การชมเชยบุตรหลานไม่ใช่เรื่องยาก และมีประโยชน์หลายประการ คุ้มค่ากับการใส่ใจแสดงออกถึงการชื่นชมอย่างเหมาะสม โดยประโยชน์ของการชมบุตรหลาน มีดังนี้
ประการที่ 1 การชมเชยนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้ปกครองได้บ่มเพาะสัมพันธภาพที่ดีกับบุตรหลาน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด เราคงไม่รังเกียจที่จะได้รับเสียงตอบรับทางบวกจากบุคคลใกล้ชิด สำหรับเด็กน้อย การได้รับคำชมเชยจากผู้ปกครองเปรียบเสมือนการหยอดกระปุกเติมสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น และการชมเชยก็ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ตระหนักถึงพฤติกรรมทางบวกที่บุตรหลานมี เป็นการเพิ่มความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อบุตรหลานของตนเองจากการตระหนักรู้นี้
ประการที่ 2 การชมเชยช่วยส่งเสริมพฤติกรรมทางบวกของเด็ก และช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ปกครองจะพูดคุยใส่ใจกับเด็กเฉพาะเมื่อเด็กทำผิดหรือมีปัญหา ซึ่งหากผู้ปกครองใส่ใจเด็กเฉพาะเมื่อเด็กทำผิดหรือมีปัญหา จะทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ปกครองเป็นไปในทางลบ เป็นไม้เบื่อไม้เมา จนบางครั้งเด็กบางคนต้องเลือกแสดงพฤติกรรมทางลบ เพื่อที่จะได้มาซึ่งความสนใจจากผู้ปกครอง ทั้งที่โดยง่ายแล้ว ผู้ปกครองสามารถกันไว้ก่อนแก้ โดยการให้ความสนใจและส่งเสริมพฤติกรรมทางบวกของเด็กผ่านการชมตั้งแต่ต้น
ทว่า ประเด็นหนึ่งที่พึงระวังก็คือ การชื่นชมนี้จำเป็นต้องเป็นไปอย่างจริงใจ มิได้เป็นการเสแสร้ง หากแต่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมดี ๆ ที่เด็กมี ซึ่งในประเด็นนี้ เราจะต้องมีความเข้าใจที่เหมาะสมเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยด้วย เนื่องจากเป็นการยากที่จะนำมาตรฐานของผู้ใหญ่ไปคาดหวังกับเด็กเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวน้อย หากแต่มีความแตกต่างไปในแง่ของความรู้ ความเข้าใจโลก ความพร้อมทางร่างกาย อารมณ์หรือสังคม
ดังนั้น ในการเลือกหาโอกาสชมเชยเด็กนั้น เราควรที่จะลองพิจารณาเบื้องต้นก่อนว่า บุตรหลานของเราอยู่ในช่วงวัยใด มีศักยภาพด้านต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด เช่น หากรอจะให้คำชมกับบุตรหลานวัย 3-4 ขวบ ที่นั่งนิ่ง ๆ ตามลำพังด้วยตนเองโดยไม่มีของเล่นเป็นตัวช่วยได้นานถึง 15-20 นาที คงจะเป็นความคาดหวังที่สูงเกินไป เพราะเด็กในวัยนี้ยังมีการควบคุมตนเองและรวบรวมความสนใจจำกัด และเช่นเดียวกัน การจะรอเก็บคำชมไว้ให้เด็กในวัยนี้ที่รับประทานอาหารได้อย่างถูกระเบียบไม่หกเลอะเทอะเลยก็คงเป็นเรื่องยาก เมื่อคำนึงว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กและความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือของเด็ก วัย 3-4 ขวบยังพัฒนาไม่เต็มที่ เป็นต้น
ประการที่ 3 การแสดงออกถึงการชื่นชมต่อเด็กจะมีส่วนช่วยในการบ่มเพาะให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมทางบวกด้วย ตามหลักจิตวิทยานั้น เรามีความเชื่อว่าการที่คนเราจะเลือกทำพฤติกรรมใด ๆ จำเป็นต้องมีการลงทุนลงแรง หากการลงทุนนั้นนำมาซึ่งผลลัทธ์ที่น่าพอใจ อาทิ ได้รางวัลหรือคำชม เราก็มีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมนั้นเพิ่มขึ้น เพราะคุ้มค่ากับทรัพยากรที่เสียไป แต่หากลงทุนลงแรงไปแล้ว ไม่ได้มีสิ่งตอบแทนใดตามมา เราก็อาจจะอ่อนล้าหมดกำลังใจที่จะทำพฤติกรรมนั้นต่อไป
ในประเด็นของพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของเด็กนั้น หากเด็กแสดงพฤติกรรมดี ๆ ออกมา แต่ผู้ปกครองไม่ได้แสดงออกถึงความชื่นชมยินดี ไม่มีผลลัพธ์รางวัลใด ๆ ตามมา มีความเป็นไปได้ว่าเด็กจะสับสนไม่แน่ใจว่าสมควรทำพฤติกรรมนั้นต่อไปหรือไม่ อาทิ เด็กบางคนแสดงพฤติกรรมช่วยเหลือ หากแต่ผู้ปกครองเหนื่อยล้าจนไม่ได้สังเกตเห็น หรือคุ้นชินจนมองข้ามไป ก็อาจจะลังเลที่จะแสดงพฤติกรรมดังกล่าวต่อ นับว่าน่าเสียดายที่ผู้ปกครองไม่ได้มีโอกาสสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสนับสนุนพฤติกรรมที่พึงประสงค์นี้ของเด็ก
นอกจากนั้น ยังมีแนวทางในการชมเด็ก ซึ่งเริ่มต้นด้วย เมื่อเราสังเกตเห็นพฤติกรรมที่สมควรได้รับการชมเชยของเด็ก เราควรพยายามชมโดยทันที ผ่านการระบุพฤติกรรมนั้นอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น หากเราเห็นบุตรหลานแสดงความช่วยเหลือช่วย ยกข้าวของที่เราหอบหิ้วอยู่ ก็อาจชมเชยโดยกล่าวว่า “ดีมากเลยค่ะที่ช่วยแม่ยกของ” หรือการชมว่า “ทานข้าวเรียบร้อยจริง ใช้ช้อนส้อมสองมือ ข้าวไม่หกด้วย” การชมแบบนี้ จะช่วยระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่า พฤติกรรมที่ได้รับความชื่นชมนั้นคือพฤติกรรมใด อันจะเอื้อต่อการที่เด็กเรียนรู้ที่จะแสดงพฤติกรรมนั้นอีกในอนาคต และชัดเจนกว่าการชมลอย ๆ เช่น “หนูเป็นเด็กดีจริง” ซึ่งเด็กอาจจะไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมใดของตนนำมาซึ่งคำชมเชยนี้
หากผู้ปกครองมีการชมเชยพฤติกรรมทางบวกของเด็กบ่อยครั้งจนเกิดความชัดเจนกับเด็กแล้ว สามารถย่นย่อหรือแสดงออกในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ การยิ้ม หรือการสัมผัส ผู้ปกครองจะลงรายละเอียดมากเป็นพิเศษเฉพาะในช่วงต้นเท่านั้น และการชมเชยจะพิจารณาช่วงวัยและพัฒนาการของเด็กประกอบ การชมเรื่องการรับประทานอาหารโดยใช้ช้อนส้อมอาจเป็นประเด็นในเด็กประถมต้น แต่เราคงไม่จำเป็นมุ่งเน้นให้คำชมนี้ในเด็กมัธยมแล้ว
กล่าวโดยสรุปคือ ในการแสดงออกถึงความชื่นชมที่เหมาะสมนั้น เราต้องระมัดระวังให้การชมเชยเป็นไปอย่างจริงใจ ไม่เสแสร้ง หากแต่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมดี ๆ หรือคุณลักษณะที่เด็กมีอยู่จริง ในประเด็นนี้ จำเป็นที่เราจะต้องมีตัวช่วย คือความเข้าใจที่เหมาะสมเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย ทั้งในประเด็นของความคิดความเชื่อ อารมณ์ความรู้สึก พฤติกรรม และความพร้อมทางร่างกาย เพื่อที่จะได้ตั้งความคาดหวัง และเห็นแนวทางถึงประเด็นที่จะสามารถชมเชยเด็กได้อย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
ภาพประกอบจาก : Freepik
บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University