รูปแบบการจัดการความขัดแย้ง

16 Apr 2020

บริการวิชาการ

 

วัฒนธรรม เพศ และรูปแบบการจัดการกับความขัดแย้ง : การเปรียบเทียบระหว่างนิสิตนักศึกษาไทยและอเมริกัน

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งมี 5 รูปแบบ ได้แก่

 

  1. การหลีกหนี (Avoiding/Withdrawing) – เป็นรูปแบบการจัดการที่ไม่ตอบสนองต่อเป้าหมายของใครเลย หลีกหนีต่อปัญหาและละทิ้งความต้องการ อาจเป็นไปโดยชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือถอนตัวอย่างถาวร [คิดถึงตนเองและคิดถึงผู้อื่นน้อย]
  2. การยอมตาม (Obliging/Accommodating) – ยินดีตอบสนองความพึงพอใจของอีกฝ่ายโดยยอมเสียสละความต้องการของตนเอง [คิดถึงตนเองน้อย และคิดถึงผู้อื่นมาก]
  3. การใช้อำนาจ (Dominating/Competing) – เน้นตอบสนองต่อเป้าหมายของตนเองเป็นสำคัญ ใช้อำนาจทุกอย่างที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการโต้เถียงหรือตำแหน่งที่สูงกว่า [คิดถึงตนเองมาก และคิดถึงผู้อื่นน้อย]
  4. การประนีประนอม (Compromising) – หาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ ยอมให้มากกว่าผู้แข่งขัน แต่ไม่ถึงกับเป็นผู้ยอมตาม และเผชิญปัญหามากกว่าผู้หลีกเลี่ยง แต่ไม่ลงลึกในรายละเอียดเท่าผู้ร่วมมือ [คิดถึงตนเองและคิดถึงผู้อื่นปานกลาง]
  5. การบูรณาการ (Integrating/Collaborating) – การพยายามหาทางออกร่วมกับคู่กรณีโดยมุ่งตอบสนองต่อเป้าหมายของทั้งสองฝ่าย ลงลึกในประเด็นปัญหาเพื่อได้ทางออกที่สร้างสรรค์ซึ่งสร้างความพึงพอใจแก่ทั้งคู่ [คิดถึงตนเองและคิดถึงผู้อื่นมาก]

 

จากการเก็บข้อมูลกับนักศึกษาไทยและอเมริกันจำนวน 575 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างคนไทยและคนอเมริกัน เพศชายและเพศหญิง รายงานถึงการจัดการความขัดแย้งรูปแบบต่าง ๆ แตกต่างกันดังนี้

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่คนไทยนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ

1. ยอมตาม 2. หลีกหนี 3. บูรณาการ 4. ใช้อำนาจ 5. ประนีประนอม

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่คนอเมริกันนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ

1. บูรณาการ 2. ใช้อำนาจ 3. หลีกหนี 4. ยอมตาม 5. ประนีประนอม

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่ผู้ชายนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ

1. บูรณาการ 2. ใช้อำนาจ 3. ยอมตาม 4. หลีกหนี 5. ประนีประนอม

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่ผู้หญิงนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ

1. บูรณาการ 2. หลีกหนี 3. ยอมตาม 4. ประนีประนอม 5. ใช้อำนาจ

 

 

คนไทย VS คนอเมริกัน

 

เหตุที่กลุ่มตัวอย่างคนไทยใช้กลยุทธ์การจัดการความขัดแย้งแบบหลีกหนีและยอมตามมากกว่าคนอเมริกัน และคนอเมริกันใช้กลยุทธ์การจัดการความขัดแย้งแบบใช้อำนาจ ประนีประนอม และบูรณาการมากกว่าคนไทย นั้นเป็นเพราะ คนไทยส่วนใหญ่มีค่านิยมคติรวมหมู่สูง นั่นหมายถึงการไม่ชอบการแข่งขันภายในกลุ่ม พยายามหลีกเลี่ยงความไม่ลงรอยและการเผชิญหน้า รู้สึกปลอดภัยมากกว่าเมื่อพึ่งพาอาศัยกันและกัน อีกทั้งมีแรงขับที่จะเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองน้อย เห็นแก่ความสัมพันธ์มากกว่าเป้าหมายของตน ในทางตรงกันข้าม คนอเมริกันส่วนใหญ่มีค่านิยมแบบปัจเจกนิยมสูง ซึ่งมีลักษณะของการคำนึงถึงตนเองมากกว่าผู้อื่น รับมือกับความขัดแย้งด้วยการลงมือแก้ปัญหา เจรจา และใช้อำนาจ มองการปะทะทางความคิดและการโต้แย้งด้วยเหตุผลเป็นคุณลักษณะทางบวกที่แสดงถึงความเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย

 

ผู้ชาย VS ผู้หญิง

 

สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างผู้ชายและผู้หญิง พบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งสองเพศใช้รูปแบบการจัดการความขัดแย้งแบบบูรณาการมากที่สุดไม่แตกต่างกัน แต่ผู้ชายจัดการความขัดแย้งแบบใช้อำนาจมากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงจัดการความแย้งแบบหลีกหนี ยอมตาม และประนีประนอมมากกว่าผู้ชาย สาเหตุเป็นเพราะผู้หญิงมักให้ความสำคัญกับเรื่องความสัมพันธ์สูง มองว่าพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้ การถอย ยอมตาม หรือประนีประนอมจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ขณะที่ผู้ชายเป็นเพศที่ยืนหยัดในสิทธิ์ของตน บงการ และใช้อำนาจมากกว่า

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“วัฒนธรรม เพศ และรูปแบบการจัดการกับความขัดแย้ง : การเปรียบเทียบระหว่างนิสิตนักศึกษาไทยและอเมริกัน”

“Culture, gender, and conflict management styles : comparisons between Thai and American students”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2549)

โดย นางสาวภิสสรา อุมะวิชนี

อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ : รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระพร อุวรรณโณ

วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/39802

Share this content