เมื่อพูดถึงสาขาต่าง ๆ ในจิตวิทยา ส่วนมากแล้วสาขาที่หลาย ๆ คนรู้จักจะมี จิตวิทยาสังคม (social psychology) จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology) จิตวิทยาการปรึกษา (counselling psychology) จิตวิทยาคลินิก (clinical psychology) จิตวิทยาองค์การ (organizational psychology) และ จิตวิทยาประยุกต์ (applied psychology) แต่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักจิตวิทยาปริชาน หรือ อีกชื่อหนึ่งที่มักจะถูกเรียกคือ จิตวิทยาปัญญา หรือ จิตวิทยาการรู้คิด เท่าไรนัก
จิตวิทยาปริชาน มุ่งศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ และตัดสินใจว่าเราควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์นั้น ๆ กระบวนการที่ว่านี้รวมไปถึง การใส่ใจ การรับรู้ การเรียนรู้ ความจำ ภาษา การแก้ปัญหา การให้เหตุผล และการคิด
ทั้งหมดที่ว่ามานี้เราสามารถสรุปได้ว่า
จิตวิทยาปริชานพยายามศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจการรับรู้ของมนุษย์ผ่านการสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้เรายังสามารถนำความรู้ทางจิตวิทยาปริชานมารวมกับความรู้ทางด้านประสาทวิทยา (cognitive neuroscience) เพื่อทำให้เราสามารถศึกษาการรับรู้ของมนุษย์ผ่านการทำงานของสมองและโครงสร้างของสมองได้อีก
เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ตัวอย่างหนึ่งของหัวข้อในจิตวิทยาปริชาน คือ ความจำ (memory) นักจิตวิทยาปริชานจะทำวิจัยว่า
- “ทำไมบางเรื่องที่เราอยากจำได้แต่เรากลับลืม”
- “ในขณะที่เรื่องที่เราอยากลืมเรากลับจำได้แม่นยำ”
- “จะทำอย่างไรให้เราจำได้ดีขึ้น”
- “แต่ถ้าบางเรื่องมันกระทบจิตใจเรามาก ๆ จะทำอย่างไรให้เราลืมเรื่องพวกนั้นไป”
- “ความจำที่เราคิดว่าเราจำได้แม่นยำมาก ๆ เราจำมันได้อย่างที่มันเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า”
- “ความทรงจำของเรามันสามารถบิดเบือนไปได้ไหม”
รวมไปถึงการทำงานของสมองว่า
- “สมองส่วนใดมีหน้าที่ในการทำงานเกี่ยวข้องกับความจำ”
- “หากสมองส่วนนี้ได้รับความเสียหายไปทำให้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำลดลงไป จะทำอย่างไรเพื่อฟื้นฟูให้กลับคืนมาเหมือนเดิมได้”
เมื่อได้ผลการวิจัยมาก็จะนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยพบว่า หากเราต้องการจำข้อมูลใดให้ได้ เราจะต้องพยายามดึงมันมาใช้บ่อย ๆ เราสามารถนำความรู้นี้มาปรับใช้ในเตรียมสอบได้ กล่าวคือ เมื่อเราทบทวนบทเรียนจบแล้ว การที่เรานำแบบฝึกหัดหรือข้อสอบเก่ามาฝึกทำ เพื่อให้มีเรียกคืนข้อมูลที่เราอ่านไปแล้ว จะทำให้เราจำบทเรียนได้ดีขึ้น
ในปัจจุบันความรู้ทางจิตวิทยาปริชานถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ บริบท เช่น
- การศึกษา ที่ได้นำความรู้ทางจิตวิทยาปริชานมาปรับใช้กับเทคนิคการสอนต่าง ๆ เพื่อทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การทำจิตบำบัด ที่นำความทางจิตวิทยาปริชานมาใช้ในการปรับความคิดและพฤติกรรมในการรักษาโรค
- การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ การเข้าใจ และการทำงานของสมองได้ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาอัลกอริทึมแบบระบบเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น Virtual Reality (VR) หรือการจำลองสภาพแวดล้อมจริง ที่นำความรู้เกี่ยวกับการรู้สึกและการรับรู้ในจิตวิทยาปริชานมาใช้
จากตัวอย่างที่ว่ามาจะเห็นได้ว่าความรู้ทางจิตวิทยาปริชานสามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายบริบทที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ ความเข้าใจของมนุษย์
บทความวิชาการ
โดย อาจารย์ ดร. พจ ธรรมพีร
อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย