Cognitive dissonance – ความไม่คล้องจองของปัญญา

10 Nov 2019

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

ความไม่คล้องจองของปัญญา หมายถึง ภาวะที่ส่วนของปัญญามีความสัมพันธ์กันแบบไม่คล้องจอง คือ ส่วนของปัญญาที่เกิดตามหลังเป็นไปอย่างสวนทางกับส่วนของปัญญาส่วนแรก

 

ส่วนของปัญญา หมายถึง ส่วนย่อย ๆ ส่วนหนึ่งของปัญญา อันได้แก่ ความรู้ ความเชื่อ เจตคติ ความคิดเห็น และค่านิยมที่บุคคลมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งต่อตนเอง ต่อพฤติกรรมของตนเอง และสภาพแวดล้อม

 

[ตัวอย่าง]
ส่วนของปัญญาที่ 1 – เป็นคนไทย
ส่วนของปัญญาที่ 2 – เชียร์ฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ ในการแข่งขันกับทีมชาติไทย
เกิดความไม่คล้องจองของปัญญาเพราะการเป็นคนไทยหมายรวมถึงการต้องเชียร์ทีมชาติไทยด้วย

 

ทฤษฎีความไม่คล้องจองของปัญญา (โดย Leon Festinger, 1957) เสนอว่า เมื่อเกิดความไม่คล้องจองของปัญญา บุคคลจะเกิดความไม่สบายใจ จึงต้องพยายามลดความไม่คล้องจองทางปัญญาที่เกิดขึ้นและเพิ่มความกลมกลืนเพื่อลดความไม่สบายใจนั้น

 

บุคคลลดความไม่คล้องจองของปัญญาได้หลายวิธี เช่น

  • เปลี่ยนส่วนของปัญญาที่เกี่ยวกับพฤติกรรม
  • เพิ่มส่วนของปัญญาใหม่ขึ้นมา
  • ลดความสำคัญของประเด็นที่ขัดแย้ง

 

ตัวอย่างเช่น

  • กลับมาเชียร์ทีมชาติไทย
  • อธิบายว่ามันเป็นแค่แมทช์กระชับมิตร
  • บอกว่าถ้าทีมชาติไทยแข่งกับทีมชาติอื่น ก็กลับมาเชียร์ทีมชาติไทย

 

ทฤษฎีความไม่คล้องจองของปัญญามีความสำคัญเนื่องจากสามารถอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในการประเมิน (evaluation) การตัดสิน (judgment) และการตัดสินใจ (decision) ในเรื่องต่าง ๆ ได้ กล่าวคือ ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่การไม่ลงรอยกันระหว่างส่วนของปัญญา และอยู่ที่วิธีการที่บุคคลจัดการเพื่อลดความไม่คล้องจองที่เกิดขึ้น

 

การตระหนักถึงผลกระทบของปรากฏการณ์ดังกล่าว ก็จะช่วยให้บุคคลสามารถพัฒนาการประเมินและการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ผลของความชอบความคงเส้นคงวาและการรับรู้ความมีอิสระ ในการเขียนเรียงความต่อต้านเจตคติต่อความไม่คล้องจองของปัญญา” โดย มยุรินทร์ เตชะเชวงกุล (2545) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/90

“ผลของการเห็นคุณค่าแห่งตน การรับรู้โอกาสเลือก และการชี้นำต่อการเกิดความไม่คล้องจองของปัญญา” โดย ระวีวรรณ ทิพยานนท์ (2551) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20426

Share this content