การออกเดท และวัฒนธรรมการ Hook up

17 Jun 2024

อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์

 

ทุกคนเชื่อคำกล่าวอ้างจากโลกตะวันตกที่ว่า การออกเดท (Dating) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยมหาวิทยาลัยนั้นได้สาบสูญไปในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาหรือไม่ ทุกคนยังจำความรู้สึกของการออกเดทครั้งแรกกับคนที่เราชอบ หรือคนที่เราคุยด้วยได้หรือไม่ เราแต่งตัวอย่างไร เราไปนัดพบกันที่ไหน ความรู้สึกเต้น ประหม่า หรือเบื่อหน่าย และหลังจากเดทแล้วเราสานต่อความสัมพันธ์หรือไม่ หรือต่างคนต่างแยกย้ายกันไป

 

สำหรับความหมายของการออกเดทนั้น อ้างอิงจากพจนานุกรมเคมบริดจ์ (Cambridge Dictionary) ได้ให้ความหมายว่า คือการนัดพบ หรือใข้เวลาอย่างสม่ำเสมอ กับคนที่เรามีความรู้สึกโรแมนติกด้วย1 ส่วนในโลกออนไลน์ การเดทยังรวมถึงการศึกษาดูใจ เรียนรู้เพื่อรู้จัก เพื่อรู้ใจว่าความสัมพันธ์จะไปต่อหรือไม่

 

แล้วถ้าตามคำกล่าวอ้างว่าไม่มีการออกเดทแล้ว มันกลายเป็นอะไร ทุกคนคงเคยได้ยินคำภาษาอังกฤษว่า Hook up โดยคำว่า Hook up ซึ่งจากนักวิจัยต่างประเทศได้ให้นิยามว่ามันคือการที่บุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคนแปลกหน้าหรือคนรู้จักโดยความสัมพันธ์นั้นเป็นแบบไม่ผูกมัด และไม่จำเป็นต้องมีการพัฒนาไปเป็นรูปแบบอื่น ในไทยยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจน ในโลกออนไลน์ของไทย มีคำเช่น ‘แอบแซ่บ’ อย่างไรก็ตามนักวิจัยระบุว่า Hook up นั้นไม่ได้มีนิยามที่ชัดเจน สำหรับบางคน Hook up อาจเป็นการนัดเจอโดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย8

 

สรุปแล้ว วัฒนธรรมการ Hook up นั้นจะสามารถมาแทนที่ การออกเดท (Dating) ได้หรือไม่นั้น จากงานทบทวนวรรณกรรมของ Luff, Kristi และ Berntson (2016) ได้ออกมาให้แง่มุมว่าจริง ๆ แล้วการเดท และการ hookup นั้นดูเผิน ๆ เหมือนจะแตกต่างกัน แต่จริง ๆ แล้วคล้ายคลึงกันมาก โดยทั้งสองรูปแบบของการนัดเจอ นั้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนสองคนได้ทำความรู้จักกันมากยิ่งขึ้น ส่วนความแตกต่างคือ การมีเพศสัมพันธ์นั้นจากงานวิจัยพบว่า เกิดขึ้นกับ Hookup มากกว่า การออกเดทนั่นเอง

 

การ Hook up เหมือนจะเน้นความใกล้ชิดทางเพศ (Sexual intimacy) ในขณะที่การออกเดทนั้นจะเน้นความใกล้ชิดทางอารมณ์ (Emotional Intimacy) มากกว่า2 นักสังคมวิทยาเหล่านี้ยังมองว่าวัยหนุ่มสาวสามารถเลือกใช้วิธีการคบหาได้ทั้งสองรูปแบบ บางคนชอบความสัมพันธ์แบบ Hookup มากกว่าเพราะไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเวลา หรือความรู้สึกให้กับอีกฝ่ายเท่ากับการออกเดท หรือบางทีการออกเดทกลับให้ความรู้สึกอิ่มเอิบใจ และความสุขมากกว่าความสัมพันธ์ที่ไม่ผูกมัดของ Hook up ทั้งสองรูปแบบจึงมีข้อดีและข้อเสียต่างกันไป3

 

ทั้งนี้ในปัจจุบันยังมีเทคโนโลยี หรือแอพลิเคชันต่าง ๆ ที่เป็นการเดทแบบออนไลน์หรือเรียกว่า Online Dating อีกด้วยโดยเฉพาะในช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา การออกเดทโดยการพบปะเจอหน้าอาจเกิดได้ยากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่า การออกเดทนั้นไม่ได้สาบสูญไปจากสังคม แต่เพียงแต่มันมีคำนิยามอื่น ๆ โดยเฉพาะคำว่า Hook up ที่เข้ามาเป็นหนึ่งในรูปแบบของการศึกษาดูใจ (และดูกาย) นั่นเอง

 

 

สำหรับงานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นนั้นถูกเขียนขึ้นและศึกษาในบริบทของตะวันตก ซึ่งเมื่อเราหันกลับมามองในภูมิภาคเอเชีย หรือกระทั่งประเทศไทย เราคงต้องตั้งคำถามว่าวัฒนธรรม Hook up หรือการออกเดทนั้นเป็นอย่างไร ในเมื่อความแตกต่างระหว่างการออกเดท หรือการ Hook up ที่พอจะสังเกตได้คือการเน้นที่ความใกล้ชิดทางอารมณ์ หรือทางเพศ แล้วคนเราแต่ละคน เมื่อพบคนที่เราชอบ หรือสนใจ เราเลือกที่จะออกเดทแบบจริงจัง หรือไม่ผูกมัด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการออกเดทแบบจริงจังหรือไม่ผูกมัดก็ตาม มีทฤษฎีหนึ่งที่สำคัญคือทฤษฎี Sexual Script หรือ Dating script

 

ทฤษฎีสคริปท์ของความรักหรือสคริปท์การออดเดทมองว่า สคริปท์หรือตัวบทเป็นสิ่งที่กำกับว่า ในสถานการณ์ทางเพศ ความสัมพันธ์หรือกระทั่งการออกเดทนั้น คนเราจะมีบทบาทหรือพฤติกรรมอย่างไร โดยสคริปท์นั้นแบ่งออกเป็นสามระดับ4 คือ

  • สคริปท์ระดับวัฒนธรรม (Cultural script) เป็นสิ่งที่สังคมและวัฒนธรรมนั้นกำหนด อาจมาจากภาพจำจากหนังสือ ภาพยนตร์ หรือจากคำสอนของคนในครอบครัว
  • สคริปท์ระหว่างบุคคล (Interpersonal script) จะเป็นส่วนที่บุคคลนำสคริปท์ทางวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้กับตนเองในสถานการณ์ตรงหน้ากับผู้อื่น และ
  • สคริปท์ส่วนบุคคล (Intrapersonal script) จะเป็นความปรารถนา แรงขับหรือจินตนาการส่วนตัวที่ตนเองมีอยู่

 

ตัวอย่างสคริปท์การออกเดทแรกที่มาจากการวิจัยต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น เริ่มจากการเตรียมตัว – ไปรับคู่เดท – รู้สึกประหม่า – ดูภาพยนตร์ พูดคุย จับมือ หัวเราะ – ไปคาเฟ่/งานสังสรรค์ – พูดคุย – ประเมินความสัมพันธ์ – ริเริ่มการสัมผัสทางกาย – การคุยเชิงลึก – ออกจากงานเลี้ยงสังสรรค์ – ไปส่งคู่เดทที่บ้าน – จูบ – นัดหมายเดทครั้งต่อไป5 โดยสคริปท์นั้นจะมีทั้งบทสคริปท์ที่บุคคลนั้นคิด หรือมองว่าสังคมกำหนดหรือคาดหวัง กับสคริปท์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่าง ก็คงเหมือนกับนักแสดงเมื่อได้สคริปท์ภาพยนตร์ละครมา บางทีก็มีแสดงนอกบท และสคริปท์ก็สามารถปรับเปลี่ยนและแก้บทได้

 

Flat design valentines day couple collection

 

ตัวอย่างสคริปท์การออกเดทที่ผู้เขียนหยิบมานั้นอาจะไม่สามารถสะท้อนถึงสคริปท์การออกเดทของคนในสังคมไทยได้ และจากการสืบค้นก็ยังไม่พบงานวิจัยที่ศึกษาในไทย จุดที่น่าสนใจคือ การที่เราจะออกเดท หรือ Hook up แสดงว่า เราจะหยิบเอาบทของเพศสัมพันธ์มาไว้ตรงไหน ในการพบกันครั้งแรก ในเดทที่ 5 หรือจนกว่าจะแต่งงาน ตรงนี้ก็คงขึ้นอยู่กับบทสคริปท์ของแต่ละบุคคล

 

อีกทั้ง สคริปท์การออกเดทของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น สำหรับเกย์ เลสเบียน นั้นย่อมมีลักษณะที่อาจแตกต่างจากชายหญิงทั่วไป โดยสำหรับ Script ชายหญิงในประเทศไทย มีถูกพูดถึงในพอดแคสต์ Open Relationship ของศาสตราจารย์ ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ และอรัณย์ หนองพล เช่น ผู้ชายมักถูกกำหนดให้เป็นผู้ริเริ่มการชวนออกเดท หรือการไปรับส่งคู่เดท มากกว่าฝ่ายหญิง หรือฝ่ายหญิงมักมองเป็นฝ่ายตั้งรับการถูกเชิญชวนออกเดท6 ทั้งนี้สำหรับกลุ่ม LGBTQ+ นั้นก็อาจมีการหยิบหรือประยุกต์สคริปท์การออกเดทของชายหญิงมาใช้7 ทั้งนี้งานวิจัยหลายชื้นก็พยายามจำแนกคุณลักษณะเฉพาะของการออกเดท ของเกย์และเลสเบียน อาทิ กลุ่มเกย์มักใส่สคริปท์เพศสัมพันธ์ในการออกเดท มากกว่ากลุ่มเลสเบียน หรือกลุ่มหญิงรักหญิงเองจะเน้นความใกล้ชิดทางอารมณ์มากกว่ากลุ่มเกย์ เป็นต้น

 

สำหรับสคริปท์นั้นเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับสังคมและวัฒนธรรมนั้น ๆ ปรับเปลี่ยนได้เสมอ เช่นเดียวกับตัวสังคมและวัฒนธรรมก็มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ปัจจุบันนี้ผู้หญิงเองก็สามารถที่จะเป็นผู้ริเริ่มการออกเดท ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นบทของฝ่ายชายฝ่ายเดียว อีกทั้งตัวบทสคริปท์เองไม่ได้เป็นสากล ทุกคนอาจมีสคริปท์ที่ไม่เหมือนกันเสมอไป ดังนั้นไม่ได้แปลว่า กลุ่มชายรักชายหรือเกย์ต้องเอาการมีสัมพันธ์สวาทไว้ในการออกเดทครั้งแรกเสมอไป เราจึงไม่ควรเหมารวมว่าบทของทุกคนจะเหมือนกัน

 

 

สำหรับบทความนี้เจตจำนงค์ของผู้เขียน เพียงแค่ต้องการสังเกตว่า ในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ ความรักไม่ว่าจะเป็นชายหญิงเกย์เลสเบียนหรือกลุ่ม LGBTQ+ ในสังคมไทย ไม่ว่าเราจะกำลังเข้าสู่วัยรุ่น วัยนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยหรือทุกวัยที่หัวใจยังปรารถนาความรัก เราอาจมีและกำลังใช้สคริปท์ในการออกเดทหรือความสัมพันธ์ที่ทั้งรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว ทั้งนี้ผู้เขียนไม่มีความประสงค์ที่จะสนับสนุนหรือส่งเสริมรูปแบบการคบหา หรือสคริปท์อันใดอันหนึ่งมากกว่า เราเคยตระหนักถึงสคริปท์เหล่านี้หรือไม่ และหากสคริปท์ของเรากับคนตรงหน้าเราต่างกัน เราจะรับมือ สื่อสารอย่างไร หรือกระทั้งในวัยพ่อแม่ที่ลูกกำลังเป็นวัยรุ่นไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพใด เราหรือสังคมจะชี้แนะหรือส่งเสริมสคริปท์เหล่านี้ให้กับลูกหลานของเราอย่างไร เพราะสิ่งที่พ่อแม่ เพื่อน สังคม ภาพยนตร์หรือสังคมบอกกล่าว ย่อมอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อสคริปท์ของเราแต่ละคนได้นั้นเอง

 

 

สุดท้ายนี้ทั้งผู้อ่านและผู้เขียนอยู่ในโลกที่มีรูปแบบความรักความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายเพศ หรือหลายรูปแบบ อาทิ Situationship, Friend with Benefits, ความสัมพันธ์แบบเปิด (Open relationship) เป็นต้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการออกเดท หรือการ Hook up มันอาจไม่ใช่จุดสุดท้ายของความรักความสัมพันธ์ (ในทุกครั้ง) มันอาจเป็นเพียงเป็นจุดเริ่มต้นของความรักความสัมพันธ์ที่คงต้องหมั่นดูแล สื่อสารและเอาใจใส่ เพื่อให้ความรักของเราเติบโตครับ

 

ด้วยรักใน Pride Month

 

 

 

Reference

 

1. Cambridge Dictionaries, s.v. “Dating (n.),” accessed May 23, 2024, https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/dating.

 

2. Luff, Tracy, Kristi Hoffman, and Marit Berntson. 2016. “Hooking Up and Dating Are Two Sides of a Coin.” Contexts 15, no. 1: 76-77. https://doi.org/10.1177/1536504216628848

 

3. Bauermeister, José A., Matthew Leslie-Santana, Michelle Marie Johns, Emily Pingel, and Anna Eisenberg. 2011. “Mr. Right and Mr. Right Now: Romantic and Casual Partner-Seeking Online among Young Men Who Have Sex with Men.” AIDS and Behavior 15, no. 2: 261-272. https://doi.org/10.1007/s10461-010-9834-5

 

4. Simon, William, and John H. Gagnon. 1986. “Sexual scripts: Permanence and change.” Archives of Sexual Behavior 15, no. 2: 97-120.

 

5. Morr Serewicz, Mary Claire, and Elaine Gale. 2008. “First-Date Scripts: Gender Roles, Context, and Relationship.” Sex Roles: 149-164.

 

6. The Standard Podcast, “Heterosexual Script จากหยั่งเชิงที่อาจกลายเป็นคุกคาม | Open Relationship EP.54,” YouTube Video, 36:51, November 16, 2023, https://www.youtube.com/watch?v=obK8fzNEYtg.

 

7. Klinkenberg, Dean, and Suzanna Rose. 1994. “Dating Scripts of Gay Men and Lesbians.” Journal of Homosexuality 26, no. 4: 23-35.

 

8. Watson, Ryan J., Shannon Snapp, and Skyler Wang. 2017. “What We Know and Where We Go from Here: A Review of Lesbian, Gay, and Bisexual Youth Hookup Literature.” Sex Roles 77, no. 11: 801-811.

 

 


 

 

 

บทความโดย

อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์

อาจารย์ประจำหลักสูตรจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

Share this content