โครงการ “Smarter Life by Psychology รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying”

27 May 2024

โครงการ “Smarter Life by Psychology รู้จักเข้าใจ Cyberbullying”

 

สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อเท่าทัน ป้องกัน และรับมือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ในยุคสังคมดิจิทัลอย่างมีสุขภาวะที่ดี
โดย โครงการ “Smarter Life by Psychology รู้จักเข้าใจ Cyberbullying” Faculty of Psychology, Chulalongkorn University
ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

 

 

Research Summary


 

 

การศึกษาความชุกของพฤติกรรมการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) และผลกระทบทางจิตใจของเหยื่อในประเทศไทย

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2567)

เก็บข้อมูลระหว่าง มี.ค. – พ.ค. 2567 (จำนวน 445 คน)

 

 

 

 

มิติผู้กระทำ

 

พฤติกรรมกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ในมุมของผู้กระทำ ที่มีความชุกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
  1. การล้อเลียนหรือปะทะคารม
  2. การเฝ้าติดตามทางอินเทอร์เน็ต
  3. การเผยแพร่ส่งต่อเรื่องน่าอับอาย

 

ผลเช่นนี้สะท้อนว่า การใช้ถ้อยคำในเชิงล้อเลียนหรือการปะทะคารมในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการใช้ภาษาในทางลบนั้นอาจทำได้ง่ายในโลกออนไลน์ ด้วยสภาวะนิรนามของผู้ใช้งาน กล่าวคือ ความรู้สึกว่าไม่ต้องระบุตัวตนในขณะที่ใช้งาน ทำให้บุคคลอาจมีความกล้าที่จะแสดงพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงหรือมีความสุดโต่งมากกว่าการทำพฤติกรรมในสถานการณ์แบบเผชิญหน้า

 

พื้นที่ออนไลน์แบบสาธารณะหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ จึงอาจจำเป็นต้องตั้งข้อกำหนด หรือข้อบังคับเกี่ยวกับลักษณะถ้อยคำ หรือภาษาที่ใช้ เพื่อป้องปรามไม่ให้การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์เกิดขึ้น

 

เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยทางจิตวิทยาของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 185 คน ในการศึกษาเพิ่มเติม พบว่า
  • การละเลยคุณธรรม การเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำนั้นเป็นสิ่งที่บุคคลอื่น ๆ ก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ หรือพยายามหาข้ออ้างอื่น ๆ เพื่อให้เหตุผลว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
  • การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น การเข้าใจถึง ความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นในสถานการณ์ต่าง ๆ
ส่งผลต่อแนวโน้มการทำพฤติกรรมกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์

 

สองปัจจัยนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงตัวชี้วัดในเชิงคุณธรรมและจริยธรรมส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่า หากทิศทางของสังคมหรือกลุ่มคนจำนวนมากในสังคม ไม่ยอมรับในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ก็อาจทำให้บุคคลที่มีเจตนาจะกระทำพฤติกรรมไม่สามารถจะหยิบใช้ข้ออ้างดังกล่าวมาเป็นเหตุผลในการกระทำของตนเอง จนอาจลดหรือล้มเลิกความคิดที่จะแสดงพฤติกรรมได้

 

มิติผู้ถูกกระทำ

 

พฤติกรรมกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ในมุมของผู้ถูกกระทำ ที่มีความชุกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
  1. การได้รับภาพล่อแหลม
  2. การถูกล้อเลียนหรือปะทะคารม
  3. การถูกก่อกวนคุกคาม

 

ผลเช่นนี้สะท้อนว่า การที่บุคคลเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ทั้งรูปโปรไฟล์ และข้อมูลเชิงความสัมพันธ์ อาจทำให้บุคคลตกเป็นเป้าหมายได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ การที่บุคคลสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์และสามารถส่งภาพต่าง ๆ ไปยังบุคคลอื่นได้ง่าย อาจเป็นการเอื้อต่อผู้กระทำที่มีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมกลั่นแกล้งเหล่านี้สามารถทำพฤติกรรมได้ง่ายมากขึ้น

 

เมื่อตรวจสอบอิทธิพลเชิงสาเหตุของการถูกกลั่นแกล้งในโลกออกไลน์ ต่อภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความเครียด กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 300 คน ในการศึกษาเพิ่มเติม พบว่า การถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์มีอิทธิพลต่อสุขภาวะทางจิตทั้งสามประการ ผลวิจัยในส่วนนี้ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการดูแลใจจิตของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกออนไลน์

 

การพัฒนาแนวทางดูแลใจจิต ตลอดจนการส่งเสริมให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกออนไลน์มีการจัดการกับปัญหาทางจิตใจได้อย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ

 

มิติผู้พบเห็นเหตุการณ์

 

พฤติกรรมกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ในมุมผู้พบเห็นเหตุการณ์ ที่มีความชุกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
  1. การได้รับเรื่องตลกน่าอายของผู้อื่น
  2. การพบเห็นผู้ถูกก่อกวนคุกคาม
  3. การพบเห็นการเปิดเผยข้อมูลความลับของผู้อื่น

 

การที่ “การได้รับเรื่องที่น่าอับอายของผู้อื่น” เป็นพฤติกรรมการกลั่นแกล้งออนไลน์ที่บุคคลในฐานะผู้พบเห็นเหตุการณ์พบเจอมากที่สุด พฤติกรรมนี้อาจเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนดังในสังคมมากกว่าบุคคลอื่น เนื่องจากเนื้อหาในลักษณะนี้สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ใช้งานออนไลน์ได้ดี และหากมองถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นที่ผ่านมาจะพบว่า การส่งต่อคลิปลับ แชทหลุด หรือสิ่งที่น่าอับอายของผู้ถูกกระทำนั้น เป็นสิ่งที่พบเห็นได้มาตั้งแต่อดีต เพียงแต่ปัจจุบัน การเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์ที่มีคุณสมบัติของการส่งต่อเนื้อหาข้อความหรือรูปภาพได้ในคราวละมาก ๆ ทำให้การแพร่กระจายของเนื้อหาในลักษณะนี้ทำได้ง่าย และขยายวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ในระยะหลัง วัฒนธรรมการแฉ การเปิดโปง การล่าแม่มด ยังเกิดขึ้นมากในโลกออนไลน์ การจับผิดบุคคล และเผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความอับอายให้กับบุคคลนั้นซ้ำ ๆ จึงเป็นสิ่งที่บุคคลสามารถพบเห็นได้ในชีวิตบ่อยขึ้น

 

การสร้างบรรทัดฐานให้สังคมและคนในสังคมมองเห็นว่า การส่งต่อเรื่องน่าอับอายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิด อาจลดแนวโน้มที่จะเกิดพฤติกรรมการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ประเภทนี้ลงได้เช่นกัน

 

 


 

 

 

Episode 1 “รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying: Introduction

 

 

 

เรื่อง Cyberbullying เราพูดกันมานาน แต่ทั้งที่มีคนพูดเยอะ ปัญหาก็ยังคงไม่น้อยลง
เมื่อดูจากสถิติ กว่าร้อยละ 50 ของเด็กและเยาวชนไทยเคยเจอพฤติกรรมนี้ หรือร้อยละ 50 เคยตกเป็นเหยื่อ และตัวเลขเหล่านี้ไม่เคยลดลง

 

Cyberbullying สร้างผลกระทบในทุกระดับ

 

การรังแกในโลกออนไลน์พบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งช่วงวัยดังกล่าวเป็นช่วงวัยที่ “เพื่อน”คือบุคคลสำคัญ ความสัมพันธ์กับเพื่อนไม่ว่าในโลกจริงหรือโลกออนไลน์ล้วนสร้างผลกระทบอย่างมาก เมื่อถูก Cyberbullying เด็กจะรู้สึกว่าตนไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน ซึ่งก็ส่งผลต่อการที่เด็กจะรู้สึกยอมรับหรือไม่ยอมรับตนเองได้

 

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นเหยื่อของ Cyberbullying ก็มักจะเกิดความรู้สึกหรืออารมณ์ทางลบ ซึ่งมีด้วยกันหลายระดับ ตั้งแต่โกรธ โมโห และเกิดความรู้สึกคับข้องใจ จนถึงความคับแค้น และเกิดความคิดอยากเอาคืน

 

ในช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่เราอยากรู้อยากลอง การถูกรังแกในโลกออนไลน์ทำให้เรารู้สึกสั่นคลอนในใจของเราว่าวิธีคิดของเรา ความคิดเห็นของเรา มันแย่ถึงขนาดนั้นเลยหรือ จึงนำมาสู่ข้อความแห่งความเกลียดชังแทนที่จะเป็นข้อความของการยอมรับ ทำให้เกิดความรู้สึกสับสน ไม่รู้ว่าจะหาทางออกทางใด และเด็กหลาย ๆ คน เมื่อเจอปัญหาก็มักจะกลัวไปก่อนแล้วว่าผู้ใหญ่จะตัดสินตน จึงอาจจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในทางที่ไม่ถูกต้อง

 

สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ภาวะซึมเศร้าคือภาวะที่บุคคลรู้สึกโดดเดี่ยว ลำพัง จนถึงขั้นนำไปสู่ความคิดที่จะทำร้ายตนเอง

 

ถ้ามองผลกระทบในระดับสังคม ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying มักจะมีความรู้สึกปลีกตัว แปลกแยก และบุคคลรอบข้างเองก็อาจปลีกตัวจากผู้ที่ถูก Cyberbullying เช่นกัน ไม่อยากเข้าไปหรือไม่อยากทำอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะกลัวว่าตนเองจะถูกกระทำเหมือนกัน จึงเป็นไปได้ที่ความสัมพันธ์ของคนที่ถูกรังแกและคนรอบข้างจะแย่ลง

 

เหตุผลที่ Cyberbullying สามารถสร้างผลกระทบได้อย่างร้ายแรง

 

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์มีสิ่งที่เรียกว่า Digital footprint คือไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์แล้วจะลบเลือนออกไปได้ แม้ต้นทางจะลบออกไปแล้วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีร่องรอยปรากฏเหลืออยู่

 

การรังแกทางโลกออนไลน์นั้นไม่มีพื้นที่จำกัด ทั้งยังไม่สามารถระบุได้ว่าคนที่กระทำหรือใคร จึงกล่าวได้ว่า “ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการตกเป็นเหยื่อ” และในงานวิจัยพบว่า การรังแกในโลกจริงและในโลกไซเบอร์มักจะมาคู่กัน บางทีเป็นคนกลุ่มเดียวกันด้วยซ้ำ

 

ในทางความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ ความรู้สึกคับแค้นใจอาจไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับตัวผู้กระทำที่ทำกับเขา แต่ยังขยายไปถึงคนแวดล้อมผู้กระทำด้วย ที่ไม่พยายามปกป้องเขา จนทำให้อารมณ์ทางลบนั้นถึงจุดที่ระเบิด และมีความคิดเหมารวมว่าทุกคนบนโลกนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันกับผู้ที่รังแกเขาใช่ไหม เพราะไม่มีใครช่วยเหลือเขาเลย

 

Cyberbullying จะสร้างผลที่ร้ายแรงมากยิ่งขึ้น ถ้าเป็นการรังแกในลักษณะที่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเรา และทำให้เราตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะมีคนเข้ามาทำร้ายซึ่งส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของเราได้ และอาจกระทบไปถึงบุคคลในครอบครัวและคนรู้จักของเราได้

 

กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่จะตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying

 

คือผู้ที่มีลักษณะอ่อนแอกว่า รวมถึงบุคคลกลุ่มน้อย (minority) ที่มีความแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม
แต่ทั้งนี้ ทุกคนสามารถตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying ได้ เพราะมีความเป็นไปได้ว่า Cyberbullying เกิดขึ้นจากการที่มีคนเอาข้อความที่มีเจตนาดีของเราไปตีความผิด ๆ หรือการที่เราแชร์เรื่องราว ความคิดเห็นของเรา โดยอาจไม่ทันได้ระวังว่าเราแชร์ที่ไหน ในแหล่งใด กับคนกลุ่มใด ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ที่เป็นความเสี่ยงในการถูกกลั่นแกล้งรังแกได้

 

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า Cyberbullying เป็นเรื่องที่มีผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าที่เราคิด

 

แต่คนที่ตกเป็นเหยื่อก็ไม่ได้อยู่ลำพัง เดียวดาย สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราออกจากปัญหานี้ได้คือ “การแสวงหาความช่วยเหลือ” หาใครสักคนที่เรารู้สึกวางใจ ที่เราจะสามารถสื่อสารเรื่องนี้ได้ หาจุดที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย หาใครสักคนที่เชื่อใจและพูดคุยกับเขา

 

และทุกคนที่ใช้โซเชียลมีเดียหรือสื่อออนไลน์ต่างก็มีอำนาจในการควบคุมพื้นที่ของตนเอง เราสามารถตั้งค่าต่าง ๆ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโลกไซเบอร์ของเราได้ในระดับหนึ่ง สกรีนว่ามีใครบ้างที่เราจะอนุญาตให้เขามาในพื้นที่ส่วนตัวของเรา หรือป้องกันตัวเองที่จะไม่เข้าไปหาเนื้อหาทางลบ

 

อย่างไรก็ตามแม้เราจะป้องกันตัวเองแล้ว ก็อาจจะยังถูกกลั่นแกล้งรังแกได้ เมื่อไรก็ตามที่เรารับรู้ได้ว่าเราถูกกระทำ เราก็ต้องพยายามดึงสติ รวบรวมความกล้า และใช้ความคิดว่าจะพาตนเองออกจากสถานการณ์นี้อย่างไรให้สวยงามที่สุด ให้เราสบายใจและทุกคนสบายใจ และมันก็ไม่จำเป็นที่ในสถานการณ์ที่เราถูกด่าว่าหรือถูกเอาไปกลั่นแกล้งในทางออนไลน์ เราจะต้องกลายเป็นเหยื่อเสมอไป ตราบใดที่เราไม่ได้มองว่าเราถูกกลั่นแกล้ง เราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ

 

 

 


 

 

Episode 2 “รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying: มิติผู้กระทำ

 

 

 

การรังแกในโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
คิดก่อนโพสต์ เช็คก่อนแชร์ #ร่วมกันสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย

 

ถ้าเราดูนิยามในเชิงวิชาการ พฤติกรรม Cyberbullying เขาจะนับที่เจตนาของผู้กระทำเป็นหลัก ว่ามีเจตนามีพฤติกรรมที่หวังผลร้ายกับผู้ถูกกระทำหรือไม่ แต่ในระยะหลัง ๆ เราพบว่าถึงแม้ผู้กระทำ Cyberbullying จะรู้สึกว่าไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดี แต่ถ้าผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อแสดงความไม่พอใจออกมา แสดงอารมณ์ทางลบออกมา และผู้กระทำยังกระทำการนั้นซ้ำ ๆ เช่นนี้ก็ถือว่าเป็น Cyberbullying เช่นกัน

 

พฤติกรรม Cyberbullying ที่พบได้บ่อย (จากมุมมองของผู้กระทำ)
  • การส่งหรือเผยแพร่ต่อข้อความล้อเลียนใครบางคนที่เราอาจจะรู้สึกไม่ดีด้วย
  • การเฝ้าสะกดรอยตามทางออนไลน์คนที่เราชื่นชอบหรือสนใจเป็นพิเศษ คือเฝ้าดูเขาตลอดเวลาว่าโพสต์หรือทำอะไรบ้างในแพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่เขาใช้งานเป็นประจำ จนรู้ความเคลื่อนไหวของบุคคลนี้ไปเสียทั้งหมด ทำให้คนที่ถูกสะกดรอยรู้สึกไม่ดี รู้สึกหวาดกลัว
  • การขับบุคคลอื่นออกจากกลุ่ม ซึ่งทำให้คนที่ถูกกีดกันรู้สึกไม่ดี
  • การปะทะคารม การโต้เถียง การที่เราใช้คำรุนแรงระหว่างกันในอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ
  • การโพสต์หรือแชร์สิ่งที่ทำให้บุคคลรู้สึกอับอาย หรือเสื่อมเสียชื่อเสียง

 

พฤติกรรม Cyberbullying อาจเป็นพฤติกรรมที่เราเรียนรู้มาจากผู้อื่น เช่น เคยโดนกระทำมาก่อน แล้วนำมาทำบ้าง ก็เป็นการส่งต่อความรู้สึกที่ไม่ดีให้กับคนอื่น ซึ่งหลาย ๆ คน โดยเฉพาะเด็ก ๆ อาจไม่ได้ตระหนักในสิ่งเหล่านี้

 

Cyberbullying จึงไม่ได้นับจากเจตนาหรือไม่เจตนา Cyberbullying นั้นเป็นพฤติกรรม หากเราทำลงไปแล้ว และมีคนที่ได้รับผลกระทบ ก็นับเป็น Cyberbullying เช่นการที่เราโพสต์คลิปตลก ๆ ของเพื่อนออกไป แล้วส่งผลให้มีคนมาพูดจาคุกคามทางในทางที่ไม่ดีกับเพื่อนของเรา ส่งผลให้เพื่อนของเราตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying ต่อให้เราขอโทษเพื่อนและลบคลิปแล้ว แต่สิ่งที่คนอื่นนำคลิปไปแชร์ต่อ ผลกระทบนั้นก็ยังส่งถึงเพื่อนของเราอยู่ เราก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการ Cyberbullying ได้เช่นกัน

 

อะไรที่ทำให้เรากลั่นแกล้งผู้อื่นทางออนไลน์
  • การที่เรารู้สึกว่าไม่มีใครรู้ว่าเราคือใคร เมื่อเป็นที่ที่ไม่ต้องแสดงความเป็นตัวตนของเราออกมา เราก็จะแสดงพฤติกรรมที่รุนแรงออกมาโดยที่เราไม่กลัวว่า ฉันคือใคร
  • ในโลกออนไลน์เป็นโลกที่ขาดพื้นที่ของความเห็นอกเห็นใจ เราไม่มีโอกาสที่จะรู้ว่าผลกระทบสิ่งที่เราพิมพ์หรือโพสต์ไป คนที่ได้รับผลกระทบ เขาจะรู้สึกอย่างไร เราจึงมีโอกาสทำพฤติกรรมนั้นต่อเนื่อง
  • เราไม่รู้ว่ามีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นกับอีกฝ่ายบ้าง เขาเผชิญความเดือดร้อนแค่ไหน เกิดผลกระทบอย่างไรในโลกความเป็นจริงด้วย
  • คนบางคนมีบุคลิกภาพที่ค่อนข้างก้าวร้าว ข่มขู่คุกคามคนอื่น
  • เคยถูกบูลลี่มาก่อนในโลกไซเบอร์ ในระยะต่อมาก็อาจไปกระทำกับคนอื่น
  • บางคนมุ่งหวังยอดผู้ติดตาม ยอดไลค์ ยอดคอมเมนต์ พอมีคนสนใจมาก ๆ ในเรื่องดราม่าก็ยิ่งมีการส่งต่อแชร์ต่อ

 

ผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นกับตัวผู้กระทำเอง
  • หากคนเราใช้ชีวิตอย่างขาดการตระหนักรู้ ก็จะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่สามารถควบคุมกำกับตัวเราเองได้ ซึ่งอาจจะขยายไปถึงเรื่องอื่นของปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ การตระหนักรู้ในตนเอง หรือสุขภาวะทางใจของเราในอนาคต
  • Cyberbullying เป็นพฤติกรรมก้าวร้าวประเภทหนึ่ง การได้ทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ในโลกออนไลน์ ก็เป็นไปได้ว่าวันหนึ่งจะนำมาทำในชีวิตจริง

 

การลดพฤติกรรมการรังแกในโลกออนไลน์
  • เริ่มจากความเชื่อและการตระหนักร่วมกันว่าการรังแกในโลกออนไลน์ผลกระทบนั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ การที่เรารู้สึกว่าแค่เล่น ๆ ไม่ได้จริงจัง แต่ถ้าเป็นเราที่อยู่ในสถานการณ์นั้นเราจะรู้สึกอย่างไร ฝึกการคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็จะช่วยให้เรายับยั้งพฤติกรรมของเราได้
  • ถ้าเราอยู่ในโลกออนไลน์ และมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มในโลกออนไลน์ที่มีแนวโน้มทำพฤติกรรมแบบ Cyberbullying ให้ถอยตนเองออกมา หลีกเลี่ยงที่จะมีปฏิสัมพันธ์แบบนั้น หรือลดปริมาณการใช้งานลง
  • คิดถึงภาพรวมของสังคมให้มากขึ้น การส่งต่อพลังงานทางลบออกไป พลังงานทางลบนั้นก็จะเวียนอยู่ในสังคมและสุดท้ายเราเอง รวมถึงคนรอบข้างของเราก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย
  • ใจดีต่อกันมากขึ้น ส่งต่อพลังงานทางบวกมากขึ้น เพื่อให้สังคมน่าอยู่ขึ้น

 

 

 


 

 

Episode 3 “รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying: มิติผู้ถูกกระทำ

 

 

 

คำพูดหรือการกระทำของผู้อื่น ไม่ได้กำหนดคุณค่าในตัวคุณ
STOP / BLOCK / TELL #ร่วมกันสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย

 

จากงานวิจัยในโครงการ เรื่อง “การศึกษาความชุกของพฤติกรรมการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) และผลกระทบทางจิตใจของเหยื่อในประเทศไทย (เก็บข้อมูลระหว่าง มี.ค. – พ.ค. 2567) พบว่า พฤติกรรมการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ในมุมมองของ “ผู้ถูกผู้กระทำ” ที่พบมากที่สุด คือ
  1. การได้รับภาพล่อแหลมทางเพศ
  2. การได้รับข้อความดูถูก เหยียดหยาม หรือทำให้กลัว ซึ่งอาจจะเกิดจากการสนทนาและโต้เถียงกันจนลุกลาม
  3. การได้รับข้อความล้อเลียน เสียดสี

 

นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่คนอาจไม่ค่อยรู้ว่าจัดเป็น Cyberbullying เช่นกัน
  • การแคปแชทส่วนตัวออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ
  • การล่อลวงให้ส่งข้อมูลหรือภาพส่วนตัวในเรื่องเพศ แล้วนำออกไปเผยแพร่สู่สาธารณะ
  • การขับคนออกจากกลุ่ม หรือ การติด Hashtag แบนคน
  • การตั้งกลุ่มปิดเพื่อนินทาลับหลังหรือส่งต่อข่าวที่ไม่ดี

 

วิธีการรับมือเมื่อถูก Cyberbullying
    1. STOP ไม่เข้าไปยุ่งกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
    2. BLOK ไม่ให้คนที่เข้ามาทำร้ายเราเข้าถึงตัวเราได้
    3. TELL ไม่เก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวคนเดียว
  • ในกรณีที่มีคนมาขุดคุ้ยเรื่องราวในอดีตของเรา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เราอาจจะทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก สิ่งที่จะทำได้คือออกมายอมรับ ขอโทษ ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น
  • ถ้าเรารู้สึกว่ามีโพสต์ใดที่คุกคามจิตใจของเรามาก เราสามารถกด report ให้ระบบจัดการให้โพสต์นั้นหายไป

 

วิธีการเยียวยาตนเองและหาทางออกจากปัญหา
  • เมื่อถูก Cyberbullying เราอาจจะถามตัวเองซ้ำ ๆ ว่าเรามีอะไรไม่ดีหรือเปล่า…ให้ออกจากความคิดโทษตัวเองซ้ำ ๆ สิ่งที่จะช่วยได้คือการหาใครสักคนที่จะพูดคุย คนที่วางใจว่าจะช่วยเหลือเราได้
  • แพล็ตฟอร์มที่ให้ความช่วยเหลือทางสุขภาพจิต เช่น 1323 สายด่วนกรมสุขภาพจิต, App SATI, App HeretoHeal
  • ถ้าเรารู้สึกแย่มาก ๆ จากการเข้าถึงสังคมออนไลน์ที่ Toxic ให้เราพักจากสื่อนั้น ออกมาทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่จับต้องได้ ออกมาใช้เวลากับตัวเอง และใช้เวลาอยู่ในกลุ่มสังคมที่ดี ๆ

 

แนวทางการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการถูกรังแก
  • กลับมาโฟกัสในสิ่งที่เราควบคุมได้มากขึ้น เช่น ก่อนที่เราจะแชร์ ก่อนที่เราจะโพสต์ หรือจะสื่อสารอะไรออกไป เราจะสื่อสารอะไรในพื้นที่ไหนบ้างจึงจะปลอดภัย
  • สร้างค่านิยม สร้างบรรทัดฐานใหม่ ๆ ในการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ ร่วมกันผลักดันให้เกิดบรรทัดฐานที่ดี ๆ เมื่อมีสมาชิกคนไหนที่จะมา bully คนอื่น ก็ให้ช่วยกันสกรีน จนให้พฤติกรรมเหล่านั้นลดลง
  • ไม่ตอบโต้ สุมไฟ ให้ผู้กระทำยิ่งรู้สึกสนุก ถ้าเราไม่ยอมให้คนเหล่านั้นมามีบทบาทในชีวิตของเรา เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อ
  • ให้ทุกคนรู้จักคุณค่าของตนเอง เชื่อว่าตนเองมีคุณค่า ต่อให้จะมีใครมาว่ากล่าว ตำหนิเรา ให้ยึดว่าชีวิตของเรายังมีคุณค่า ยอมรับว่า ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือในโลกออนไลน์ ย่อมมีคนที่ทั้งชอบและไม่ชอบเรา เพียงแต่ว่าโลกออนไลน์มันง่ายที่คนจะมาพูดทำร้ายความรู้สึกของเรา แล้วก็ไป
  • รักตัวเองให้มาก เรียนรู้ที่จะก้าวผ่านเรื่องราวที่ไม่ดี เรียนรู้ที่จะเติบโตและเป็นคนที่ดีขึ้น อยู่ในสังคมอย่างภาคภูมิใจ

 

 

 

 

 


 

 

Episode 4 “รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying: มิติผู้พบเห็นเหตุการณ์

 

 

“แทนที่เราจะเป็นคนเฝ้าดูเฉย ๆ ซึ่งมันขาดความเห็นอกเห็นใจ ถ้าเราสามารถมีบทบาทในการที่เป็นผู้ปกป้อง บทบาทในการที่ทำให้เหยื่อรู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียวลำพัง ก็จะช่วยได้มาก ๆ”

 

หยุดวงจรการเกิด Cyberbullying ซ้ำ ๆ ที่ตัวเรา
“เพิ่มบทบาทการเป็นผู้ปกป้อง” #ร่วมกันสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย

 

ผู้พบเห็น Cyberbullying แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ
  1. ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการ Cyberbullying ด้วย เช่น มาร่วมคอมเมนต์ในทางลบ
  2. ผู้ที่เข้ามาปกป้องผู้ถูกกระทำ เช่น การให้ข้อมูลความจริง หรือให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เป็นการปกป้องผู้ที่ถูกกระทำ หรือให้กำลังใจผู้ที่ถูกกระทำ
  3. ผู้ที่ไม่ได้ทำอะไร อาจกลัวว่าตัวเองจะกลายเป็นหนึ่งในเหยื่อ หรือมองว่าเดี๋ยวคงมีคนอื่นมาช่วยเอง [ทางจิตวิทยาเรียกว่า bystander effect (ยืนมุงแต่ไม่ช่วยเหลือ) ]

 

เราสามารถช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying ได้อย่างไร
  • ไม่ส่งต่อ ไม่เผยแพร่ และอาจพูดคุยกับคนที่ส่งต่อมาให้ว่าอย่าส่งต่อไปให้คนอื่นอีกเลย เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม
  • ไม่คล้อยตาม หรือปักใจเชื่อ ว่าคนที่ถูกโจมตีจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ปัจจุบันนี้คนถูกโจมตีด้วยข้อมูลเท็จกันมาก เพราะฉะนั้นจึงควรต้องพิจารณาดี ๆ อย่างรอบคอบ
  • ไม่เพิกเฉย ถ้าคนนั้นเป็นคนที่เรารู้จัก สามารถให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งได้เพื่อรักษาความถูกต้องบนโลกออนไลน์
  • ช่วยกันรณรงค์ว่าก่อนที่จะสื่อสารอะไร อาจจะกำลังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่
  • กด report โพสต์ หรือ บัญชี ที่ Cyberbullying คนอื่น
  • สื่อสารกับผู้ถูกกระทำ ว่ายังมีคนที่เข้าใจ

 

เราทุกคนช่วยกันลดปัญญา Cyberbullying ได้อย่างไร
  • เพิ่มการตระหนักรู้ว่าพฤติกรรมอะไรที่ทำลงไปแล้วอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่น และระงับพฤติกรรมนั้น
  • เพิ่มการมีวิจารณญาณในการใช้สื่อ (Media literacy) รู้ว่าอะไรคือประโยชน์ของการใช้งานอินเทอร์เน็ต และอะไรคือโทษที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกำหนดบรรทัดฐานหรือค่านิยมใหม่ ๆ ว่าสิ่งใดควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ คอยห้ามปรามกันและกัน
  • เราควรมีนโยบายป้องกันและระบบช่วยเหลือดูแลผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออย่างไร
  • เนื่องจาก Cyberbullying ส่วนมากมักเกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในโรงเรียน ดังนั้นโรงเรียนเป็นจุดที่สำคัญในการสร้างองค์ความรู้ให้กับนักเรียน รวมถึงครูในโรงเรียน ถึงความร้ายแรงของ Cyberbullying ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการล้อเล่นกัน เพราะมันสามารถสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับคนที่ตกเป็นเหยื่อได้
  • ในรายวิชาด้านการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกเหนือจากการศึกษาฟังก์ชั่นการใช้งาน ยังควรเพิ่มประเด็นเรื่องการใช้งานอย่างไรให้เหมาะสม ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และไม่ให้ผู้อื่นมาละเมิดสิทธิของเรา
  • การมีเครือข่ายในการดูแล ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งความช่วยเหลือได้ง่าย รับรู้ได้ว่ามีกลุ่มบุคคลที่ปลอดภัยที่พึ่งพาได้
  • ผู้พัฒนาแพล็ตฟอร์มสร้างระบบที่จะช่วยผู้ถูกกระทำให้สามารถดึงกลับข้อมูลที่เหมาะสม งดการรีแชร์/รีโพสต์ข้อความ/รูปภาพ/คลิปเดิมซ้ำ ๆ ไม่ให้เกิดการรังแกซ้ำได้

 

การเพิกเฉยต่อปัญหา Cyberbullying สามารถสร้างบาดแผลให้กับผู้ถูกกระทำได้ ทุกคนจึงควรรวมพลังกัน ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ร่วมกันสร้างสังคมที่น่าอยู่ ลดปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกันในโลกออนไลน์ให้หายไป

 

 

Share this content