การประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาของตนเอง

30 Apr 2020

ผศ. ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

 

ในชีวิตคนเราย่อมประสบพบเจอปัญหาต่าง ๆ มากมายและหลากหลาย ซึ่งบางคนสามารถปรับตัวและผ่านปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตได้ดี ตรงกันข้ามบางคนก็สามารถผ่านปัญหาต่าง ๆ ไปได้อย่างทุลักทุเล หรือไม่สามารถผ่านไปได้ งานวิจัยจำนวนมากทางจิตวิทยาพบว่า บุคคลที่รับรู้หรือคิดว่าตนเองมีความสามารถในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตจะสามารถปรับตัวได้ดีกว่าบุคคลที่คิดว่าตนเองไม่สามารถจะแก้ปัญหาในชีวิตได้

 

การประเมินความสามารถในการแก้ปัญหา อีกนัยหนึ่งก็คือ ความมั่นใจว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตหรือการรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งสัมพันธ์กับตัวแปรต่าง ๆ ที่สำคัญทางจิตวิทยาได้แก่ การปรับตัว บุคคลที่มีความมั่นใจว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีจะสามารถปรับตัวได้ดี มีความสิ้นหวัง ซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายต่ำกว่าบุคคลที่ไม่มั่นใจว่าตนเองจะสามารถแก้ปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า บุคคลที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาจะบริโภคแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่น้อยกว่าบุคคลที่ไม่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้

 

สำหรับตัวแปรทางด้านบุคลิกภาพ มีงานวิจัยพบว่า บุคคลที่มั่นใจว่าสามารถแก้ปัญหาได้ จะมีความวิตกกังวลและความโกรธต่ำ แต่จะมีความอยากรู้อยากเห็นสูง มีรายงานพบว่า พ่อแม่ที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ จะใช้การลงโทษลูกน้อยกว่าพ่อแม่ที่ไม่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหา และลูกของพ่อแม่ที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาจะมีการพัฒนาทางอารมณ์และสังคมที่ดีกว่าลูกของพ่อแม่ที่ไม่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหา

 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ หรือรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จะบ่นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของตนน้อยกว่าผู้ที่ไม่มั่นใจว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาได้ อีกทั้ง ผู้ที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ มักใช้วิธีเผชิญปัญหา ไม่หนีปัญหา และพยายามแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาหรืออุปสรรคนั้น ๆ โดยผู้ที่แก้ปัญหาได้ดีจะรู้จักประเมินสิ่งแวดล้อมและรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

 

วิธีที่จะทำให้เรามีความมั่นใจว่าเราจะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีหรือรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้นั้น มี 3 ประการ ได้แก่

 

ประการที่ 1 รู้จักยืดหยุ่น ถ้าเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่สามารถไปถึงได้ให้หาเป้าหมายสำรองที่สามารถไปถึงได้และทำให้เราพึงพอใจ วิธีนี้ทำให้เรารู้สึกว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีและมีความมั่นใจในการแก้ปัญหา

 

ประการที่ 2 หาวิธีหรือแนวทางใหม่ ๆ ในการควบคุมสถานการณ์ เช่น ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอาจแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่ตนเองป่วย ลดความเครียด ดูแลอาหารการกินและออกกำลังกายตามความเหมาะสม การที่สามารถรู้อาการของโรคหรือการที่สามารถทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมหรือแก้ปัญหาได้ดี นอกจากนี้ การกระทำใดๆ ก็ตามของบุคคลที่ส่งผลในทางบวกต่อบุคคลก็จะทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ เช่น บุคคลที่ควบคุมอาหารแล้วน้ำหนักลดก็จะมีกำลังใจในการควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก เป็นต้น

 

ประการที่ 3 การยอมรับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใด ๆ โดยพยายามหาข้อบวกในปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบ หลายคนพบสิ่งที่มีความหมายในการสูญเสีย หลายคนสามารถพัฒนาตนเองจากการสูญเสีย การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้บุคคลพัฒนาความรู้สึกของการควบคุมสถานการณ์ รู้สึกว่าตนเองไม่โชคร้ายจนเกินไป

 

การที่เรารับรู้หรือรู้สึกว่าเราสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดี หรือการที่เรามีความรู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีจะทำให้เรามีความสุข อย่างไรก็ตาม การรับรู้นี้ก็ควรอยู่ในโลกของความเป็นจริง กล่าวคือ เราควรมีความสามารถในการแก้ปัญหาได้จริงตามที่เรารับรู้ เนื่องจาก การรับรู้ที่บิดเบือนอาจทำให้เราประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดได้ นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างระหว่างบุคคลในเรื่องของการควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถในการแก้ปัญหาหรือการควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ไม่ดีเท่ากับคนที่สุขภาพแข็งแรง บุคคลที่มีสุขภาพจิตดีจะรับรู้ว่าตนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่บุคคลที่ซึมเศร้าจะรับรู้ว่าตนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือผู้ดูแลผู้ป่วยต้องเข้าใจ และรู้ว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ต้องการกำลังใจมากกว่าปกติและผู้ป่วยอาจมีอาการหงุดหงิดเนื่องจากรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีเท่าเดิม ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดจึงควรรับฟังผู้ป่วยด้วยความเห็นใจและอดทน

 

การแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ และความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ที่รู้สึกว่าตนเองยังไม่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีก็สามารถใช้ปัญหาหรืออุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นแบบทดสอบที่ทำให้เราเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อในที่สุดเราก็จะมีความสามารถในการเผชิญกับปัญหาและมีความมั่นใจในการแก้ปัญหา ไม่ต้องกลัวหรือหนีปัญหา และยังสามารถช่วยแก้ปัญหาให้ผู้อื่นได้ถ้าผู้อื่นต้องการให้ช่วยเหลือ ทำให้เราสามารถปรับตัวบนโลกของเราได้อย่างมีความสุข

 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Share this content