จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกพัฒนาการช้าหรือไม่

19 Nov 2022

คุณณัฎฐภรณ์ ขุนไชย

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกพัฒนาการช้าหรือไม่ ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกับคำว่าพัฒนาการเสียก่อน

 

พัฒนาการ คือ การเปลี่ยนแปลงด้านการทำหน้าที่ (Function) และวุฒิภาวะ (maturation) ของอวัยวะต่าง ๆ เมื่อเวลาผ่านไปตัวบุคคลสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำสิ่งที่ยากและสลับซับซ้อนได้มากขึ้น ตลอดจนมีการเพิ่มทักษะใหม่ ๆ รวมทั้งมีความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมหรือสภาวะใหม่ในบริบทของครอบครัวและสังคม

 

พัฒนาการนั้นเป็นสิ่งที่คงที่แน่นอน พัฒนาการมนุษย์เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องตั้งแต่ปฏิสนธิดำเนินไปตลอดชีวิต ซึ่งพัฒนาการของแต่ละบุคคลจะมีลำดับขั้นตอนการพัฒนาในลักษณะเดียวกัน แต่อัตราและระยะเวลาในการผ่านขั้นตอนต่าง ๆ อาจแตกต่างกัน และพัฒนาการจะมีการเปลี่ยนแปลงที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจากพัฒนาการนี้ พัฒนาการที่ต้องทำได้ต่อไปคืออะไร เช่น เด็กแรกเกิดจากนอนหงาย เริ่มชันคอได้ เริ่มยกอกได้ในท่านอนคว่ำ จากนั้นจะพลิกคว่ำได้เอง

 

กล่าวโดยสรุปคือ พัฒนาการของเด็กทุกคนมีลำดับที่เหมือนกัน และพัฒนาไปตามขั้นตอน ดังนั้นผู้ปกครองอย่าคาดหวังว่าลูกจะพัฒนากระโดดข้ามพัฒนาการในแต่ละขั้นตอน ควรให้เด็กพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละขั้นตอน ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนาแตกต่างกัน ไม่ควรเปรียบเทียบเด็กแต่ละคน

 

Flat design stages of a baby boy set

 

ต่อไปเรามาดูว่าพัฒนาการเด็กประกอบด้วยด้านใดบ้างเพื่อการส่งเสริมอย่างรอบด้าน ไม่ควรให้ความสำคัญด้านใดด้านหนึ่ง

 

 

พัฒนาการของเด็กประกอบด้วย


 

1. พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การทรงตัว เช่น การนั่ง ยืน เดิน กระโดด วิ่ง

 

2. พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก กิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การใช้กรรไกรตัดกระดาษการพับตามรอยพับ การทำงานประสานกันระหว่างมือและสายตา การใช้ช้อนตักข้าว

 

3. พัฒนาการด้านภาษาภาษา ภาษาเปรียบเหมือนรหัสที่คนในสังคมใช้ร่วมกันเป็นระบบหรือเป็นสิ่งที่แทนความคิดของคนโดยการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่สร้างโดยเจ้าของภาษา มีกฎเกณฑ์หรือมีไวยากรณ์ที่ควบคุมกำหนดใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ พัฒนาการทางภาษาพัฒนาการด้านภาษาสามารถแบ่งออก 2 ด้าน คือ (1) ความสามารถในการเข้าใจภาษา receptive language และ (2) ความสามารถในการใช้ภาษา expressive language

  • ความเข้าใจภาษา receptive language เช่น ชี้ภาพในหนังสือเมื่อบอกให้ทำตามคำสั่งได้
  • การใช้ภาษา expressive language เช่น สามารถบอกชื่อตัวเอง บอกชื่อคนภายในครอบครัว บอกชื่อเพื่อน บอกความต้องการ บอกความรู้สึก โดยใช้คำพูด

 

4. พัฒนาการด้านสติปัญญา เช่น ความคิดรวบยอด การใช้เหตุผล ยกตัวอย่างเช่น สามารถจับคู่เสียงกับรูปภาพสัตว์ได้ สามารถบอกได้ว่าตัวเองชอบภาพไหน จับคู่ภาพกับการกระทำได้ เปรียบเทียบเล็กกว่า-ใหญ่กว่า สั้น-ยาวได้ ความเข้าใจจำนวน จำแนกประเภทได้

 

5. พัฒนาการด้านอารมณ์สังคม บอกความรู้สึก เข้าใจอารมณ์ตนเอง อิจฉา ภูมิใจ อาย และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การสร้างมิตรภาพระหว่างเพื่อน การเริ่มเล่นกับผู้อื่น

 

6. พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเอง เด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียนจะมีความพึงพอใจที่ได้จัดการกับร่างกายของตนเอง รวมทั้งมีความเป็นตัวของตัวเองสูง และเป็นช่วงที่เด็กจะพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นผู้ปกครองควรมีความอดทนในการรอและให้โอกาสเด็กในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง ช่วงแรก ๆ อาจมีถูกบ้างผิดบ้าง ควรให้โอกาสเด็กได้ทำและเรียนรู้

 

 

Students with kindergarten room elements on white

 

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น พัฒนาการทั้ง 6 ด้านในแต่ละบุคคลจะมีลำดับขั้นตอนที่เหมือนกันแต่จะมีอัตราเร็วช้าต่างกัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ประเมินพัฒนาการลูกเบื้องต้นได้จากข้อมูลพัฒนาการในแต่ละวัย พัฒนาการในแต่ละด้านควรทำอะไรได้บ้าง อาจเช็คจากสมุดวัคซีนของลูก เมื่อพบว่าลูกของเรามีพัฒนาการที่แตกต่างไปจากวัยที่เด็กส่วนใหญ่ควรทำได้แล้ว เช่น เมื่อลูกอายุ 15 เดือนลูกเดินทรงตัวโดยไม่ต้องช่วยจับยังไม่ได้ หรือเมื่อลูกอายุ 2 ขวบแต่ยังไม่มีภาษา ไม่สามารถสื่อความหมายหรือพูดคำที่มีความหมายได้เลย

 

เมื่อพบว่าพัฒนาการของลูกไม่เป็นไปตามพัฒนาการในแต่ละวัย ควรรีบไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เพราะอาจส่งผลกระทบกับพัฒนาการในขั้นต่อ ๆ ไป

 

 

 

ยกตัวอย่าง พัฒนาการของเด็ก 2 -3 ปี
พัฒนาการ
ทำได้
ทำไม่ได้
ต่อบล็อกไม้ซ้อนกัน  6  ชั้น
ขีดเส้นตรงได้
ชี้ภาพในหนังสือได้ถูกต้องเมื่อถามเป็นกริยาท่าทาง หรือหน้าที่สิ่งของ เช่น  ใครกำลังวิ่ง
ชี้เครื่องแต่งกายตามคำบอกได้ 3 อย่าง เช่น เสื้อ กางเกง รองเท้า
เข้าใจหน้าที่ของสิ่งของ เช่นแก้วไว้ใส่น้ำดื่ม
เข้าใจจำนวนความหมายว่า 1
บอกชื่อตนเองได้
บอกความต้องการ ใช้ภาษาพูดมากว่าท่าทาง
ตอบคำถาม อะไร ที่ไหน ได้
การพูดชัดเจนพอที่ทำให้คนคุ้นเคยฟังเข้าใจร้อยละ 75
รู้จักอวัยวะ 6 ส่วน
สามารภจับคู่เสียงร้องของสัตว์ได้
จับคู่ภาพกับวัตถุจริงได้
ใช้ช้อนในการรับประทานอาหารได้
ใส่และถอดเสื้อผ้าเองได้

 

 

จากตารางเป็นตัวอย่างของพัฒนาการเด็กในช่วงวัย 2-3 ปี นั่นคือ เมื่ออายุอยู่ในช่วง 2 ปี ยังทำไม่ได้ทุกข้อ คุณพ่อคุณแม่ส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสในการลงมือทำ แต่เมื่ออายุถึง 3 ปี ต้องทำได้ทุกข้อ หากยังทำไม่ได้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อการสร้างเสริมพัฒนาการได้อย่างถูกต้อง

 

 

 


 

 

บทความโดย

 

คุณณัฎฐภรณ์ ขุนไชย

นักจิตวิทยา ประจำศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Share this content