไม่เข้าใกล้หรือใกล้ชิดเพียงพอ บุคคลจะมีความเศร้าและหดหูอย่างมาก
  3. รูปแบบความผูกพันแบบหมางเมิน (Dismissing) เป็นรูปแบบที่มองตนเองทางบวก และมองผู้อื่นทางลบ บุคคลจะปฏิเสธและหลีกเลี่ยงที่จะใกล้ชิดกับผู้อื่น เพราะคาดหวังเกี่ยวกับผู้อื่นในทางลบ จนคิดว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้บุคคลยังให้คุณค่ากับตนเองด้วยการปฏิเสธว่าบุคคลอื่นมีคุณค่ากับตนและให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระอย่างมาก
  4. รูปแบบความผูกพันแบบหวาดกลัว (Fearful) เป็นรูปแบบที่มองตนเองและผู้อื่นทางลบ บุคคลจะประเมินค่าของตนเองจากการตอบสนองและลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างตนและผู้อื่นว่าผู้อื่นทำดีกับตนหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันบุคคลกลับหวาดกลัวที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เพราะกลัวว่าจะได้รับความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์หรือการถูกเพิกเฉยไม่ใส่ใจจากผู้อื่นเนื่องจากมองผู้อื่นในแง่ลบ

 

ทฤษฎีรูปแบบความผูกพันได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายและถูกนำไปใช้เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมระหว่างบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะในความสัมพันธ์แบบคู่รัก อาทิ ระดับความพึงพอใจในความสัมพันธ์ ระดับการผูกมัด ความมั่นคงในความสัมพันธ์ ระดับความโรแมนติก ระยะห่างกับคู่รัก การสื่อสารกับคู่รัก การให้อภัยคู่รัก และระยะเวลาของความสัมพันธ์

โดยผู้มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงมีแนวโน้มจะมีสัมพันธภาพกับคู่ของตนเป็นไปในทางบวกมากกว่าบุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบอื่น ๆ

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ตรวจสอบวิธีรับมือกับความเครียดความไม่สบายใจของบุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบต่าง ๆ พบว่า บุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงจะประเมินปัญหาว่าเป็นสิ่งคุกคามน้อยกว่าและมองว่าตนเองรับมือได้มากกว่าบุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันรูปแบบอื่น และเมื่อเจอปัญหาที่หนักหนาก็จะมองหาการสนับสนุน อาจใช้กลยุทธ์ห่างเหินจากปัญหาเพื่อทำใจให้สงบและลดความตึงเครียด เมื่อรู้สึกดีขึ้นก็สามารถกลับมาเผชิญปัญหาใหม่ได้

 

ส่วนบุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบไม่มั่นคง โดยเฉพาะบุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบหมกมุ่น มักใช้กลยุทธ์ทางอารมณ์เป็นหลัก คือพยายามบรรเทาความตึงเครียดภายในจิตใจมากกว่าที่จะพยายามแก้ปัญหา

 

อย่างไรก็ดี งานวิจัยในระยะหลังพบว่า บุคคลที่มีการหลีกเลี่ยงในความผูกพันสูงมีความสามารถในการทำงานที่ต้องการใช้การแยกแยะความสนใจได้ดีกว่าบุคคลอื่น เช่น การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งความสามารถนี้เป็นเพราะบุคคลสามารถที่จะเมินเฉยหรือระงับการรับรู้สิ่งที่มารบกวนได้มากนั่นเอง

 

จะเห็นได้ว่า การที่ผู้เลี้ยงดูให้ความใกล้ชิด ไวต่อความรู้สึก และตอบสนองความต้องการของเด็ก เด็กจะมีฐานอันมั่นคง (secure base) สำหรับการเผชิญต่อโลกภายนอกเมื่อเติบใหญ่ รู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้พบเจอเรื่องไม่สบายใจ เรียกความมั่นใจกลับมาได้ใหม่ได้เมื่อตื่นกลัว ทั้งนี้เพราะบุคคลรับรู้ว่าตนเองมีคุณค่า เป็นที่รักที่ต้องการ และประเมินว่าผู้อื่นตอบสนองและไว้วางใจได้

 

ตรงกันข้ามหากเด็กไม่ได้รับความอบอุ่น ถูกปฏิเสธ ถูกทอดทิ้งจากผู้เลี้ยงดู ในที่สุดบุคคลจะประเมินว่าผู้อื่นไม่ตอบสนอง ไม่น่าไว้วางใจ หรือมองตนเองว่าไร้คุณค่าแก่การใส่ใจ ไม่เป็นที่รักที่ต้องการ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้มีอิทธิพลต่อโครงสร้างทางบุคลิกภาพ ทั้งกระบวนการทางปัญญา อารมณ์ และพฤติกรรม เกี่ยวกับการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด รวมถึงการตอบสนองต่อความต้องการทั้งภายในและภายนอกตลอดช่วงชีวิตของบุคคล

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของรูปแบบความผูกพันต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ โดยมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุและรูปแบบการอนุมานความรับผิดชอบเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย พงศ์มนัส บุศยประทีป (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/30151

 

“อิทธิพลของรูปแบบความผูกพันต่อลักษณะนิสัยการให้อภัย : ทวิโมเดลแข่งขันโดยมีตัวแปรการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นและการหมกมุ่น ครุ่นคิดเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย รวิตา ระย้านิล (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/30697

 

Share this content