Causal attribution styles – รูปแบบการอนุมานสาเหตุ

10 May 2019

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

รูปแบบการอนุมานสาเหตุ หมายถึง รูปแบบที่บุคคลใช้ในการอนุมานสาเหตุในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งมีด้วยการ 8 รูปแบบ จากมิติ 3 มิติ ดังนี้

 

  • มิติที่มาของสาเหตุ…….ภายใน Vs ภายนอก
  • มิติความคงทนของสาเหตุ…….คงทน Vs ไม่คงทน
  • มิติการแผ่ขยายของสาเหตุ…….ทั่วไป Vs เฉพาะเจาะจง

 

ตัวอย่าง สถานการณ์…ผู้หญิงถูกคนรักปฏิเสธ

 

  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายใน” มองว่า “คงทน” และ “ทั่วไป” จะอนุมานสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “ฉันขาดเสน่ห์ดึงดูดใจเพศชาย”
  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายใน” มองว่า “คงทน” และ “เฉพาะเจาะจง” จะอนุมานว่าสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “ฉันขาดเสน่ห์ดึงดูดเขา”
  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายใน” มองว่า “ไม่คงทน” และ “ทั่วไป” จะอนุมาณสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “บางครั้งบทสนทนาของฉันคงทำให้เพศชายเบื่อ”
  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายใน” มองว่า “ไม่คงทน” และ “เฉพาะเจาะจง” จะอนุมาณสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “บางครั้งบทสนทนาของฉันทำให้เขาเบื่อ”
  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายนอก” มองว่า “คงทน” และ “ทั่วไป” จะอนุมานสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “เพศชายรู้สึกว่าถูกเปรียบเทียบเมื่ออยู่กับผู้หญิงที่ฉลาดกว่า”
  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายนอก” มองว่า “คงทน” และ “เฉพาะเจาะจง” จะอนุมานว่าสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “เขารู้สึกเปรียบเทียบเมื่ออยู่กับฉัน”
  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายนอก” มองว่า “ไม่คงทน” และ “ทั่วไป” จะอนุมาณสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “บางครั้งเพศชายอาจจะมีอารมณ์เพิกเฉย”
  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายนอก” มองว่า “ไม่คงทน” และ “เฉพาะเจาะจง” จะอนุมาณสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “เขามีอารมณ์เพิกเฉยในตอนนี้”

 

รูปแบบการอนุมานสาเหตุนั้นพัฒนามาตั้งแต่บุคคลอยู่ในวัยเด็ก หนึ่งในที่มาของรูปแบบการอนุมานสาเหตุที่สำคัญมาจากการสังเกตบุคคลรอบตัว โดยเฉพาะแม่หรือบุคคลที่คอยเลี้ยงดูเด็ก เพราะเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบุคคลเหล่านั้น และจะคอยสังเกตและจดจำว่าในสถานการณ์รูปแบบต่างๆ คนเหล่านั้นอนุมานสาเหตุเกี่ยวกับสถานการณ์นั้นในรูปแบบใด

 

นอกจากนี้อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลสำคัญต่อรูปแบบการอนุมานสาเหตุ ได้แก่ การตอบสนอง เช่น คำวิจารณ์และคำชมเชยของครูที่ให้กับเด็กเมื่อเด็กนั้นประสบความสำเร็จหรือประสบความล้มเหลว การที่ครูชมเชยหรือวิจารณ์ว่าผลงานที่เด็กได้ทำไปนั้นเป็นผลมาจากอะไร จะทำให้เด็กซึมซับรูปแบบการอนุมานสาเหตุนั้นไปใช้ต่อไป

 

ปัจจัยสุดท้ายคือ เหตุการณ์วิกฤต หรือเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชีวิตในวัยเด็ก จะส่งผลต่อรูปแบบการอนุมานสาเหตุของเด็กได้เช่นเดียวกัน เช่น การที่เด็กประสบกับความสูญเสียที่มาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาจจะทำให้เด็กเรียนรู้ว่าตนไม่สามารถทำสิ่งใดกับเหตุการณ์เลวร้ายอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งตนไม่สามารถบังคับให้เกิดหรือไม่เกิดได้

 

 

“การมองโลก” และรูปแบบการอนุมานสาเหตุ


 

รูปแบบการอนุมานสาเหตุสามารถใช้ทดสอบว่าบุคคลมองโลกในแง่ดี (optimism) หรือแง่ร้าย (pessimist) ได้

 

กล่าวคือ ในสถานการณ์ทางทางลบหรือสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สบายใจ บุคคลที่มองโลกในแง่ดีจะอธิบายสาเหตุของสถานการณ์นั้นว่า เกิดจากภายนอก จะเกิดเพียงชั่วคราว และจะไม่แผ่ขยายไปยังสถานการณ์อื่น ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่มองโลกในแง่ร้ายจะอธิบายสาเหตุของสถานการณ์นั้นว่าเกิดจากภายใน เกิดขึ้นอย่างถาวร และแผ่ขยายไปยังสถานณ์อื่น ๆ

 

และในทางกลับกัน ในสถานการณ์ทางบวกหรือสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกดี บุคคลที่มองโลกในแง่ดีจะอธิบายถึงสาเหตุของสถานการณ์นั้นว่า เกิดจากภายใน เกิดขึ้นอย่างถาวร และจะแผ่ขยายไปยังสถานการณ์อื่น ๆ ส่วนบุคคลที่มองโลกในแง่ร้ายจะอธิบายสาเหตุของสถานการณ์นั้นว่าเกิดจากภายนอก จะเกิดเพียงชั่วคราว และจะไม่แผ่ขยายไปยังสถานการณ์อื่น

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“อิทธิพลของรูปแบบความผูกพันต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ โดยมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุและรูปแบบการอนุมานความรับผิดชอบเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย พงศ์มนัส บุศยประทีป (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/30151

 

Share this content