จินตนาการและประสบการณ์(ดีๆ)สำคัญกว่าความรู้: การลดอคติเกี่ยวกับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

20 Jun 2024

อาจารย์ ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม

 

ถ้าผู้เขียนขอให้ผู้อ่านนึกถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะนึกถึงอะไรบ้างคะ?

 

หากสิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวเป็นภาพหรือคำทางลบก็เข้าใจได้นะคะ เพราะเมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้งที่ผู้ก่อเหตุอ้างว่าภาวะทางจิตเวชของตนเป็นสาเหตุ เมื่อเรารับรู้ข้อมูลเหล่านี้ผ่านสื่อที่นำเสนอเนื้อหาแบบสั้น ๆ เน้นการกระตุ้นเร้าเลยอาจทำให้เรามีภาพเหมารวม (stereotype) ทางลบต่อกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและ/หรือกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชได้ นอกจากการมีภาพเหมารวมทางลบแล้ว การได้รับข้อมูลทางลบเกี่ยวกับกลุ่มผู้ป่วยยังส่งผลทางอารมณ์ คือทำให้เกิดความหวั่นวิตกที่จะปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้ (intergroup anxiety) และผลทางพฤติกรรมคือการหลีกเลี่ยงคนกลุ่มนี้ ซึ่งทำให้เกิดระยะห่างทางสังคม (social distance) ระหว่างกลุ่มคนที่ไม่ใช่ผู้ป่วยและกลุ่มผู้ป่วย เมื่อขาดการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่ม โอกาสที่จะรู้จักผู้ป่วยในฐานะปัจเจกจึงไม่มีโดยปริยาย ภาพเหมารวมทางลบเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ได้รับการปรับแก้ ความหวั่นวิตกในการผูกสัมพันธ์กับผู้ป่วยคงอยู่ สุดท้ายแล้วบรรยากาศของสังคมก็จะเต็มไปด้วยความห่างเหิน อึมครึม ซึ่งไม่ใช่สภาพสังคมที่ส่งผลดีต่อมนุษย์ นักจิตวิทยาสังคมจึงพยายามจะลดสภาวะนั้น โดยใช้แนวคิด intergroup contact หรือการปฏิสัมพันธ์ของคนสองกลุ่มซึ่งเป็นวิธีทางจิตวิทยาสังคมในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/clubhouse/)

 

โชคดีที่ผู้เขียนได้รับเกียรติในการร่วมงานกับคุณเบญญารัศม์ จันทร์เปล่ง นักจิตวิทยาคลินิก กรมสุขภาพจิตที่ตัดสินใจเข้าศึกษาในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาจิตวิทยาสังคมเพื่อนำความรู้ด้านจิตวิทยาสังคมไปบูรณาการในการทำงานด้านสาธารณสุขของตน โดยจัดทำวิทยานิพนธ์เพื่อทดสอบว่าการจินตนาการว่าได้มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (imagined contact) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม สามารถลดความวิตกกังวลในการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและเจตคติรังเกียจกลุ่ม (prejudice) ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้หรือไม่

 

การวิจัยเป็นการทดลองออนไลน์ คนไทยที่มีงานประจำและไม่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าจำนวน 141 คนถูกสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ทั้งสองกลุ่มอ่านบทความที่กระตุ้นให้จินตนาการว่าตนได้ทำงานกับคนที่ไม่เคยทำงานด้วยกันมาก่อนคนหนึ่ง และเป็นการร่วมงานที่ทำให้เกิดมิตรภาพกับเพื่อนร่วมงานคนนั้น ความแตกต่างเดียวของเนื้อหาในบทความที่ทั้งสองกลุ่มได้อ่านคือเพื่อนร่วมงานเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยกลุ่มหนึ่งได้รับข้อมูลว่าเพื่อนร่วมงานไม่ใช่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ส่วนอีกกลุ่มได้รับข้อมูลว่าเพื่อนร่วมงานเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ส่วนอื่นของการทดลองเหมือนกันหมด คือ คำถามทดสอบความตั้งใจอ่านบทความ แบบวัดความวิตกกังวลในการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แบบวัดเจตคติรังเกียจกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คำถามเกี่ยวกับประสบการณ์การปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและแบบวัดความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า จากนั้นผู้วิจัยวิเคราะห์ทางสถิติว่าตัวแปรเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง

 

ผลการวิจัยพบว่ามีตัวแปรเดียวที่มีผลต่อความวิตกกังวลในการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า นั่นคือการจินตนาการว่าได้ร่วมงานและพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่เคยทำงานด้วยกันมาก่อน ดังนั้น สำหรับผู้ที่กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่แน่ใจว่าจะพูดคุยกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้ายังไงดี การฝึกจินตนาการว่าการติดต่อสัมพันธ์จะเป็นไปด้วยดี ไม่ยากลำบากและน่ากลัวจะช่วยคลายความกังวลในสถานการณ์นั้นได้ ส่วนตัวแปรที่มีผลต่อเจตคติรังเกียจกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคือประสบการณ์การปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยพบว่าความถี่ไม่มีผล แต่ปัจจัยที่ลดเจตคติรังเกียจกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคือประสบการณ์ที่ดี โดยพบว่าการเคยมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทำให้มีอคติต่อกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อย

 

ผลที่น่าสนใจอีกข้อคือ ไม่พบว่าการมีความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามีผลต่อความวิตกกังวลในการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือเจตคติรังเกียจกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ข้อค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดอคติต่อกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า การจะทำให้คนในสังคมมองกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในทางบวกต้องอาศัยกระบวนการทางจิตวิทยาสังคม ทั้งด้านอารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรม ซึ่งต้องอาศัยการริเริ่มและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น ครอบครัว ชุมชน สถาบันการศึกษา องค์กรต่างๆ ในการส่งเสริมให้คนต่างกลุ่มปฏิบัติต่อกันอย่างอบอุ่น เป็นมิตร เช่น การเตรียมความพร้อมและการให้กำลังใจให้ผู้ที่ไม่รู้ว่าจะเข้าหาผู้ป่วยยังไงดี การชื่นชมผู้ที่กล้าก้าวข้ามความหวั่นวิตกของตนเอง สามารถเข้าหาผู้ป่วยและปฏิบัติกับผู้ป่วยไม่ต่างจากคนอื่น เพราะบุคคลที่แสดงพฤติกรรมเหล่านี้มีบทบาทในการช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่รู้สึกว่าตนแปลกแยกจากคนอื่น เพื่อที่สุดท้ายแล้วทุกคนในสังคมจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและสบายใจ

 

 

 

หมายเหตุ

 

  1. ส่วนหนึ่งของงานวิจัยนี้เผยแพร่ในการประชุมวิชาการระดับชาติทางศิลปศาสตร์ประยุกต์ครั้งที่ 13 อ่านได้ที่หน้า 88 https://drive.google.com/file/d/1-hhT2BCsHrZy6lKk1uOCY8GlkpljZF8r/view?usp=drive_link
  2. ขออุทิศบทความนี้เพื่อเป็นการแสดงความยินดีกับคุณเบญญารัศม์ จันทร์เปล่ง นักจิตวิทยาคลินิก กรมสุขภาพจิต ว่าที่บัณฑิตแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม ผู้ที่เห็นความสำคัญของจิตวิทยาสังคมและมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเวชในทุกมิติ

 

 

 


 

 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม

 

Share this content