ผลดีรอบด้านของการสนับสนุนอารมณ์ให้กับเด็กๆ

20 Jan 2020

อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี

 

การสนับสนุนทางอารมณ์ให้กับเด็ก ๆ คือการช่วยสนับสนุนให้เด็กรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง รวมถึงการบอกวิธีในการรับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้ในบทความ “การสนับสนุนทางอารมณ์ให้เด็ก ๆ”

 

ไม่เพียงแค่ในสถานการณ์ที่คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้เลี้ยงดูอยากให้เด็กๆ มีอารมณ์ที่รุนแรงน้อยลงเพื่อที่จะฟังเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ควรตอบสนองต่ออารมณ์ในแบบนั้นเท่านั้น การสนับสนุนทางอารมณ์ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากหากเราหมั่นสนับสนุนทางอารมณ์ให้กับเด็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอ

 

ข้อดีประการแรกคือ เด็กจะเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นของตัวเองได้ไวกว่าเด็กที่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์ แม้ว่าอารมณ์มีหลากหลายแบบอย่าง โกรธ ดีใจ เสียใจ อิจฉา พึงพอใจ และอื่นๆ อีกมาก ทำให้บางครั้งเด็กอาจจะไม่รู้จักว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเรียกว่าอะไร แต่อย่างน้อยที่สุดการที่เด็กรู้ตัวว่ากำลังอารมณ์ดีหรืออารมณ์เสียก็มีประโยชน์กับตัวเด็กแล้วในการเข้าใจอารมณ์ของตนเอง ส่วนการแยกแยะนั้น อาจเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะสนับสนุนด้วยการตั้งคำถาม หรือแม้แต่การสอนให้รู้ว่าอารมณ์นั้นคืออะไรด้วยการบอก และเมื่อเด็กเข้าใจว่าอารมณ์ของตัวเองกำลังเป็นอย่างไรได้ไว แทนที่จะเด็กจะมีพฤติกรรมตอบสนองต่ออารมณ์โดยอัตโนมัติในแบบที่ไม่สมควร เช่น โมโห ก็ร้องไห้ โวยวาย ตีคนที่ตัวเองไม่พอใจ การที่มีผู้ใหญ่คอยสนับสนุนด้วยการบอกว่าหากมีอารมณ์แบบไหน ต้องทำอย่างไร เมื่อเด็กรู้แล้วว่าตนเองมีอารมณ์อะไรอยู่ เด็กจะได้นำทางเลือก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมกว่ามาตอบสนองแทน เช่น โกรธก็บอกกับอีกฝ่ายดีๆ ว่ากำลังโกรธ ไม่พอใจ หรือนับเลขเพื่อให้อารมณ์ของตนเองเย็นลง

 

การที่เด็กตอบสนองอย่างเหมาะสมทำให้เกิดข้อดีต่อมาคือ เด็กจะสร้างความสัมพันธ์ในสังคมได้ดีกว่า เข้าหาเพื่อนได้ง่ายกว่า เพราะการตอบสนองที่เหมาะสมทำให้บุคคลรอบตัวมีแนวโน้มที่จะพอใจกว่า และชื่นชอบเด็กคนนั้นมากกว่า เช่น ถ้าเด็กเห็นของเล่นของเพื่อน แล้วอิจฉา อยากเข้าไปเล่นมาก ๆ อยากได้เป็นของตัวเอง หากเด็กไม่รู้เท่าทันและมีพฤติกรรมตอบสนองไปทันที เช่น เข้าไปแย่งของเล่นของเด็กคนอื่นทันที หรือร้องไห้ว่าต้องการบ้าง เด็กๆ และบุคคลรอบตัวก็อาจจะรู้สึกไม่ดี แต่ถ้าเด็กรู้เท่าทันว่าตนเองกำลังมีอารมณ์อย่างไร รู้ว่าตนเองอิจฉา อยากได้ของเล่น และถ้าอยากได้อาจจะไปขอเพื่อนเล่นดี ๆ ถ้าเพื่อนไม่ให้ เด็กอาจจะโกรธ แต่เมื่อเด็กเท่าทัน เด็กก็จะไม่ตอบสนองด้วยการงอแงหรือก้าวร้าว แต่อาจจะเป็นการไปบอกคุณครูหรือพ่อแม่ว่าอยากมีของเล่นแบบนั้นบ้าง หรือไปชวนเพื่อนคนอื่นเล่นอย่างอื่นแทน สิ่งเหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับสังคมนั้นราบรื่นกว่า

 

ข้อดีประการถัดไป การที่เด็กที่เข้าใจอารมณ์ของตนเองนั้น จะเป็นพื้นฐานในการเข้าใจผู้อื่นที่อยู่ในสภาวะอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน รวมถึงการมีความเห็นอกเห็นใจ และมีความร่วมรู้สึกกับคนนั้น ๆ เพราะตนเองก็เคยประสบอารมณ์ดังกล่าวมาแล้ว และรู้ว่าเป็นอย่างไร สุขหรือทุกข์ใจอย่างไร เช่น เด็กเห็นเด็กคนอื่นร้องไห้ เด็กก็จะเห็นอกเห็นใจ หรือร่วมรู้สึกว่าเด็กคนนั้นคงกำลังเสียใจ และรู้สึกไม่ดี เพราะตอนตัวเองร้องไห้ ตนเองก็รู้สึกแบบนั้น

 

เมื่อเด็กเข้าใจอารมณ์ของบุคคลอื่น เด็กอาจจะตอบสนองกับบุคคลที่อยู่ในอารมณ์ต่างๆ ได้ดีกว่า เช่น ถ้ารู้ว่าเพื่อนโกรธ พอเด็กเข้าใจอารมณ์เพื่อน เด็กอาจจะหยุดหยอกแกล้ง หรืออาจจะพยายามเอาใจ และนี่ยิ่งเป็นการทำให้เด็กสานความสัมพันธ์ รวมถึงรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ รอบตัวได้ดีกว่า

 

ข้อดีประการสุดท้ายคือข้อดีต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว จากการสอนลูก ๆ และเด็ก ๆ ให้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง ตัวคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้เลี้ยงที่เป็นคนสอนเองก็อาจจะได้ฉุกคิดเช่นกัน เวลาที่ตนเองมีอารมณ์ที่เข้มข้นรุนแรง เช่น ตอนโกรธมาก ๆ ให้รู้และเท่าทันตนเองว่าไม่ควรจะไปพูดกระแทกเสียงใส่คนอื่นๆ ในบ้าน เพราะว่าเคยสอนลูกแบบนั้น ก็ควรจะทำตามให้สอดคล้องเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ๆ

 

นอกจากนี้ในขั้นตอนของการสนับสนุนทางอารมณ์ เด็กจะตระหนักว่าพ่อแม่เข้าใจว่าตนเองมีอารมณ์อย่างไร ทำให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่ยอมรับตนไม่ว่าตนจะมีอารมณ์อย่างไรก็แล้วแต่ ในอนาคตเมื่อเด็กโตขึ้นเป็นวัยรุ่น เด็กที่ได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์มักจะเข้าหาพ่อแม่ เพื่อปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ของชีวิต แตกต่างจากวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่มักจะเก็บเรื่องอารมณ์จากพ่อแม่ และไปปรึกษาและระบายกับเพื่อน ๆ เท่านั้น ข้อดีนี้ทำให้ครอบครัวรู้ว่าบุตรหลานของตนกำลังเครียด หรือเศร้ากับเรื่องใดหรือไม่ และจะได้ตอบสนองต่อวัยที่หุนหันพลันแล่นได้อย่างเหมาะสม หรือช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหากไปเจอกับปัญหาใหญ่ ๆ ในชีวิต

 

การสนับสนุนทางอารมณ์จึงเป็นสิ่งที่น่านำไปใช้ เพื่อเด็กๆ และผู้เลี้ยงดู เพราะมีข้อดีในระยะยาวกับทั้งตัวเด็กและคนอื่น ๆ ในครอบครัว

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Share this content