Basic Psychological Needs – ความต้องการพื้นฐานด้านจิตใจ

13 Dec 2024

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

 

ความต้องการพื้นฐานด้านจิตใจเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงใน ทฤษฎีความมุ่งมั่นในตนเอง (Self-determination theory) โดยทฤษฎีนี้ได้นำเสนอว่า ผู้คนเป็นสิ่งมีชีวิตที่กระตือรือร้น มีความต้องการเติบโตและพัฒนาทางจิตใจ เป็นการค้นหาความท้าทาย ความแปลกใหม่ และโอกาสในการเรียนรู้ ดังนั้นจึงอธิบายถึงแนวโน้มการเติบโตโดยธรรมชาติของผู้คนและความต้องการทางจิตวิทยาโดยพื้นฐาน (Innate psychological needs) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับแรงจูงใจในตนเองและบุคลิกภาพของบุคคล อันได้แก่ ความต้องการด้านการมีอิสระในตนเอง (Autonomy) ความต้องการด้านความสามารถ (Competence) และความต้องการด้านความสัมพันธ์ (Relatedness) ซึ่งจำเป็นต่อการเติบโตและการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์และความเป็นอยู่ที่ดีส่วนบุคคล

 

 

ทฤษฎีความมุ่งมั่นในตนเอง ประกอบด้วย 3 แรงจูงใจ และ 6 การกำกับตนเอง ดังนี้

 

 

ไม่มีแรงจูงใจ
แรงจูงใจจากภายนอก
แรงจูงใจจากภายใน
ไม่มีการกำกับตนเอง
การกำกับจาก
ภายนอก
การกำกับด้วย
ความยินยอม
กำกับด้วยการ
ระบุตนเอง
การกำกับที่
สอดคล้อง
การกำกับตนเอง
จากภายใน
ไม่แสดงพฤติกรรมใดเพื่อ
ไปสู่เป้าหมายหรือหาก
มีการแสดงพฤติกรรม
ก็เป็นลักษณะกระทำ
โดยไม่มีเจตนา
แสดงพฤติกรรมที่คาด
ว่าจะได้รับรางวัลหรือ
หลีกเลี่ยงการลงโทษ
แสดงพฤติกรรมเพื่อ
หลีกเลี่ยงความรู้สึกผิด
หรือวิตกกังวล หรือ
เพื่อเพิ่มความภาคภูมิใจ
หรือคุณค่าในตนเอง
แรงกดดันจาก
ภายนอกทำให้แสดง
พฤติกรรมโดยเป้าหมาย
ที่มีประโยชน์ มากกว่า
สิ่งที่เป็น
ความต้องการ
แท้จริง
ค่านิยมและเป้าหมาย
ภายนอกสอดคล้องกับ
เป้าหมายภายใน ซึ่ง
กลายเป็นส่วนหนึ่ง

ของตัวตนและ
แรงบันดาลใจ
เป็นแรงจูงใจที่เกิดจาก
ความสนใจส่วนตัว
ความอยากรู้ หรือ
ความเพลิดเพลินใน
การทำงานตามเป้าหมาย

 

 

ทั้งนี้การกำกับตนเองนั้นเป็นไปเพื่อเติมเต็มหรือลดทอนความต้องการทางจิตวิทยาขั้นพื้นฐาน 3 ประการที่กล่าวข้างต้น

 

 

ทฤษฎีความมุ่งมั่นในตนเองมีการอธิบายทั้งหมด 6 ทฤษฎีย่อย ดังนี้

 

 

1. ทฤษฎีการประเมินการรู้คิด (Cognitive evaluation theory)

 

ทฤษฎีนี้ได้อธิบายถึงบริบททางสังคมที่ถือได้ว่าเป็นปัจจัยในการส่งเสริมหรือยับยั้งการเกิดแรงจูงใจภายในที่ทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรม โดยลักษณะของบริบททางสังคมที่มาส่งเสริมหรือยับยั้งการเกิดแรงจูงใจคือ บริบททางสังคมที่สนับสนุนการมีอิสระในการทำพฤติกรรมด้วยตนเอง และบริบททางสังคมที่ส่งเสริมการรับรู้ถึงความสามารถของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ บริบททางสังคมที่แสดงให้รับรู้ว่าสาเหตุที่ทำพฤติกรรมมาจากตนเอง ไม่ใช่เพราะสาเหตุจากภายนอก ก็สามารถส่งผลเพิ่มแรงจูงใจภายในได้

 

 

2. ทฤษฎีการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมของสิ่งมีชีวิต (Organismic integration theory)

 

ทฤษฎีนี้เน้นความสำคัญของแรงจูงใจภายนอก กล่าวคือ บุคคลเลือกทำหรือกำหนดพฤติกรรมด้วยตนเองเป็นผลมาจากแรงจูงใจภายนอก เช่น การทำกิจกรรมที่ไม่ตรงกับความสนใจของตน แต่ถ้าบุคคลได้รับแรงจูงใจภายนอก เช่น รางวัลหรือคำชม ผลที่ตามมาคือบุคคลนำแรงจูงใจภายนอกมายึดเป็นพฤติกรรมที่ตนเลือกทำกิจกรรมเอง

 

 

3. ทฤษฎีการหล่อหลอมพฤติกรรมจากสิ่งแวดล้อมและเหตุผลภายในตนเอง (Causality orientations theory)

 

ทฤษฎีนี้กล่าวถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพหรือลักษณะนิสัย ที่นำไปสู่การกำหนดแรงจูงใจและความมุ่งมั่นในตนเอง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ ลักษณะของการมีอิสระในตนเอง (Autonomous orientation) เป็นบุคคลที่แสดงพฤติกรรมตามความชื่นชอบและสนใจของตนเอง โดยจะพบความสัมพันธ์ทางบวกกับบุคลิกภาพที่นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี เช่น การเห็นคุณค่าในตนเอง ต่อมาคือลักษณะที่ถูกควบคุมโดยปฏิบัติตนตามความต้องการของบุคคลอื่น (Controlled orientation) บุคคลลักษณะนี้มักพบว่าเห็นคุณค่าในตนเองต่ำและพบอารมณ์ซึมเศร้าอีกด้วย และลักษณะสุดท้ายคือ ลักษณะของบุคคลที่ไม่มีตัวตน (Impersonal orientation) คือบุคคลที่รู้สึกถึงความไร้ความสามารถส่งผลให้บุคคลไม่มีแรงจูงใจ (Amotivation)

 

 

4. ทฤษฎีความต้องการพื้นฐาน (Basic needs theory)

 

ทฤษฎีนี้กำหนดว่าบุคคลมีความต้องการพื้นฐานด้านจิตใจ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบดังนี้

 

(1) ความต้องการมีอิสระในตนเอง (Autonomy) หมายถึง ความต้องการมีอิสระในการกำหนดชีวิตของตนเอง มีอำนาจในการตัดสินใจทำสิ่งใดด้วยตนเอง และมีความรับผิดชอบในการกระทำของตน อีกทั้งความต้องการเป็นอิสระมาจากการที่บุคคลต้องการทำพฤติกรรมหรือตัดสินใจตามสิ่งที่ตนเองชื่นชอบและสนใจ ถึงแม้ว่าเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกที่ทำให้ทำพฤติกรรม แต่บุคคลก็มีความสนใจที่มาจากภายในของตนเองด้วย

 

(2) ความต้องการด้านสามารถ (Competence) หมายถึง ความสามารถในการจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวของตน โดยความต้องการด้านความสามารถนำบุคคลไปแสวงหาความท้าทายในชีวิต และความท้าทายมักอยู่ในขอบเขตตามความสามารถที่แต่ละบุคคลพึงมี นอกจากนี้ การเติมเต็มความต้องการด้านความสามารถยังส่งผลให้บุคคลรู้สึกมีความมั่นใจในการกระทำหรือพฤติกรรมของตนอีกด้วย

 

(3) ความต้องการด้านความสัมพันธ์ (Relatedness) หมายถึง ความสัมพันธ์อันดีต่อบุคคลอื่น โดยเกิดความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่ง เป็นที่ยอมรับ และมีความผูกพันต่อบุคคลอื่นในสังคม

 

เมื่อความต้องการด้านจิตใจได้รับการสนับสนุน หรือเมื่อความต้องการทั้ง 3 ด้านได้รับการเติมเต็ม บุคคลจะรู้สึกว่าตนมีแรงจูงใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยตนเอง และสามารถทำให้บุคคลมีอารมณ์เชิงบวกและมีสุขภาวะทางจิต (Psychological well-being) ที่ดีด้วย

 

Autonomy
Competence
Relatedness
ปัจจัยสนับสนุน
  • การรับรู้ถึงทางเลือก
  • คำอธิบายที่มีเหตุผล
  • การได้รับรู้ความรู้สึก
  • ความท้าทายในระดับที่เหมาะสม
  • ผลตอบรับทางบวก
  • การได้รับการปฏิบัติที่ดีจากคนรอบข้าง
  • การได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
  • ความปลอดภัย
ปัจจัยลดทอน
  • การกำหนดเวลา การคุกคาม
  • เป้าหมายที่ไม่ได้เลือกเอง
  • รางวัล/การลงโทษ
  • การควบคุม
  • ความท้าทายที่เกินระดับความสามารถ
  • ผลตอบรับทางลบ
  • การแก่งแย่งแข่งขัน
  • การจับผิดติเตียน
  • การแบ่งพรรคแบ่งพวก

 

 

 

5. ทฤษฎีการตั้งเป้าหมาย (Goal content theory)

 

ทฤษฎีนี้เสนอว่าเป้าหมายจากภายนอก (Extrinsic goals) เช่น ความมั่งคั่งทางการเงิน ภาพลักษณ์ และชื่อเสียง จะตอบสนองความต้องการพื้นฐานด้านจิตใจ 3 ประการ ได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเป้าหมายภายใน (Intrinsic goals) เช่น การเติบโตจากภายใน การมีส่วน ร่วมกับสังคม และความใกล้ชิดทางอารมณ์ นอกจากนี้ การมีเป้าหมายจากภายนอกนำไปสู่สุขภาวะที่แย่ลงและการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่เป้าหมายภายในนำไปสู่สุขภาวะที่ดีเนื่องจากเป็นการตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานด้านจิตใจ 3 ประการ

 

 

6. ทฤษฎีแรงจูงใจในความสัมพันธ์ (Relationship motivation theory)

 

ทฤษฎีนี้เสนอว่าความพึงพอในใจความสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับ การได้รับความเคารพและการดูแล นอกจากนี้ความรู้สึกปลอดภัยที่มาจากความผูกพัน (Attachment) กับผู้เลี้ยงดูจะส่งเสริมการมีอิสระ (Autonomy) อย่างไรก็ตามลักษณะการเลี้ยงดูบางรูปแบบอาจขัดขวางการมีแรงจูงใจและสุขภาวะทางอารมณ์ได้เช่นกัน

 

 

 


 

 

อ้างอิง

 

ณฐวรรณ อรรณพไกรสร. (2563). อิทธิพลของการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างต่อความพึงพอใจในชีวิตของผู้สูงวัย โดยมีความต้องการพื้นฐาน ด้านจิตใจเป็นตัวแปรส่งผ่าน และเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างเป็นตัวแปรกำกับ [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://doi.org/10.58837/CHULA.THE.2020.678

 

จุฑามาศ มงคลอำนาจ. (2565). ความสัมพันธ์ของการกำหนดตนเอง การคลั่งไคล้ศิลปิน และ การฟื้นคืนพลัง ในผู้ใหญ่วัยเริ่มที่เข้าร่วมกลุ่มชื่นชอบศิลปิน [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://doi.org/10.58837/CHULA.THE.2022.541

 

Cook, D. A., & Artino, A. R., Jr (2016). Motivation to learn: an overview of contemporary theories. Medical education, 50(10), 997–1014. https://doi.org/10.1111/medu.13074

Share this content