ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว ประชากรในประเทศไทยประกอบไปด้วยผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เกิน 10% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 28% ภายใน 10 ปีข้างหน้า (WHO, 2023)
หนึ่งในโรคอันดับต้น ๆ ที่มักพบในผู้สูงวัยทั่วโลกคือโรคภาวะสมองเสื่อม (dementia) เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมถอยของสมองในส่วนของการทำงานขั้นสูง ที่มีความรุนแรงมากจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดจากหลายสาเหตุ รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดการทำลายเซลล์สมอง ภาวะสมองเสื่อมส่งผลต่อกระบวนการรู้คิด (cognitive functions) ขั้นสูงในหลาย ๆ ด้านที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ความจำ (memory) การพูดและการเข้าใจภาษา (language processing) การรับรู้ระยะและทิศทาง (visuospatial processing) และการแสดงออกทางพฤติกรรม (behavior) และอารมณ์ (mood)
ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิธีทางการแพทย์ที่สามารถรักษาโรคภาวะสมองเสื่อมให้หายขาด สิ่งที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบของโรคนี้จึงเป็นการค้นหาวิธีที่จะเลื่อนเวลาของการดำเนินโรคภาวะสมองเสื่อม เพื่อขยายระยะเวลาที่บุคคลยังสามารถใช้กระบวนการรู้คิดของตนอย่างสมบูรณ์ให้นานที่สุดในช่วงระยะแรก ๆ ของการเสื่อมถอยของสมอง แม้ว่าสุดท้ายแล้วยังต้องเผชิญกับโรคนี้อยู่ดี
Cognitive reserve
งานวิจัยที่ศึกษาการการทำงานของสมองที่เปลี่ยนแปลงจากความชราหรือโรคทางระบบประสาทพบผลวิจัยที่น่าสนใจ คือ ผู้สูงวัยสองคนอาจมีภาวะเสื่อมถอยในสมองในระดับคล้าย ๆ กัน แต่ผู้สูงวัยสองคนนี้อาจมีความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น ผู้สูงวัย ก. อาจมีความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่เปลี่ยนไปอย่างมากหลังจากการเสื่อมถอยของสมอง ในขณะที่ผู้สูงวัย ข. อาจมีความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่ไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสมองของแต่ละบุคคลมีสมรรถภาพในการรับมือกับการเสื่อมถอยของสมองในระดับที่แตกต่างกัน
การที่ผู้สูงวัยบางคนสามารถต้านผลกระทบของภาวะสมองเสื่อมได้ดีกว่าผู้สูงวัยคนอื่น ๆ อาจเป็นเพราะผู้สูงวัยเหล่านั้นมีสมรรถภาพสำรองของกระบวนการรู้คิด (cognitive reserve) ในปริมาณที่มากกว่าผู้อื่น (Stern, 2009, 2012) บุคคลที่มี cognitive reserve สูงจะมีลักษณะแตกต่างเมื่อเทียบกับบุคคลที่มี cognitive reserve ต่ำ ในสองประการหลักดังนี้ (ดังที่แสดงในภาพที่ 1)
- จุดเปลี่ยนของความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่ลดลงจากการเสื่อมถอยของสมอง จะเกิดขึ้นช้ากว่า ในบุคคลที่มี cognitive reserve สูง
- บุคคลที่มี cognitive reserve สูงจะได้รับการวินิจฉัยโรคภาวะสมองเสื่อมในเวลาที่ช้ากว่า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดความเสื่อมถอยของสมองที่ค่อนข้างรุนแรงแล้ว
ภาพที่ 1. ระดับ cognitive reserve มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างความเสื่อมถอยของสมองและความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่เปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลา
เนื่องจาก cognitive reserve ไม่สามารถวัดได้โดยตรง และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตามประสบการณ์ตลอดช่วงชีวิต งานวิจัยส่วนมากศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคคลที่ได้รับการวินิจฉัยโรคภาวะสมองเสื่อมแล้ว และรวบรวมข้อมูลเชิงประชากรเพื่อวิเคราะห์หาตัวแปรที่สามารถทำนายการดำเนินโรคภาวะสมองเสื่อมและคะแนนความสามารถทางกระบวนการรู้คิดของบุคคลเหล่านี้ ส่วนงานวิจัยอื่น ๆ ศึกษาผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีเป็นกลุ่มตัวอย่าง และวิเคราะห์ตัวแปรที่สามารถทำนายคะแนนความสามารถทางกระบวนการรู้คิด งานวิจัยเหล่านี้ทางระบาดวิทยาพบว่าปัจจัยทางวิถีการใช้ชีวิตในหลาย ๆ ด้านมีความสัมพันธ์กับปริมาณ cognitive reserve ของแต่ละบุคคล ปัจจัยเหล่านี้ร่วมช่วยชะลอผลกระทบต่อกระบวนการรู้คิดที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อม และอาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ด้วย
- ความสามารถทางสติปัญญา (IQ)
ก่อนเกิดความเสื่อมถอยของสมอง บุคคลที่มีคะแนน IQ สูงมีความเสี่ยงน้อยกว่าต่อการเป็นโรคภาวะสมองเสื่อมเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีคะแนนน้อยกว่า งานวิจัยโดย Whalley และคณะ (2000) พบว่าคะแนน IQ ที่วัดเมื่ออายุ 11 ขวบ (ในปี 1932) สามารถทำนายโอกาสที่บุคคลเหล่านี้จะได้รับการวินิจฉัยโรคภาวะสมองเสื่อมในวัยชรา และบุคคลเหล่านี้มีความสามารถทางกระบวนการรู้คิดในระดับที่ดีกว่าคาดคิดเมื่อเปรียบเทียบกับความเสื่อมถอยของสมอง ซึ่งชี้ว่าสมองของบุคคลที่มี IQ สูงสามารถต้านทานผลเสียของการเสื่อมถอยของสมองได้ดีกว่า - ระดับการศึกษาและความสำเร็จด้านอาชีพ
การศึกษาเป็นประสบการณ์ที่เสริมสร้างการเชื่อมโยงในเครือข่ายเซลล์สมอง และอีกหนึ่งประสบการณ์ชีวิตที่ท้าทายความสามารถของกระบวนการรู้คิดก็คือความสำเร็จด้านอาชีพ เช่น การทำอาชีพที่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษานอกเหนือจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนว่าทั้งสองปัจจัยนี้สามารถชะลอการดำเนินโรคภาวะสมองเสื่อม และมีงานวิจัยที่พบว่าผลประโยชน์นี้ไม่ได้จำกัดแค่ในผู้ที่มีการศึกษาระดับสูง แต่การศึกษาเพียงไม่กี่ปีก็สามารถเพิ่มปริมาณ cognitive reserve ได้ (Farfel et al., 2013) การที่คุณสามารถอ่านบทความนี้ได้หมายความว่าคุณมีทักษะการอ่านเขียนที่ได้ฝึกฝนมาจากการศึกษาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งทักษะนี้มีส่วนช่วยส่งเสริม cognitive reserve ให้มีปริมาณที่สูงกว่าบุคคลที่ไม่ได้มีความสามารถนี้ (Manly et al., 2003) - การทำกิจกรรมนันทนาการในช่วงสูงวัย
ก็มีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณ cognitive reserve ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ท้าทายกระบวนการรู้คิด เช่น การอ่านหนังสือพิมพ์ การเล่นบอร์ดเกมส์ การเล่นเครื่องดนตรี และการเรียนหลักสูตรที่ส่งเสริมความรู้ในด้านต่าง ๆ และกิจกรรมทางสังคม เช่น การนัดเจอสังสรรค์กับเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้อง โดยผู้สูงวัยที่ทำกิจกรรมเหล่านี้มากกว่าจะมีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคภาวะสมองเสื่อม ประมาณ 38% เมื่อเทียบกับผู้สูงวัยที่ทำกิจกรรมเหล่านี้น้อยกว่า (Scarmeas et al., 2001) และงานวิจัยนี้ก็พบว่าสิ่งที่สำคัญคือจำนวนและความถี่โดยรวมในการทำกิจกรรมทั้งสองหมวดนี้ การมุ่งทำเพียงกิจกรรมประเภทใดประเภทหนึ่งไม่ได้ส่งผลต่อโอกาสที่จะเป็นโรคภาวะสมองเสื่อมในเวลาต่อมา - การออกกำลังกาย
โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่เน้นการหายใจเข้าออกเพื่อให้หัวใจและหลอดเลือดเกิดการสูบฉีดอาจช่วยเพิ่มปริมาณ cognitive reserve ได้เช่นกัน ผู้สูงวัยที่ออกกำลังกายตามเกณฑ์ที่แพทย์แนะนำมีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคภาวะสมองเสื่อม ประมาณ 20% เมื่อเทียบกับผู้สูงวัยที่ออกกำลังกายน้อยกว่า (Cheng, 2016; Klil-Drori et al., 2022) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ที่อเมริกาแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปออกกำลังกายในระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่ออาทิตย์ เช่น การเดินเร็ว 30 นาทีต่อวัน เป็นระยะเวลา 5 วันต่ออาทิตย์
ข้อสรุป
สุขภาพของสมองและการทำงานของสมองของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ซึ่งรวมถึงปัจจัยที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น การมีพันธุกรรมที่เสี่ยงต่อโรคภาวะสมองเสื่อม และ ความสามารถทางสติปัญญา อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือเราสามารถควบคุมวิธีการดำเนินชีวิตของเราที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพสมองของเราให้ดีที่สุด โดยการทำกิจกรรมที่กระตุ้นความสนใจ ความท้าทายทางสมอง การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งการกระตุ้นในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนจะช่วยสั่งสมปริมาณ cognitive reserve ที่เรามี
- ทำกิจกรรมนันทนาการที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน อย่างต่อเนื่อง
- ทำกิจกรรมที่ท้าทายสมอง รวมถึงการลงมือทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่คุณไม่เคยทำ
- สานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับครอบครัวและเพื่อนฝูง หมั่นติดต่อกันและนัดพบกันอยู่เรื่อย ๆ
- ออกกำลังกายในระดับปานกลางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพหัวใจและสุขภาพสมองไปในตัว
ไม่มีคำว่า ‘เร็วเกินไป’ หรือ ‘สายเกินไป’ ที่จะดูแลสุขภาพสมองของเราตามคำแนะนำเหล่านี้ และการทำกิจกรรมหลากหลายอย่างจะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสมองเมื่อเทียบกับการทำกิจกรรมในด้านใดด้านเดียว สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุก ๆ คนในการดูแลสุขภาพสมองของตนเอง เพื่อการใช้ชีวิตในวัยสูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพและห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ
รายการอ้างอิง
Barulli, D., & Stern, Y. (2013). Efficiency, capacity, compensation, maintenance, plasticity: emerging concepts in cognitive reserve. Trends in Cognitive Sciences, 17(10), 502-509.
Cheng, S. T. (2016). Cognitive reserve and the prevention of dementia: the role of physical and cognitive activities. Current Psychiatry Reports, 18, 1-12.
Farfel, J. M., Nitrini, R., Suemoto, C. K., Grinberg, L. T., Ferretti, R. E. L., Leite, R. E. P., … & Brazilian Aging Brain Study Group. (2013). Very low levels of education and cognitive reserve: a clinicopathologic study. Neurology, 81(7), 650-657.
Klil-Drori, S., Cinalioglu, K., & Rej, S. (2022). Brain health and the role of exercise in maintaining late-life cognitive reserve: a narrative review providing the neuroprotective mechanisms of exercise. The American Journal of Geriatric Psychiatry, 30(4), S72.
Manly, J. J., Touradji, P., Tang, M. X., & Stern, Y. (2003). Literacy and memory decline among ethnically diverse elders. Journal of Clinical and Experimental Neuropsychology, 25(5), 680-690.
Scarmeas, N., Levy, G., Tang, M. X., Manly, J., & Stern, Y. (2001). Influence of leisure activity on the incidence of Alzheimer’s disease. Neurology, 57, 2236–2242.
Stern, Y. (2009). Cognitive reserve. Neuropsychologia, 47(10), 2015-2028.
Stern, Y., (2012). Cognitive reserve in ageing and Alzheimer’s disease. The Lancet Neurology, 11(11), 1006-1012.
Whalley, L.J., Starr, J.M., Athawes, R., Hunter, D., Pattie, A., & Deary, I.J. (2000). Childhood mental ability and dementia. Neurology, 55, 1455–1459.
World Health Organization. (2023, February 9). Thailand’s leadership and innovations towards healthy ageing. https://www.who.int/southeastasia/news/feature-stories/detail/thailands-leadership-and-innovation-towards-healthy-ageing
บทความโดย
อาจารย์ ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์
ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาปริชาน
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University