: สรุปงานวิจัยที่ว่าด้วยเรื่องการหย่าร้างและการปรับตัวของเด็กเล็ก
ใครหลาย ๆ คน ย่อมวาดฝันถึงการมีครอบครัวที่มีความสุข มีพ่อ แม่ และลูกน้อยที่เข้ามาเติมเต็มความเป็นครอบครัวในอุดมคติ แต่บางทีเมื่อวันเวลาผ่านไป ก็อาจมีปัจจัยหลาย ๆ ประการที่ไม่เป็นใจ ทำให้ความความสัมพันธ์ฉันท์คู่รักมีรอยร้าว บางครอบครัวเริ่มมีความบาดหมาง ไม่เข้าใจกันจนนำไปสู่ความคิดเรื่องการหย่าร้าง หรือแยกกันอยู่ คำถามที่ผุดขึ้นตามมาสำหรับบ้านที่มีลูกน้อย ก็คงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า “แล้วลูกของเราล่ะ จะเป็นอย่างไร”
ด้วยสังคมมักตีตราการหย่าร้างว่าเป็นต้นตอของปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชน เด็กที่พ่อแม่หย่าร้าง ได้ชื่อว่าเป็นเด็กบ้านแตก เด็กมีปัญหา ซึ่งในทางจิตวิทยาพัฒนาการถือว่าแนวคิดเช่นนี้เป็นการด่วนสรุปและเหมารวมจนเกินไป
เพราะการหย่าร้างไม่ได้นำไปสู่ปัญหาของเด็กไปเสียทั้งหมด มีปัจจัยและบริบทแวดล้อมตัวเด็กอีกหลายแง่มุมที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจและวางแผนหลังการหย่าร้าง เป้าหมายที่สำคัญที่สุดก็คือ จะทำอย่างไรให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดี แม้ในภาวะที่สถานการณ์ในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป จะส่งเสริมกระบวนการในการปรับตัวของลูกกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยสามารถพิจารณาจากหลาย ๆ ประเด็นร่วมกันดังต่อไปนี้
1. ผู้เลี้ยงดู
ก่อนที่เราจะคุยกันถึงเรื่องการหย่าร้าง เราต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ในทางจิตวิทยา คำว่าผู้เลี้ยงดู (caregiver) ในที่นี้หมายถึง พ่อ แม่ สมาชิกในครอบครัว พี่เลี้ยง หรือบุคคลใดก็ได้ ที่ให้เวลาแก่เด็กในการเลี้ยงดู ให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก ดังนั้นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการเติบโตของเด็ก อาจไม่ใช่เพียงผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อหรือแม่จากทางสายเลือดเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ แม่ มักจะเป็นผู้เลี้ยงดูหลักของเด็ก แต่ก็ต้องคำนึงเสมอว่า ปัจจัยของแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ต้องดูตามแต่สถานการณ์ของแต่ละบ้านที่ต่างกันออกไป
2. คุณภาพของผู้เลี้ยงดู
คุณภาพของการเลี้ยงดูนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดต่อคุณภาพชีวิตของเด็ก กล่าวคือ เด็กมีบ้านที่พ่อแม่อยู่ด้วยกันครบ แต่พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดูลูกอย่างมีคุณภาพ เช่น ปล่อยปะละเลย ไม่มีการฝึกวินัยให้แก่เด็ก หรือ แสดงความก้าวร้าวรุนแรงภายในครอบครัว มีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหามากกว่าเด็กที่โตมาในบ้านที่เป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่น และใส่ใจในการเติบโตของเด็กเสียอีก หลายคนมีความกังวลว่าเด็กที่เติบโตมากับพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหา ความเชื่อนี้จึงไม่เป็นจริงเสมอไป หลายคนยังมีความกังวลอีกว่า เด็กที่โตมาแล้วขาดพ่อหรือขาดแม่ จะเป็นเด็กมีปัญหาทางด้านตัวตนทางเพศ ซึ่งไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน เนื่องจากในการเติบโตของมนุษย์ทุกคนย่อมมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นนอกเหนือจากพ่อแม่ของตน เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย น้า อา ครู เพื่อนบ้าน ซึ่งบุคคลเหล่านี้สามารถเป็นตัวแบบในการเรียนรู้บทบาททางเพศและบทบาทต่าง ๆ ในสังคมได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในการเลือกว่าเด็กควรจะอยู่กับใครเมื่อมีการหย่าร้าง ก็ต้องพิจารณาว่าใครเป็นผู้เลี้ยงดูหลักของเด็ก และใครที่เป็นผู้ที่สามารถเลี้ยงลูกได้อย่างมีคุณภาพ
3. แบ่งกัน 50:50
ปัจจุบันมีแนวคิดเรื่องการแบ่งเวลาของพ่อและแม่ในการเป็นผู้เลี้ยงดูเป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง 50:50 เช่น อยู่บ้านพ่อ 3 คืน บ้านแม่ 3 คืน เป็นต้น แนวคิดนี้ในเบื้องต้นนั้นดูมีความยุติธรรมดี แต่เมื่อคำนึงถึงปัจจัยในเรื่องคุณภาพการเลี้ยงดู และความพร้อมของแต่ละบุคคล แนวคิดนี้อาจจะไม่เหมาะสมกับทุกบ้าน ควรพิจารณาสัดส่วนการเลี้ยงดูที่เกิดขึ้นจริงในช่วงก่อนการแยกกัน ถ้าโดยปกติทั้งพ่อและแม่มีส่วนในการเลี้ยงดูลูกพอ ๆ กัน แนวคิดของการแบ่งกันคนละครึ่งก็น่าจะเหมาะสม แต่ทั้งนี้อาจยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเช่น การเดินทางระหว่างสองบ้าน เวลาที่สะดวกของพ่อแม่ ควรเน้นที่คุณภาพชีวิตของลูกเป็นหลัก หากลูกสามารถพูดสื่อสารได้แล้ว ก็ควรฟังความต้องการของลูกเป็นสำคัญ
4. ระดับความขัดแย้งของพ่อแม่
หากการหย่าร้างเป็นไปอย่างราบรื่น การพูดจาตกลงกันเรื่องการวางแผนเลี้ยงลูกก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เด็กมักจะปรับตัวต่อการหย่าร้างได้ดีในกรณีที่พ่อแม่ร่วมกันดูแลลูก หรือในกรณีที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้เลี้ยงดูหลัก แต่มีอีกฝ่ายที่สามารถไปมาหาสู่ พาลูกไปทำกิจกรรมร่วมกันได้ ก็จะยังให้ผลที่ดีต่อตัวเด็ก (Adamsons & Johnson, 2013) แต่มีพ่อแม่หลายคู่ที่จบความสัมพันธ์กันโดยยังมีความขัดแย้ง ซึ่งมีหลายระดับ ตั้งแต่ ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ช่วยเลี้ยงลูก พูดถึงกันในแง่ร้ายให้ลูกฟัง กระทำรุนแรงทางกาย ไปจนถึง มีการฟ้องร้องกันทางกฎหมาย ความขัดแย้งเหล่านี้ส่งผลต่อการปรับตัวของเด็กในการหย่าร้าง เช่น ในกรณีที่มีฝ่ายหนึ่งทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายหนึ่ง การแยกตัวเด็กออกจากพ่อหรือแม่ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวจะเป็นผลดีต่อตัวเด็กมากกว่า (Mahrer, O’Hara, Sandler, & Wolchik, 2018)
5. การได้รับการสนับสนุนเงินค่าเลี้ยงดูและการสนับสนุนทางสังคมอื่น ๆ
ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะทั้งพ่อและแม่จะตัดสินใจร่วมกันเลี้ยงดูหลังการหย่าร้าง ผู้ที่รับผิดชอบเลี้ยงดูลูกเพียงลำพัง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเพศหญิง รายงานในงานวิจัยว่าตนประสบความลำบากอย่างมากในการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เนื่องจากต้องหารายได้เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของตนและลูก หากก่อนการหย่าร้างไม่เคยทำงานมาก่อนก็จะยิ่งต้องปรับตัวอย่างมาก ในบางรายทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ไม่ดีจนมีภาวะซึมเศร้าไม่สามารถดูแลและเป็นกำลังใจให้ลูกได้ (พวงเพ็ญ ชุณหปราณ, สุกัญญา แสงมุกข์, วาสินี วิเศษฤทธิ์, และ โสภี อุณรุท, 2543) การทำงานหารายได้ของแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้น เบียดบังเวลาของการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกไปอย่างมาก ต้องฝากลูกไว้กับผู้อื่น ซึ่งแน่นอนมีผลต่อคุณภาพการเลี้ยงดู เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กมีการปรับตัวหลังการหย่าร้างได้ แม่เลี้ยงเดี่ยวควรได้รับการช่วยเหลือเงินค่าเลี้ยงดูทั้งจากอดีตคนรัก และจากครอบครัว รวมถึงการสนับสนุนด้านอื่น ๆ เช่น การช่วยเลี้ยงเด็ก การให้ที่อยู่อาศัย การให้กำลังใจ เพื่อให้ทั้งแม่เลี้ยงเดี่ยวและเด็กสามารถตั้งหลักกับการเปลี่ยนแปลงไปได้
6. อายุของลูก
ทารกในวัย 0-2 ปี จะเป็นช่วงของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ที่เด็กมีต่อผู้เลี้ยงดู เป็นพัฒนาการตามปกติที่ทารกในวัยนี้จะแสดงอาการงอแงกลัวการแยกจาก (separation anxiety) เพราะเป็นช่วงของการเรียนรู้ เมื่อผ่านช่วงพัฒนาการนี้ไปได้ เด็กจะเรียนรู้ว่าเมื่อผู้เลี้ยงดูออกนอกบ้านแล้วก็จะกลับมาหา เด็กเล็ก ๆ จะรู้สึกอุ่นใจและรู้สึกปลอดภัยที่ได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู ดังนั้นหากเกิดการหย่าร้างในขณะที่ลูกเป็นวัยทารก ครอบครัวควรวางแผนให้ดี กำหนดให้ชัดว่าใครเป็นผู้เลี้ยงดูหลัก ให้เด็กยังรู้สึกว่าได้รับการดูแลและความรัก ไม่ทอดทิ้ง
หากเป็นเด็กวัยเตาะแตะอายุประมาณ 2-4 ปี เด็กวัยนี้กำลังต้องการเรียนรู้ที่จะทำอะไรได้ด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีพัฒนาการในทุกด้านมากขึ้น เริ่มพูดสื่อสาร ร่างกายพัฒนาสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างใจ เริ่มอยากทดลองทำอะไรด้วยตัวเองซึ่งอาจเสี่ยงอุบัติเหตุ และยังอยู่ในระหว่างกันเรียนรู้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในบ้านและในสังคม เช่น เวลากินเวลานอน การรอคิว การขอโทษ การขอบคุณ เป็นต้น เด็กวัยนี้ต้องการผู้ดูแลที่คอยช่วยส่งเสริม คอยบอกตักเตือนว่าอะไรควรไม่ควร และคอยให้กำลังใจ เป็นงานที่ท้าทายสำหรับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หากมีคนในครอบครัวหรือพี่เลี้ยงมาช่วย ก็จะช่วยให้ทั้งพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวและเด็กปรับตัวได้ดีขึ้น และในกรณีที่การหย่าร้างและแยกกันอยู่เกิดขึ้นเมื่อลูกอยู่ในวัยเรียน วัยที่เริ่มมีการเข้าสังคม การย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียน ก็เป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรองและวางแผนร่วมกันให้ดี การเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น ย้ายไปอยู่ที่ที่ไม่คุ้นเคย ต้องปรับตัวเข้ากับผู้คนและสังคมใหม่ อาจทำให้การปรับตัวของเด็กต่อการหย่าร้างยิ่งยากขึ้น
สุดท้ายนี้อยากขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคน เชื่อว่าก่อนที่จะตัดสินใจหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ ทั้งคู่ได้พยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะรักษาความสัมพันธ์ แม้ในที่สุดทั้งสองจะไม่ได้อยู่ด้วยกันในฐานะของคนรัก แต่ขอให้หันหน้าเข้าหากันในฐานะของพ่อแม่ ที่ช่วยกันให้ลูกสามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ จากงานวิจัยของ Van der Wal, Finkenauer, และ Visser (2019) ที่ติดตามพัฒนาการของเด็กภายหลังการหย่าร้าง ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ แน่นอนว่าเด็กมีความรู้สึกลบกับการหย่าร้างของพ่อแม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเด็กก็มีกระบวนการปรับตัวยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะในบ้านที่พ่อแม่ยังร่วมกันดูแลลูก ในงานวิจัยของไทย ก็พบเช่นกันว่าในที่สุดเด็กก็จะมีพลวัตของการปรับตัวไปในจุดที่เข้าใจว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเป็นบทเรียนซึ่งเป็นความจริงของชีวิต (ระวิวรรณ ธรณี, รุ่งนภา เทพภาพ, และ อำไพ หมื่นสิทธิ์, 2551)
รายการอ้างอิง
พวงเพ็ญ ชุณหปราณ, สุกัญญา แสงมุกข์, วาสินี วิเศษฤทธิ์, และ โสภี อุณรุท (2543). การปรับตัวของสตรีที่เลี้ยงดูบุตรตามลำพังในชุมชนเมือง กรุงเทพมหานคร (รายงานผลการวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.
ระวิวรรณ ธรณี, รุ่งนภา เทพภาพ, และ อำไพ หมื่นสิทธิ์ (2551). พลวัตการปรับตัวและการดำรงตนของบุตรในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้าง (รายงานผลการวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์). มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, กรุงเทพมหานคร.
Adamsons, K., & Johnson, S. K. (2013). An updated and expanded meta-analysis of nonresident fathering and child well-being. Journal of Family Psychology, 27(4), 589 – 599.
Mahrer, N. E., O’Hara, K. L., Sandler, I. N., & Wolchik, S. A. (2018). Does shared parenting help or hurt children in high-conflict divorced families? Journal of Divorce & Remarriage, 59(4), 324-347. doi: 10.1080/10502556.2018.1454200
Van der Wal, R. C., Finkenauer, C., & Visser, M. M. (2019). Reconciling mixed finding on children’s adjustment following high-conflict divorce. Journal of Child and Family Studies, 28, 468 – 478.
บทความวิชาการ
โดย อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University