Counterproductive work behavior – พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า

14 Jan 2020

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า หมายถึง พฤติกรรมที่ปฏิบัติโดยบุคลากร โดยมีเจตนาทำความเสียหายและเป็นภัยต่อองค์การหรือสมาชิกในองค์การ ดังนั้น การกระทำโดยเหตุบังเอิญหรือการกระทำโดยบุคคลภายนอกองค์การไม่จัดเป็นพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า

 

ปัจจุบันงานวิจัยส่วนใหญ่แบ่งพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่

  • พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าขององค์การ
  • พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าของเพื่อนร่วมงาน

 

พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าขององค์การ จำแนกเป็น 5 องค์ประกอบย่อยดังนี้

  • การถอนตัว เช่น การขาดงาน มาสาย และพักนานกว่ากำหนด
  • การละเมิด เช่น เล่าถึงสิ่งแย่ ๆ เกี่ยวกับที่ทำงานให้คนนอกฟัง
  • การลักขโมย เช่น นำของใช้จากที่ทำงานกลับบ้าน
  • ความเบี่ยงเบนในการปฏิบัติงาน เช่น ทำงานผิดเพื่อประชด และไม่ทำตามคำสั่ง
  • การสร้างความเสียหาย เช่น ใช้วัสดุและอุปกรณ์ของบริษัทมากกว่าความจำเป็น

 

พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าของเพื่อนร่วมงาน จำแนกเป็น 4 องค์ประกอบย่อยดังนี้

  • การละเมิด เช่น ล้อเลียนเพื่อนร่วมงาน เมินเฉยต่อบางคนในที่ทำงาน คุกคามเพื่อนร่วมงาน ปล่อยข่าวลือในเรื่องไม่ดีในที่ทำงานเมื่อรู้สึกไม่พอใจ
  • การลักขโมย เช่น หยิบของของเพื่อนร่วมงานติดมือกลับบ้าน
  • ความเบี่ยงเบนในการปฏิบัติงาน เช่น ปฏิเสธที่จะช่วยบางคนในที่ทำงาน ปิดบังข้อมูลที่สำคัญไม่ให้บางคนในที่ทำงานรู้ และรบกวนเพื่อนร่วมงานขณะที่เขากำลังทำงานอยู่
  • การสร้างความเสียหาย เช่น ทำลายทรัพย์สินของเพื่อนร่วมงาน

 

นอกจากนี้ พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้ายังสามารถจำแนกลักษณะของการกระทำออกเป็น 2 แบบ คือ

  • การกระทำแบบแสดงออก ได้แก่ ความก้าวร้าว การทำลาย การขู่เข็น การวางเพลิงและการลักขโมย
  • การกระทำแบบไม่แสดงออกโดยตรง ได้แก่ การจงใจว่าตนไม่สามารถทำตามคำสั่ง การจงใจทำงานผิด การมาทำงานสาย การใช้วัสดุอุปกรณ์ในที่ทำงานสิ้นเปลือง การเพิกเฉยต่อบางคนในที่ทำงาน การทำร้ายผู้อื่นในที่ทำงานด้วยวาขา และการนำของใช้ในที่ทำงานไปใช้ส่วนตัวที่บ้าน

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า


 

งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า ความคับข้องใจที่เกิดจากการเผชิญสิ่งเร้าความเครียดในที่ทำงาน ได้แก่ “ความขัดแย้งกับหัวหน้า” “ความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน” และ “ความจำกัดขององค์การ” ส่งผลให้บุคคลมีพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าได้

 

(ความจำกัดขององค์การ หมายถึง สถานการณ์ในที่ทำงานที่ขัดขวางไม่ให้บุคคลใช้ความสามารถและแรงจูงใจที่จะทำผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยปัญหาที่ทำให้รู้สึกไม่ดีกับงานที่ทำงาน ได้แก่ อุปกรณ์หรือวัสดุคุณภาพต่ำ กฎเกณฑ์หรือกระบวนการดำเนินงานขององค์การ งบประมาณการทำงานไม่เพียงพอ สิ่งแวดล้อมในที่ทำงานไม่ดี มีเสียงดังรบกวนขณะทำงาน เป็นต้น)

 

นอกจากนี้ยังพบประเด็นที่น่าสนใจเรื่องอายุและประสบการณ์การทำงาน กล่าวคือ การวิจัยในต่างประเทศพบว่ายิ่งบุคคลมีอายุมากขึ้นและประสบการณ์การทำงานมากขึ้น ยิ่งมีแนวโน้มทำพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าลดลง เนื่องจากบุคคลมีความซื่อสัตย์ต่อองค์การและมีแนวโน้มที่จะไม่ทำพฤติกรรมที่เป็นผลเสียต่อองค์การ แต่ในการวิจัยในประเทศไทยพบผลที่ตรงกันข้าม คือ ยิ่งบุคคลมีอายุมากขึ้นและมีประสบการณ์มากขึ้นยิ่งมีแนวโน้มทำพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้ามากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือค่านิยมของแต่ละองค์การในประเทศไทย

 

ส่วนปัจจัยด้านบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า ได้แก่ การมีบุคลิกภาพแบบหลงตนเองสูง ความฉลาดทางอารมณ์ต่ำ การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ และการมีอัตลักษณ์ทางจริยธรรมต่ำ (ความต้องการในการดำรงความสอดคล้องและคงเส้นคงวาระหว่างหลักจริยธรรมที่ตนยึดถือและการแสดงออกต่อสังคมภายนอก) เป็นต้น

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

“การทำนายพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าขององค์การและเพื่อนร่วมงานจากบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง ลักษณะนิสัยด้านความโกรธ และสิ่งเร้าความเครียดในการทำงาน” โดย ประพิมพา จรัลรัตนกุล (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44139

 

“อัตลักษณ์ทางจริยธรรม และคติรวมหมู่ทางจิตในฐานะตัวแปรกำกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง และพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า” โดย ชิตพล สุวรรณนที (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58262

 

ภาพประกอบจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Social_Loafing.jpg

Share this content