Clubhouse: พื้นที่แห่งความสมานฉันท์?

16 Aug 2021

อาจารย์ ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยในตอนนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความขัดแย้งประเภทนี้นักจิตวิทยาสังคมเรียกว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม (intergroup conflict) ซึ่งมีที่มาได้จากหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการที่แต่ละกลุ่มมีความเชื่อ ความคิด เจตคติที่ต่างกัน การที่คนตั้งแง่กับคนกลุ่มอื่นเพียงเพราะไม่ได้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน (mere categorization) ความลำเอียงเข้าข้างกลุ่มตนเอง (ingroup favouritism) การมองว่าคนที่ไม่ใช่กลุ่มตนเองเหมือนกันหมดทุกคน (outgroup homogeneity) การมีภาพเหมารวมต่อกลุ่มนั้นในทางลบ (stereotype) ซึ่งกระตุ้นอารมณ์และพฤติกรรมทางลบ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มในแต่ละกรณีมีความละเอียดอ่อน ซับซ้อนและมีที่มาแตกต่างกัน ผู้เขียนขอเก็บไว้เขียนในโอกาสหน้า วันนี้ขอเสนอวิธีแก้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่น่าจะครอบคลุมความขัดแย้งระหว่างกลุ่มหลาย ๆ กรณี คือ Intergroup contact หรือ การที่คนจากคนละกลุ่มมีปฏิสัมพันธ์กัน

 

การมีปฏิสัมพันธ์กันนี้เกิดขึ้นได้ทั้งจากการมีปฏิสัมพันธ์ต่อหน้า (face-to-face) เช่น ในการทดลองหนึ่งผู้วิจัยสุ่มให้ทหารซึ่งมาจากชาติพันธุ์ที่เป็นกลุ่มหลักในประเทศนอรเวย์ (ethnic majority Norwegian) เป็นเพื่อนร่วมห้องกับทหารซึ่งมาจากชาติพันธุ์ที่เป็นกลุ่มน้อย (ethnic minority: Finseraas & Kotsadam, 2017) และในกรณีที่การปฏิสัมพันธ์ต่อหน้าเป็นไปได้ยาก การมีปฏิสัมพันธ์แบบถ่ายทอด (extended contact: Wright et al., 1997) ก็เป็นตัวเลือกได้ โดยการมีปฏิสัมพันธ์แบบถ่ายทอดแบ่งเป็นสองวิธี ได้แก่ การเรียนรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าสมาชิกของกลุ่มอื่นกับสมาชิกของกลุ่มตนสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ (vicarious contact) เช่น การทดลองหนึ่งผู้วิจัยสุ่มให้เด็กที่มีร่างกายสมบูรณ์ มีอวัยวะครบ 32 (able-bodied) อ่านนิทานที่เกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างเด็กที่มีร่างกายสมบูรณ์กับเด็กที่มีร่างกายที่จำกัด (disabled) แม้กระทั่งการจินตนาการว่าตนได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่กลุ่มตนเอง (imagined contact) และการปฏิสัมพันธ์เป็นไปอย่างไหลลื่น ก็สามารถลดความประหม่าจากการปฏิสัมพันธ์กับคนที่มาจากกลุ่มอื่น และทำให้การมีปฏิสัมพันธ์ในอนาคตเป็นไปในทางบวกมากขึ้น เช่น Turner et al. (2007 การศึกษาที่ 3) ให้ผู้ร่วมการทดลองชายที่ชอบเพศหญิง (heterosexual men) จินตนาการว่าได้พูดคุยกับผู้ชายที่ชอบเพศชาย (homosexual men) พบว่า ผู้ร่วมการทดลองที่ได้พบคนจากกลุ่มอื่น ได้อ่านเรื่องราวที่ดีของคนต่างกลุ่ม และจินตนาการว่าได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนจากกลุ่มอื่นมีเจตคติทางบวกต่อคนจากกลุ่มอื่น และมีความประหม่าในการปฏิสัมพันธ์น้อยลง (สามารถอ่านการวิเคราะห์อภิมานซึ่งพบผลของการปฏิสัมพันธ์ของคนต่างกลุ่มได้ในการศึกษาของ Paluck และคณะ 2021)

 

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่การปฏิสัมพันธ์ใด ๆ ที่จะสามารถส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มได้ Allport (1954) ได้เสนอ Contact Hypothesis ซึ่งตั้งสมมติฐานว่าสาเหตุหลักของความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม คือ การที่กลุ่มคู่ขัดแย้งไม่ได้มีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีคุณภาพ ดังนั้นเขาจึงได้เสนอเงื่อนไขของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มและสร้างความสามัคคีไว้ 4 เงื่อนไข ได้แก่

 

  1. Equal status ระหว่างที่ทั้งสองกลุ่มปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งสองกลุ่มต้องมีสถานะเท่าเทียมกัน
  2. Common goals การที่ทั้งสองกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกัน
  3. Intergroup cooperation ทั้งสองกลุ่มตระหนักว่าการกระทำของแต่ละกลุ่มส่งผลต่อกันและกัน (interdependence) จนทำให้สมาชิกจากทั้งสองกลุ่มต้องมีความร่วมไม้ร่วมมือกัน
  4. Authority sanction การได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจ การมีกฎหมายหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่ม

 

เงื่อนไขทั้งสี่นี้เป็นที่มาของข้อสังเกตของผู้เขียนว่า แอพพลิเคชั่นคลับเฮ้าส์สามารถเป็นพื้นที่ในการลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มได้ สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย คลับเฮ้าส์ คือ แอพพลิเคชั่นที่เพียงมีเบอร์โทรศัพท์และสมาร์ทโฟนใคร ๆ ก็สามารถเข้าใช้งานได้ มีเพียงชื่อของเราเท่านั้นที่ได้รับการแสดงผล ความเชื่อ ความสนใจอื่น ๆ ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มได้เอง ทำให้โอกาสในการพบปะกับคนที่มีพื้นฐานต่างกันเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับการใช้สื่อกระแสหลัก เช่น โทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์ที่ผู้ใช้อาจเลือกที่จะติดตามเพจใดเพจหนึ่งที่ตรงใจตนเอง และไม่เปิดรับสื่อที่ไม่ตรงใจตนเอง คลับเฮ้าส์นั้นคล้ายวิทยุ คือ มีห้องต่าง ๆ ซึ่งมีการตั้งหัวข้อตามความสนใจในระยะเวลาหนึ่ง หากห้องเปิดอยู่ผู้ฟังสามารถเข้าไปฟังได้อย่างอิสระ เนื่องจากไม่มีการล็อกห้อง ผู้ฟังสามารถยกมือได้หากต้องการร่วมสนทนา

 

คลับเฮ้าส์นั้น มี moderator เรียกสั้น ๆ ว่า “ม็อด” เป็นผู้ควบคุมห้อง ม็อดนี่เองที่มีผลเป็นอย่างมากต่อพลวัตของห้อง หากม็อดวางและสื่อสารกฎระเบียบให้ชัดเจนกับคนในห้อง เช่น ผู้พูดจะได้รับการอนุญาตให้พูดหากม็อดเรียกชื่อเท่านั้นและห้ามพูดแทรกคนอื่น และหากม็อดแจ้งบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนก็จะสอดคล้องกับเงื่อนไข authority sanction ในกรณีที่ห้องตั้งมาเพื่อให้คนที่มาจากคนละกลุ่มคุยกัน หากม็อดกำหนดเวลาในการพูดกับผู้พูดแต่ละคนอย่างเท่าเทียมก็จะเข้ากับเงื่อนไขของ equal status คือ สมาชิกจากแต่ละกลุ่มมีเวลาในการนำเสนอข้อมูลและความคิดของตนพอ ๆ กัน หากม็อดมีทักษะการฟังที่ดี ม็อดสามารถชี้ให้เห็นเป้าหมายที่กลุ่มสองกลุ่มมีร่วมกันได้ (common goal) และชี้ให้เห็นว่าในสถานการณ์นั้น คนทั้งสองกลุ่มต่างต้องพึ่งพากันและกันอย่างไรหากต้องการไปถึงจุดหมาย (intergroup cooperation) เช่น หากห้องตั้งหัวข้อว่า “จับโป๊ะ วัคซีน VVIP” ผู้ฟังอาจจะมาจากกลุ่มที่มีความเชื่อทั้งการเมืองที่ต่างกัน หากม็อดชี้ให้เห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์หน้าด่านควรได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพก่อน เพราะกลุ่มนี้รักษาเราทุกคน และหากต่างคนต่างส่งเสียงเสียงอาจจะเบาไป แต่ถ้าทั้งสองกลุ่มช่วยกันส่งเสียง (intergroup cooperation) เสียงจะดังขึ้นทำให้บุคลากรทางการแพทย์หน้าด่านมีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนมากขึ้น (common goal) และม็อดเปิดโอกาสให้คนจากสองฝั่งยกมือพูด โดยให้เวลาเท่าเทียมกัน (equal status) และให้การแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ (authority sanction) ก็จะเกิดการปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพตามเงื่อนไขของ Allport (1954) และทำให้ทั้งสองกลุ่มมีเจตคติที่ดีขึ้นต่อกันและกัน

 

ผู้เขียนเองได้รับประสบการณ์ดี ๆ จากการใช้งานคลับเฮ้าส์มาก คือ ได้เรียนรู้มุมมองของคนจากภาคอื่น ช่วงอายุอื่น สายอาชีพอื่น ซึ่งการใช้สื่อสังคมออนไลน์ปกติหรือเครือข่ายทางสังคมในชีวิตจริงของผู้เขียนมีข้อจำกัดอยู่มาก ทำให้การมองในมุมคนอื่น (perspective taking) ของผู้เขียนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองเราเต็มไปด้วยความตึงเครียดแบบนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า การมองในมุมคนอื่นเป็นกุญแจสำคัญอีกดอกซึ่งจะช่วยให้คนไทยเราเปิดใจให้กันและรับฟังกันอย่างตั้งใจมากขึ้น ดังนั้น หากผู้อ่านสามารถทำได้ ผู้เขียนสนับสนุนให้รับฟังคลับเฮ้าส์หลาย ๆ ห้อง และขอให้ม็อดทำหน้าที่ของตนให้ดี เพื่อมีส่วนร่วมสร้างสังคมไทยที่สามัคคีและรักใคร่กัน

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Allport, G. W. (1954). The nature of prejudice. Addison-Wesley.

 

Finseraas, H., & Kotsadam, A. (2017). Does personal contact with ethnic minorities affect anti-immigrant sentiments? Evidence from a field experiment. European Journal of Political Research, 56(3), 703-722. https://doi.org/10.1111/1475-6765.12199

 

Paluck, E. L., Porat, R., Clark, C. S., & Green, D. P. (2021). Prejudice reduction: Progress and challenges. Annual Review of Psychology, 72, 533-560. https://doi.org/10.1146/annurev-psych-071620-030619

 

Turner, R. N., Crisp, R. J., & Lambert, E. (2007). Imagining Intergroup Contact Can Improve Intergroup Attitudes. Group Processes & Intergroup Relations, 10(4), 427–441. https://doi.org/10.1177/1368430207081533

 

Wright, S. C., Aron, A., McLaughlin-Volpe, T., & Ropp, S. A. (1997). The extended contact effect: Knowledge of cross-group friendships and prejudice. Journal of Personality and Social Psychology, 73(1), 73-90. https://psycnet.apa.org/buy/1997-04812-006

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย อาจารย์ ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Share this content