ในชีวิตของเรามีเรื่องต้องตัดสินใจมากมาย ไม่ว่าเรื่องเล็ก ๆ เช่น การเลือกว่ากลางวันนี้จะทานอะไร หรือเวลาไปร้านขายของเราจะเลือกซื้อยาสีฟันยี่ห้อไหนดี ไปถึงเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาว เช่น การเลือกคู่ครอง หรือการเลือกซื้อรถยนต์สักคัน
การตัดสินใจ คือ การเลือกระหว่างตัวเลือกต่าง ๆ ที่มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ประเด็นคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนการคิดของมนุษย์ คือ คนเราใช้เหตุผลมากน้อยแค่ไหนเมื่อเราต้องตัดสินใจระหว่างหลายตัวเลือก ?
“การคิดแบบมีเหตุผล” หมายถึง การเลือกตัวเลือกที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เลือก นักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์ได้กล่าวว่ามนุษย์เราจะใช้เหตุผลและหลักสถิติในการตัดสินใจ โดยเราจะประเมินคุณค่าของแต่ละทางเลือก และเลือกสิ่งที่ให้คุณค่ามากที่สุด โดยคนเราสามารถใช้มาตรวัดคุณค่าที่ต่างกัน เช่น การให้ความสำคัญต่อประโยชน์ทางการเงินในระยะยาว หรือคุณค่าด้านอื่น ๆ เช่น ความสุขหรือความพอใจ หรือการประหยัดเวลา
แต่นักจิตวิทยากล่าวว่ามนุษย์เราอาจไม่ได้คิดแบบมีเหตุมีผลเสมอไป เพราะวิธีการคิดของเราอาจถูกบิดเบือนโดยทางลัดในการคิด (cognitive heuristics) วิธีการคิดแบบนี้เป็นการประหยัดเวลาเมื่อเราจำเป็นต้องตัดสินใจภายในเวลาจำกัด หรือเมื่อเราต้องตัดสินเหตุการณ์ที่มีความไม่แน่นอน วิธีคิดแบบทางลัดจะนำไปสู่การเลือกที่รวดเร็ว แต่สิ่งที่เราเลือกอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ถูกต้องที่สุดหรือเกิดประโยชน์สูงสุดเสมอไป
เรามาดู 4 ตัวอย่างของทางลัดในความคิดที่มีผลต่อการตัดสินใจของเรากันค่ะ
- Regret avoidance – เมื่อตัดสินใจไปแล้ว เรามักรู้สึกยึดติดกับสิ่งที่เราได้เลือกไป และเรามักกลัวการรู้สึกเสียดายถ้าเราเกิดเปลี่ยนใจ
มีนักข่าวกลุ่มหนึ่งในสหรัฐฯ ได้สัมภาษณ์ผู้คนที่เพิ่งซื้อล๊อตเตอรี่ นักข่าวถามว่า “ดิฉันขอซื้อสลากของคุณได้ไหมคะ ดิฉันยินดีจ่ายสองเท่าเลยนะ” คนส่วนใหญ่ตอบกลับมาว่า “ไม่อยากขาย ถ้าสลากนี้เกิดถูกรางวัลขึ้นมาฉันคงรู้สึกเสียดายแย่เลย” ถ้ามีคนถามคุณแบบนี้ คุณควรตอบว่าอย่างไร ตัวเลือกที่มีเหตุผลที่สุดคือการขายสลากไปค่ะ เพราะคุณสุ่มเลือกซื้อสลากนี้มา ถ้าคุณยอมขายคุณจะมีเงินซื้อสลากเพิ่มอีกสองใบ ทำให้คุณมีโอกาสถูกรางวัลมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่อยากขายเพราะกลัวเสียดายทีหลัง ในบางสถานการณ์คนเราจึงมักตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึกมากกว่าการใช้เหตุผลและข้อมูลทางสถิติ - Availability heuristic – ถ้าเราสามารถนึกถึงตัวอย่างได้มากมาย เรามักจะตัดสินว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นบ่อยกว่า
ถ้ามีคนถามว่า “คุณคิดว่าการเดินทางแบบไหนปลอดภัยกว่า ระหว่างการนั่งเครื่องบินหรือการขับรถ” คนส่วนใหญ่มักตอบว่า “ขับรถน่าจะปลอดภัยกว่า ดูสิมีข่าวเครื่องบินตกออกมาบ่อยนะช่วงนี้” แต่จริง ๆ แล้วตัวเลขสถิติได้ชี้ว่า การเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุทางรถยนต์นั้นเกิดขึ้นบ่อยกว่าการเสียชีวิตจากเครื่องบินตกอย่างมาก แต่เครื่องบินตกเป็นเหตุการณ์ที่น่าตกใจและมักจะปรากฏเป็นข่าวใหญ่ เราจึงอาจคิดว่าเหตุการณ์นี้มีความเสี่ยงมากกว่า แม้ว่าตามจริงแล้วอุบัติเหตุรถยนต์เกิดขึ้นบ่อยกว่ามาก จนเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากนัก เพราะฉะนั้นการนึกถึงตัวอย่างได้มากจึงไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอย่างที่เราจำมาจากข่าวที่ถูกนำเสนอ - Gambler’s fallacy – ถ้าผลลัพธ์หนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นมาสักพักแล้ว นั่นหมายความว่าผลลัพธ์นั้นจะต้องเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้สิ
สมมุติว่าคุณกำลังเล่นเกมโยนลูกเต๋า ในห้าตาที่ผ่านมาคุณได้แต่ตัวเล็กต่ำ เช่น 1, 1, 2, 1, 2 คุณอาจคิดว่า “ฉันได้แต่เลขต่ำ ๆ แสดงว่าฉันจะต้องได้เลขสูงเร็ว ๆ นี้แน่เลย” แต่ตามหลักคณิตศาสตร์คุณมีโอกาสได้เลข 1, 2, 3, 4, 5, 6 เท่ากันในทุก ๆ ครั้งที่โยนลูกเต๋า และความน่าจะเป็นนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะทุกครั้งที่โยนคือการสุ่มโยน มิใช่การเรียงลำดับของโอกาสแต่อย่างใด ทางลัดในการคิดทำนองนี้สามารถอธิบายความดึงดูดของการเล่นพนันได้ เพราะผู้เล่นการพนันมักคิดว่า “ฉันแพ้มาตั้งหลายตาแล้ว แสดงว่าตาต่อไปฉันจะต้องชนะแน่เลย” แม้แต่นักเรียนนักศึกษาก็อาจตกหลุมพรางในแนวคิดแบบนี้ นักเรียนอาจกำลังทำข้อสอบที่ต้องเลือกคำตอบ (ก, ข, ค, ง) และนึกเอาเองว่า “ข้อนี้ฉันไม่รู้คำตอบ ฉันไม่ได้เลือกตอบข้อ ก มาหลายข้อแล้ว งั้นฉันตอบข้อ ก ดีกว่า” หรือคนทั่วไปอาจมีความเชื่อว่า “ปีนี้มีแต่เรื่องโชคร้ายเกิดขึ้นกับฉัน แสดงว่าปีหน้าจะต้องมีเรื่องโชคดีเกิดขึ้นแน่เลย” โดยไม่ได้นึกว่าเหตุการณ์หรือตัวเลือกเหล่านั้นล้วนแต่ไม่สามารถคาดเดาได้ และผลลัพธ์ใด ๆ ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นเท่าๆกัน แต่เรามักจะไม่ใช้เหตุผลเท่าที่ควรในเวลาที่เราตัดสินใจในสถานการณ์แบบนี้ - Framing bias – วิธีการนำเสนอมีผลต่อการตัดสินใจอย่างมาก
แม้ว่าตัวเลือกต่างก็มีผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์เท่ากัน สมมุติว่าคุณต้องตัดสินใจว่าจะรับการผ่าตัดหรือไม่ โดยมีหมอคนหนึ่งบอกคุณว่า “การผ่าตัดนี้ปลอดภัยค่ะ เพียงแต่มีโอกาส 5% ที่คุณอาจจะไม่รอดชีวิต คุณจะรับการผ่าตัดไหมคะ” คนส่วนใหญ่มักตอบว่า “ขอคิดดูก่อนดีกว่า ฉันไม่อยากเสี่ยงชีวิตเลย” ในทางกลับกันหากมีคุณหมออีกท่านบอกคุณว่า “การผ่าตัดนี้ปลอดภัยค่ะ 95% ของผู้รับการผ่าตัดนี้รอดชีวิตและฟื้นตัวดีค่ะ” คุณและคนส่วนใหญ่คงจะตอบว่า “ตกลงรับการผ่าตัด ดูเหมือนจะปลอดภัยดีนะ” สองสถานการณ์นี้มีผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์เท่ากัน เพราะโอกาสเสียชีวิต 5% นั้นเท่ากับโอกาสรอดชีวิต 95% สิ่งที่แตกต่าง คือ การนำเสนอที่เน้นข้อดีหรือข้อเสีย ถ้าคนเราใช้เหตุผลในการตัดสินใจ เราควรเลือกตอบเหมือนกันในทั้งสองสถานการณ์ เพราะมีผลลัพธ์เหมือนกัน แต่วิธีการนำเสนอหรือการใช้ถ้อยคำนั้นกลับมีผลอย่างมากต่อสิ่งที่เราเลือก
แต่กระนั้นก็ตาม ก็ขอบอกด้วยค่ะว่าการใช้ความรู้สึกหรือการคิดแบบทางลัดของเราไม่ได้ไร้เหตุผลเสมอไป ถ้าเรามีเวลาเพียงพอและมีข้อมูลมากพอ เราสามารถเลือกคำตอบที่เหมาะสมที่สุดหรือถูกต้องได้ หากแต่ในชีวิตจริงเรามักต้องตัดสินใจโดยมีเวลาและข้อมูลที่จำกัด จึงทำให้เรามีโอกาสตกหลุมพรางทางลัดในความคิดเหล่านี้ และนำไปสู่ตัวเลือกที่ไม่ได้นึกคิดโดยรอบคอบและไม่ถูกต้องที่สุดตามหลักสถิติ
ทั้งนี้ เราทุกคนล้วนมีความสามารถที่จะคิดแบบมีเหตุมีผลได้ เพียงแต่ต้องรู้เท่าทันด้วยว่าเมื่อเราต้องตัดสินเหตุการณ์ที่มีความไม่แน่นอนและในเวลาที่จำกัด เรามักใช้ทางลัดในการคิดเพื่อหาคำตอบที่รวดเร็วที่นึกได้ในขณะนั้น ๆ เท่านั้นเอง โดยมีกระบวนการทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนเกี่ยวกับความรู้สึก การทึกทัก การจดจำ และประสบการณ์สั่งสม ที่ทำให้เรานึกคิดตัดสินใจไปอย่างนั้น และเราควรระวังที่จะไม่คิดแบบลัดในการตัดสินใจในเรื่องที่มีความสำคัญค่ะ
รายการอ้างอิง
Bell, D. E. (1982). Regret in decision making under uncertainty. Operations Research, 30(5), 961-981.
Tversky, A., & Kahneman, D. (1971). Belief in the law of small numbers. Psychological Bulletin, 76(2), 105.
Tversky, A., & Kahneman, D. (1973). Availability: A heuristic for judging frequency and probability. Cognitive Psychology, 5(2), 207-232.
Tversky, A., & Kahneman, D. (1981). The framing of decisions and the psychology of choice. Science, 211(4481), 453-458.
บทความวิชาการ
โดย อาจารย์สุภสิรี จันทวรินทร์
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาปริชาน
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University