โดยทั่วไปร่างกายมนุษย์จะมีวงจรประจำวันตามธรรมชาติ เปรียบเสมือนตารางเวลาสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ โดยวงจรดังกล่าวมีกำหนดที่ค่อนข้างตายตัว วงจรนี้เรียกว่า วงจรเซอร์คาเดียน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลจากหลาย ๆ ปัจจัยในธรรมชาติ เช่น แสงสว่าง ความมืด อาหารที่รับประทาน ระดับความดังของเสียง ระดับสารเคมีต่าง ๆ ร่างกาย และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
Czeisler และคณะ (1999) ศึกษาพบว่า มนุษย์ที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีร่างกายสมบูรณ์ปกติจะมีระยะวงจรเซอร์คาเดียนอยู่ที่ประมาณ 24 ชั่วโมง 11 นาที (+/- 6นาที) ซึ่งวงจรดังกลล่าวจะตั้งค่าตัวเองใหม่ในทุก ๆ วันตามวงจรการหมุนของโลก
ใน 24 ชั่วโมง กระบวนการทางกายภาพของร่างกายจะทำงานตามเวลาที่เหมาะสมของรูปแบบวงจรเซอร์คาเดียนในแต่ละบุคคล เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และอุณหภูมิในร่างกายจะอยู่ในระดับสูงเพื่อที่จะทำให้ร่างกายตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และในเวลากลางคืนกระบวนการทั้งหลายจะปรับลดระดับลงเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน เตรียมที่จะฟื้นตัวสำหรับเวลากลางวันของวันต่อไป
หากร่างกายและวงจรเซอร์คาเดียนทำงานในเวลาไม่สอดคล้องกัน สามารถส่งผลให้ร่างกายและจิตใจเกิดความผิดปกติ และอาจนำไปสู่สาเหตุของอาการป่วยต่าง ๆ เช่น ภาวะนอนหลับไม่เพียงพอ การนอนไม่หลับ หรือก่อให้เกิดความเครียดได้อีกด้วย
Alberni (2006) กล่าวว่ามนุษย์แต่ละคนมีระยะความยาวของวงจรเซอร์เดียนไม่เท่ากัน ซึ่งสามารถวัดรอบวงจรได้โดยการวัดในห้องระบบปิดที่ไม่มีสัญญาณจากภายนอกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเวลาภายในร่างกาย หรือที่เรียกว่า ไซจ์เบอร์ (Zeitgeber) จากนั้นให้สังเกตเวลาเข้านอน ตื่นนอน ที่ร่างกายเลือกเอง ก็จะทราบผลลัพธ์วงจรเซอร์คาเดียนของคนนั้น ๆ โดยในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไซจ์เบอร์จะช่วยในการปรับและตั้งค่าวงจรเซอร์คาเดียนให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอ
ประเภทของวงจรเซอร์คาเดียน
วงจรเซอร์คาเดียนสามารถควบคุมได้ด้วยแสงและอุณหภูมิ ทั้งนี้การควบคุมดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้โดยการรับการกระตุ้นจากแสงแดดผ่านทางเรตินาของตาไปยังสมองส่วน Suprachiasmatic Nucleus (SCN) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองอยู่ในไฮโปทาลามัส ทำหน้าที่เป็นระบบไวต่อแสง หรือไวต่อเวลากลางวันกลางคืน ภายใต้การควบคุมของยีนนาฬิกา (Clock genes) ที่กำหนดตารางเวลากิจกรรมของมนุษย์ให้มีความรู้สึกต่างๆ เช่น ความอยากอาหาร ความต้องการพักผ่อน ซึ่งยีนนาฬิกาทำให้วงจรเซอร์คาเดียนของมนุษย์แบ่งออกเป็น 3 ประเภทเวลา (Chronotype)
1. วงจรเซอร์คาเดียนประเภทเวลาเช้า
ผู้มีวงจรเซอร์คาเดียนประเภทเวลาเช้า คือ บุคคลที่ตื่นตัวและรู้สึกสดชื่นในเวลาเช้ามากกว่าในช่วงบ่ายหรือเวลาดึก ตัดสินได้จากการตื่นและเข้านอน หากมีการตื่นนอนเร็วกว่าเวลาตื่นนอนเฉลี่ยของประชากรทั้งหมด และเข้านอนอยู่ในระหว่างช่วงเวลา 20.00 น. ถึง 22.00 น. แสดงว่าบุคคลนั้นมีวงจรเซอร์คาเดียนประเภทนี้
2. วงจรเซอร์คาเดียนประเภทเวลาบ่าย
ผู้มีวงจรเซอร์คาเดียนประเภทเวลาบ่าย คือ บุคคลที่ตื่นตัวและรู้สึกสดชื่นในเวลาบ่ายหรือดึกมากกว่าในช่วงเช้า ตัดสินได้จากการตื่นและเข้านอนเช่นกัน หากมีการตื่นนอนช้ากว่าเวลาตื่นนอนเฉลี่ยของประชากรทั้งหมด และเข้านอนอยู่ในระหว่างช่วงเวลา 00.00 น. ถึง 02.00 น. แสดงว่าบุคคลนั้นมีวงจรเซอร์คาเดียนประเภทนี้
3. วงจรเซอร์คาเดียนประเภทเวลากึ่งกลาง
ผู้มีวงจรเซอร์คาเดียนประเภทเวลาแบบกึ่งกลางนี้เป็นบุคคลที่ไม่จัดอยู่ในบุคคล 2 ประเภทแรก ซึ่งบุคคลประเภทนี้มีจำนวนประมาณ 60-80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ประเภทของวงจรเซอร์คาเดียนนั้น นอกจากมีประโยชน์ทางด้านสุขภาพแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อการจัดบุคคลให้เหมาะกับการทำงานอีกด้วย มีการศึกษาพบว่าหากจับคู่บุคคลและลักษณะกะการทำงานได้เหมาะสม ก็จะทำให้บุคคลนั้นมีความอดทนต่อการทำงานเป็นกะได้มากขึ้น และมีสุขภาพจิตดีขึ้นอีกด้วย
ข้อมูลจาก
“อิทธิพลของวงจรเซอร์คาเดียนและเวลาการทำงานที่มีต่อสุขภาพจิตของพนักงานรักษาความปลอดภัย” โดย พิมพ์นฏา เวียงนนท์, ภัสสร สิทธินววิธ และ ลินดา คูเวน (2555) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44192