ความคิดสร้างสรรค์ คือ ความสามารถในการคิดริเริ่มสิ่งแปลกใหม่ คิดอย่างกว้างไกล คิดได้หลายทิศทาง มีความคิดที่หลุดออกจากกรอบเดิม ๆ และมองเห็นความเชื่อมโยงกันของวัตถุรอบตัว ทำให้สามารถแก้ปัญหายุ่งยากที่พบเจอในชีวิตประจำวันให้หมดไป
องค์ประกอบพื้นฐาน 4 ประการของความคิดสร้างสรรค์ (Guilford, 1967)
1. ความคิดคล่องแคล่ว (Fluency)
ความสามารถในการคิดได้อย่างรวดเร็วคล่องแคล่ว และมีจำนวนความคิดเป็นปริมาณมากในระยะเวลาจำกัด แบ่งเป็น 4 ด้าน คือ
- 1.1 ความคิดคล่องแคล่วด้านถ้อยคำ (Word Fluency) – ความสามารถของบุคคลในการใช้ถ้อยคำได้อย่างคล่องแคล่ว
- 1.2 ความคิดคล่องแคล่วด้านการเชื่อมโยงสัมพันธ์ (Associational Fluency) – ความสามารถในการคิดหาคำที่เหมือนกันหรือคล้ายกันให้ได้มากที่สุดในระยะเวลาที่กำหนด
- 1.3 ความคิดคล่องแคล่วด้านการแสดงออก (Expressional Fluency) – ความสามารถด้านการนำคำมาเรียงกันอย่างรวดเร็วเพื่อให้ได้ประโยคที่ต้องการ เรียกว่าเป็นความสามารถด้านการใช้วลีหรือการใช้ประโยค
- 1.4 ความคิดคล่องแคล่วในการคิด (Ideational Fluency) – ความสามารถที่จะคิดสิ่งที่ต้องการภายในเวลาที่กำหนด เช่น การบอกประโยชน์ของถ้วยกาแฟมาให้ได้มากที่สุดใน 1 นาที
2. ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility)
ความสามารถในการคิดหาคำตอบได้หลายประเภทและหลายทิศทาง แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ
- 2.1 ความคิดยืดหยุ่นที่เกิดขึ้นทันที (Spontaneous Flexibility) – ความสามารถที่จะพยายามคิดสิ่งต่างๆ อย่างเป็นอิสระ เช่น คิดหาประโยชน์ของก้อนหินได้หลายทิศทาง
- 2.2 ความยืดหยุ่นด้านการดัดแปลง (Adaptive Flexibility) – ความสามารถในการคิดดัดแปลงจากสิ่งหนึ่งเป็นอีกหลายสิ่ง ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาการติดซ้ำซ้อน และสามารถนำความคิดทั้งหมดที่ได้มาจัดเป็นประเภทต่างๆ
3. ความริเริ่ม (Originality)
ความสามารถในการคิดสิ่งที่มีลักษณะแปลกใหม่และแตกต่างไปจากธรรมดา เป็นความคิดที่หาได้ยาก ไม่มีใครนึกถึง และเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เนื่องจากเป็นความคิดที่ยังไม่มีใครเคยคิดมาก่อน ผู้มีความคิดริเริ่มจึงต้องมีความกล้าที่จะคิด กล้าที่จะลอง เพื่อทดสอบความคิดใหม่ของตน ความริเริ่มบางครั้งมีพื้นฐานมาจากจินตนาการ แต่ต้องเป็นจินตนาการประยุกต์ คือ คิดริเริ่มและหาคิดหาทางสร้างผลงานจากความริเริ่มนั้นให้เป็นจริงให้ได้
4. ความละเอียดลออ (Elaboration)
ความสามารถในการพัฒนา แต่งเติม หรือขยายความคิดหลักให้ได้ความหมายที่สมบูรณ์และมีความแปลกใหม่ ความคิดที่แสดงออกมานั้นเป็นความคิดที่ละเอียด สามารถนำมาทำให้สมบูรณ์และประณีตต่อไปได้อย่างเต็มที่
แนวคิดเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ของนักจิตวิทยากลุ่มต่าง ๆ
1. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์ กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นผลมาจากความขัดแย้งภายใต้จิตสำนึกระหว่างแรงขับทางเพศและความรู้สึกรับผิดชอบทางสังคม และนักจิตวิเคราะห์แนวใหม่ได้นิยามว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่อยู่ในส่วนที่เรียกว่า จิตก่อนสำนึก
2. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงพฤติกรรมนิยม กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ โดยเน้นความสำคัญของการเสริมแรงกับสิ่งเร้า และยังเน้นความสัมพันธ์ทางปัญญา คือการโยงสัมพันธ์จากสิ่งเร้าหนึ่งไปยังสิ่งอื่นๆ เพื่อให้เกิดความคิดใหม่
3. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงมนุษยนิยม กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด และผู้ที่สามารถดึงความสามารถส่วนนี้มาใช้ได้คือผู้ที่รู้จักตนเอง พอใจตนเอง และสามารถทำตนเองให้ปฏิบัติตนได้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้ มนุษย์จะสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ขึ้นอยู่กับสภาวะที่เอื้ออำนวยและมีบรรยากาศที่สำคัญในการสร้างสรรค์ ได้แก่ ความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา ความมั่นคงของจิตใจ ความมุ่งมั่นต้องการที่จะเล่นกับความคิด และการเปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ๆ
4. ทฤษฎี AUTA กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์มีอยู่ในตัวทุกคน และพัฒนาขึ้นไปได้อีก การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ตามทฤษฎีนี้ประกอบด้วย
- 4.1 การตระหนัก (Awareness) ถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์และตระหนักถึงความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตนเอง
- 4.2 ความเข้าใจ (Understanding) อย่างถ่องแก้ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์
- 4.3 การรู้เทคนิควิธี (Techniques) ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ทั้งวิธีที่เป็นมาตรฐานทั่วไป หรือวิธีที่เป็นเทคนิคส่วนตน
- 4.4 การตระหนักในความจริงของสิ่งต่างๆ (Actualization) อาทิ ตระหนักในตนเอง พอใจในตนเอง ใช้ตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับตัวได้เหมาะสม มีความคิดที่ยืนหยุด และตระหนักถึงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
“ผลของอารมณ์ที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์” โดย ดวงรักษ์ พิสิฐศรัณยู และ ธนพร บัวขำ (2555) – http://cuir.car.chula.ac.th.chula.idm.oclc.org/handle/123456789/44182
ภาพประกอบ https://www.maxpixel.net/