ปรากฏการณ์ ผล และการอนุมานสาเหตุของการทำร้ายความรู้สึก
: งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ โดยผู้ร่วมการวิจัยคือบุคคลทั่วไปที่กำลังมีสัมพันธภาพแบบคู่รัก (คบกันมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน) และบุคคลที่กำลังมีสัมพันธภาพแบบคู่สมรส ที่มีอายุ 18-50 ปี จำนวน 1,200 คน เป็นเพศชาย 600 คน และเพศหญิง 600 คน
ดำเนินการวิจัยโดยการเหนี่ยวนำให้ผู้ร่วมการวิจัยนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำร้ายความรู้สึกระหว่างคู่รักในเรื่องต่าง ๆ เขียนอธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ จากนั้นจึงตอบมาตรวัด ดังนี้ มาตรวัดอารมณ์ มาตรวัดความรู้สึกเมื่อเกิดการทำร้ายความรู้สึก มาตรวัดการประเมินตนเอง มาตรวัดการอนุมานสาเหตุของการทำร้ายความรู้สึก มาตรวัดปฏิกิริยาเมื่อมีการทำร้ายความรู้สึก และมาตรวัดผลที่เกิดจากการทำร้ายความรู้สึก
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า
เหตุการณ์ทำร้ายความรู้สึกระหว่างคู่รักที่ผู้ร่วมการวิจัยรายงานถึงมากที่สุดคือ คู่รักโกหก รองลงมาคือ คู่รักพูดทำร้ายความรู้สึก ส่อเสียด หรือประชดประชัน คู่รักนอกใจ คู่รักไม่สนใจ และคู่รักไม่ตรงเวลา ตามลำดับ
ในด้านอารมณ์ความรู้สึก ผู้ร่วมการวิจัยรายงานว่าเหตุการณ์ทำร้ายความรู้สึกก่อให้เกิดอารมณ์ทางลบ (เป็นทุกข์ ขุ่นเคืองใจ เจ็บปวด รู้สึกผิด ฯลฯ) มากกว่าอารมณ์ทางบวก (สนใจ ตื่นตัว อยากทำอะไรสักอย่าง ฯลฯ) ก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด และรู้สึกว่าคู่รักไม่ชอบตนในระดับปานกลาง
ในด้านการประเมินตนเอง เหตุการณ์ทำร้ายความรู้สึกส่งผลให้ผู้ร่วมการวิจัยประเมินตนเองในทางลบในระดับปานกลาง และประเมินตนเองทางบวกในระดับต่ำ ทั้งนี้ยิ่งผู้ร่วมการวิจัยประเมินว่าตนเองเจ็บปวดมากก็ยิ่งประเมินตนเองในทางลบมาก
เมื่อให้พิจารณาถึงการอนุมานสาเหตุ พบว่าผู้ร่วมการวิจัยอนุมานสาเหตุว่าคู่รักทำร้ายความรู้สึกเพราะไม่ได้ตั้งใจสูงที่สุด รองลงมาคือ คู่รักไม่มีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของตน ผู้กระทำไม่เห็นความสำคัญของตน คู่รักมีเจตนาที่จะทำร้ายความรู้สึก คู่รักคิดว่าเป็นการช่วยตน คู่รักพยายามแก้แค้นตน และเพราะตนสมควรถูกทำร้ายความรู้สึก ตามลำดับ
ทั้งนี้ การอนุมานสาเหตุถึงเจตนาของคู่รักส่งผลถึงความรู้สึกทุกข์ใจด้วย คือหากอนุมานว่าคู่รักทำร้ายความรู้สึกโดยไม่ได้เจตนาความรู้สึกทุกข์ใจจะน้อยลง
สำหรับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อถูกทำร้ายความรู้สึก ผู้ร่วมการวิจัยรายงานว่า ร้องไห้คนเดียว มากที่สุด รองลงมาคือ โต้กลับแบบรุนแรงและไม่มีเหตุผล บอกกับคนอื่นว่าถูกทำร้ายความรู้สึก แสดงอารมณ์โกรธให้ผู้อื่นเห็น และร้องไห้ต่อหน้าผู้อื่น ตามลำดับ ทั้งนี้ ปฏิกิริยาทางลบจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอารมณ์ทางลบของแต่ละบุคคล
เรื่องผลที่ตามมาจากการทำร้ายความรู้สึก ผู้ร่วมการวิจัยประเมินว่าเหตุการณ์ทำร้ายความรู้สึกทำให้สัมพันธ์จืดจางลงแบบชั่วคราวมากกว่าแบบถาวร (ยกเว้นแต่ในกรณีที่อนุมานว่าคู่รักทำร้ายความรู้สึกของตนโดยเจตนา) และเมื่อเปรียบเที่ยบระหว่างก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์ พบว่า ภายหลังเหตุการณ์ทำร้ายความรู้สึก ผู้ร่วมการวิจัยไม่ได้ไว้วางใจคู่รักน้อยลง รวมถึงไม่ได้ชอบคู่รักน้อยลงด้วย (อาจเป็นเพราะผู้ร่วมการวิจัยประเมินว่าเหตุการณ์ทำร้ายความรู้สึกไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก หรืออาจเป็นเพราะวัฒนธรรมกรให้อภัยและการประนีประนอมกันของคนไทย)
อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมการวิจัยที่รู้สึกเจ็บปวดจากการถูกทำร้ายความรู้สึกมากจะรู้สึกนับถือตนเองและมั่นใจในตนเองลดลง
ข้อมูลจาก
“ปรากฏการณ์ ผล และการอนุมานสาเหตุของการทำร้ายความรู้สึก”
“Phenomenology, consequences, and attributions of hurt feelings”
วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2548)
โดย ร้อยเอกหญิงสุดาจันทร์ สุภาวกุล
ที่ปรึกษา ผศ. ดร.คัคนางค์ มณีศรี
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/6450