การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ – Buddhist counseling

15 Feb 2022

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธเป็นองค์ความรู้ด้านการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่ผสมผสานและสังเคราะห์ระหว่างองค์ความรู้ทฤษฎีจิตวิทยาตะวันตกเข้ากับหลักธรรมทางพุทธศาสนาของโลกตะวันออก โดย รศ. ดร.โสรีช์ โพธิ์แก้ว เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาและวางรากฐาน เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจนตกผลึกเป็นการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธที่มีหลักพุทธธรรมเป็นกรอบแนวคิดพื้นฐานในการทำงาน

 

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือแบบรายบุคคล และแบบกลุ่ม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กลุ่มจิตวิทยาพัฒนาการและการปรึกษาแนวพุทธ ทั้งสองรูปแบบมีวัตถุประสงค์ในการทำงานเหมือนกัน จำแนกออกเป็น 2 มิติ คือ มิติการพัฒนาความเจริญงอกงามของบุคคล (personal growth) และมิติการแก้ปัญหา (problem solving)

 

มิติการพัฒนาความเจริญงอกงามของบุคคล เป็นมิติที่ขยายโลกทัศน์ของผู้รับบริการให้กว้างมากขึ้น และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโลกและชีวิต สอดคล้องกับหลักของธรรมชาติที่กล่าวไว้ในหลักธรรมทางพุทธศาสนา ส่วนมิติการแก้ปัญหาเป็นมิติการทำงานกับปัญหาที่เป็นประเด็นค้างอยู่ในจิตใจของผู้รับบริการ จนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อปัญหา และจัดการกับปัญหาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับความเป็นจริงของโลกและชีวิต

 

 

หลักพุทธธรรมรากฐานของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ

 

นักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธเป็นเหมือนกัลยาณมิตรที่นำพาผู้รับบริการจากความทุกข์สู่ความไม่ทุกข์ ความไม่รู้ของอวิชชาไปสู่ปัญญาของสัมมาทิฏฐิ จนผู้รับบริการอยู่ในภาวะกลมกลืนกับวิถีมรรคในองค์แปด

 

หลักพุทธธรรมพื้นฐานสำคัญของนักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ ได้แก่

 

  • หลักอริยสัจ 4 – การประสบกับความทุกข์ การทำความเข้าใจลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้น การค้นหาสาเหตุ การพิจารณาแนวทางแก้ไข การกำหนดแนวทางปฏิบัติแก้ไขและลงมือปฏิบัติให้พ้นทุกข์
  • หลักอิทัปปัจจยตา – ความเข้าใจต่อสรรพสิ่งว่ามีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ไม่มีสิ่งใดที่มีตัวตนตั้งอยู่จริง ทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แสดงให้เห็นถึงปัจจัยการเกิดและดับเนื่องต่อกันและกัน
  • หลักไตรลักษณ์ – ลักษณะทั่วไป หรือสามัญลักษณะของสรรพสิ่ง 3 ประการ คือ
    • อนิจจตา ภาวะของความไม่เที่ยงไม่คงที่ เมื่อมีการเกิดขึ้นย่อมมีการสลายไป
    • ทุกขตา ภาวะที่ถูกบีบคั้น กัดดัน ฝืนและขัดแย้งในตัวเองเพราะการเปลี่ยนแปลง
    • อนัตตตา ภาวะไม่มีตัวตนแท้จริง

 

 

กระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ

 

ในการทำงานของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ นอกจากอาศัยหลักพุทธธรรมเป็นฐานคิดของการทำงานแล้ว หลักพุทธธรรมยังปรากฏอยู่ในรูปแบบของกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาด้วย รายละเอียดกระบวนการมีดังนี้

 

1. กระแสบุคคล (individual process) เป็นบทบาทของนักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธที่ใช้ในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย 3 ประบวนการ ได้แก่

  • การเชื่อมสมาน (tuning in) นักจิตวิทยาละทิ้งตนเองอย่างแท้จริงเพื่อรับรู้ปรากฏการณ์ที่อยู่ในจิตใจของผู้รับบริการ เป็นสภาวะจิตใจที่เปิดกว้าง โล่ง สงบ พร้อมนำตนเองไปเข้าเชื่อมสมานกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าหรือผู้รับบริการได้อย่างแนบสนิท สภาวะจิตใจนั้นเรียกว่า สมานัตตา
  • การพินิจรอยแยก (identify split) นักจิตวิทยาค้นหารอบแยกอันเป็นรากเหง้าของความทุกข์ที่อยู่ในใจของผู้รับบริการ โชรีช์ โพธิ์แก้ว สรุปรากเหง้าของความทุกข์คือ “ความคาดหวัง” เป็นรอยแยกของความปรารถนาของผู้รับบริการและความเป็นจริงในชีวิต นักจิตวิทยาการปรึกษาต้องฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อรับรู้ถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างความคาดหวังและเป็นความเป็นของผู้รับบริการ และใช้ทักษะของตนเอื้อให้ผู้รับบริการได้ตระหนักถึงความคาดหวังเป็นเหตุแห่งทุกข์
  • การประจักษ์แจ้ง (realization) นักจิตวิทยาอาศัยความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโลกและชีวิตสื่อให้ผู้รับบริการเข้าใจในความจริงของธรรมชาติ คลี่คลายปัญหาที่อยู่ในใจ ให้ผู้รับบริการได้คอยสังเกตและพิจารณาความเข้าใจนั้นอย่างมีสติและสมาธิ จนผู้รับบริการเกิดปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต

 

2. กระแสกลุ่ม (group process) เป็นบทบาทของนักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธในฐานของผู้นำกลุ่ม เป็นกระบวนการที่ทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวหรือดำเนินไปอย่างกลมกลืนสอดคล้องกัน และสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการทำงาน แบ่งได้เป็น 4 ประการ ได้แก่

  • การเอื้อให้เปิดเผยตนเอง (Facilitate disclosure) ผู้นำกลุ่มเอื้ออำนวยให้สมาชิดได้เล่าเรื่องราวหรือประสบการณ์ของตนเอง โดยเรื่องนั้นเหล่านั้นจะเป็นประเด็นในการทำความเข้าใจ ศึกษาตนเอง และเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิก
  • การเอื้อให้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน (facilitate interaction) ผู้นำกลุ่มเอื้ออำนวยให้สมาชิกได้แบ่งปันความรู้สึกหรือใส่ใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความรู้สึกผูกพันเป็นกลุ่มมากขึ้น
  • การเอื้อให้เกิดความงอกงาม (facilitate growth) ผู้นำกลุ่มเอื้ออำนวยสมาชิกให้ขยายทัศนะ ความคิด ความรู้สึกผ่านเรื่องราวหรือประเด็นที่สมาชิกเล่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น รับรู้ถึงสิ่งดีงามที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวที่สมาชิกเล่า เพื่อให้มีกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป
  • การเอื้อให้เกิดการแก้ปัญหา (Facilitate problem solving) ผู้นำกลุ่มเอื้ออำนวยให้สมาชิกร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในใจ โดยอาศัยแผนที่ของหลักอริยสัจ 4 เพื่อให้สมาชิกเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโลกและชีวิต

 

การพัฒนานักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ

 

ในกระบวนการเรียนการสอน นักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธต้องฝึกฝนปฏิบัติต่อเนื่องยาวนาน ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้สอน ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรที่มีความเข้าใจในหลักพุทธธรรมด้วย และในกระบวนการฝึกฝนพัฒนาตนเอง การสังเกตพิจารณาตนเอง (contemplative approach) เป็นกระบวนการสำคัญ การทำความเข้าใจหลักพุทธธรรมข้องพิจารณาผ่านการดำเนินชีวิตจริงของตนเอง นอกจากนี้ นักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธต้องพัฒนาทางด้านจิตใจ (spiritual development) ให้เกิดความสงบผ่านการภาวนาและเจริญสติ การสังเกตตนเองจะช่วยให้เท่าทันต่อความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ของตนเอง จิตใจสงบนิ่งพร้อมรับรู้และเชื่อมสมานกับผู้รับบริการเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแนบสนิท

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“กระบวนการนิเทศแบบกลุ่มตามโมเดลการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ: การวิจัยแบบสร้างทฤษฎีจากข้อมูล” โดย วรัญญู กองชัยมงคล (2558) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/49795

 

ภาพประกอบ https://unsplash.com/photos/BP-Q-Z0Ua9Y

Share this content