ภาวะซึมเศร้า เป็นภาวะจิตใจผิดปกติ ที่มีผลทำให้พฤติกรรมบุคคลเปลี่ยนไปจากเดิม คือ เกิดการมองตัวเอง มองสังคม และมองอนาคตในแง่ลบ เช่น มองตนเองว่าไร้ค่า มองเห็นแต่ความยากลำบาก ล้มเหลว และหมดหนทางแก้ไข อาจเป็นผลเนื่องมาจากการสูญเสียสิ่งต่างๆ ที่ตนรักไป (เช่น บุคคลที่รัก เงินทอง ตำแหน่งหน้าที่ ความเป็นอิสระ และความสำคัญอื่นๆ) ซึ่งอารมณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่หรือคงอยู่นาน ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อม
ภาวะซึมเศร้าแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ
ความรู้สึกเศร้า (depressive feeling) เป็นความรู้สึกไม่มีความสุข อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของตัวบุคคลหรือความบกพร่องของหน้าที่ด้านชีววิทยา ทั้งนี้ ความรู้สึกเสียใจหรือร้องไห้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่รวมว่าเป็นอาการของโรคซึมเศร้า คือจะไม่มีความคิดในแง่ลบกับตัวเอง ตำหนิตัวเองหรือคิดว่าตัวเองไร้ค่า
โรคซึมเศร้า (depressive illness, major depression) ลักษณะสำคัญของโรคนี้คือ จะมีอาการซึมเศร้าเป็นอาการเด่นชัดร่วมกับอาการสำคัญอย่างอื่น ดังคำอธิบายต่อไปนี้
อาการแต่ละอาการของโรคซึมเศร้า
- อารมณ์เศร้า เป็นอาการสำคัญของโรค ซึ่งมีด้วยกันหลายแบบ เช่น ใจคอหดหู่ ไม่มีชีวิตชีวา ไม่แจ่มใส ไม่เบิกบาน หรือจิตใจเศร้าหมอง อารมณ์เศร้าไม่จำเป็นต้องมีตลอดเวลา เวลาไม่เศร้าอาจรู้สึกสนุกสนานหรือมีอารมณ์ขันได้ แต่เมื่อเป็นมาก อารมณ์เศร้าจะมีอยู่เกือบตลอดเวลา แต่ไม่คงที่อยู่ตลอดวัน ส่วนมากผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้ามากที่สุดตอนเช้า และดีขึ้นในตอนเย็นหรือค่ำ
- อารมณ์หงุดหงิดโกรธง่าย อารมณ์นี้เป็นอาการสำคัญ ผู้ป่วยจะรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง แต่ควบคุมตัวเองไม่ได้ และมักเสียใจเมื่อทำสิ่งที่ไม่ดีไปแล้ว ซึ่งผู้ป่วยมักคิดว่าไม่มีใครเข้าใจว่าตนไม่สบาย และไม่อยากเป็นเช่นนี้ แต่เมื่อหงุดหงิดก็ไม่ทราบว่าจะควบคุมอย่างไร
- ความรู้สึกเบื่อและหมดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ทั้งกิจกรรมที่เคยชอบ และกิจวัตรประจำวันที่เคยทำก็ไม่อยากทำ ผู้ป่วยบางส่วนมีความรู้สึกทางเพศลดลงหรือไม่มีเลย
- เบื่ออาหาร ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกอยากอาหาร แม้ที่ตนเคยชอบ การรู้รสก็จะเปลี่ยนไปด้วย แต่ก็มีบางรายรู้สึกอยากอาหารมากกว่าธรรมดา
- นอนไม่หลับ มักปรากฏเป็นอาการแรก ผู้ป่วยอาจนอนไม่หลับเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ก่อนมีอาการอื่น ในระยะแรก ผู้ป่วยจะหลับยาก หลับไม่สนิท ฝันร้าย หรือตื่นบ่อย เมื่อเป็นมากขึ้นมักจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า นอนไม่หลับตอนใกล้เช้า ลักษณะคือ เมื่อเข้านอนจะหลับได้ตามปกติ แต่ตอนดึกตีหนึ่งตีสอง เมื่อตื่นแล้วจะหลับอีกไม่ได้ หรือหลับได้ยาก หลับไม่สนิท เป็นบ่อยจนเหมือนมีนาฬิกาปลุกให้ตื่น
- อ่อนเพลีย ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลียอยู่เกือบตลอดเวลาแม้ไม่ได้ออกแรง การพักผ่อนไม่ช่วยให้ดีขึ้น อาการอาจเกิดเฉพาะส่วนของร่างกายก็ได้ เช่น แขนหรือขา บางรายจะคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจเพราะเหนื่อยง่าย เมื่อมีอาการใจสั่นหรือเจ็บหน้าอกด้วยยิ่งทำให้วิตกกังวลมาก
- ความคิดเชื่องช้า ตั้งแต่เริ่มไม่สบาย ผู้ป่วยจะมีความคิด การเคลื่อนไหว และการพูดเชื่องช้า จะสังเกตได้ว่าผู้ป่วยจะเงียบและซึมลง สนใจเรื่องต่างๆ ลดลง หันมาเพิ่มความสนใจตัวเองและกังวลเกือบตลอดเวลากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะพยายามฝืนตัวเอง พูด แต่งตัว ทำงาน หรืออ่านหนังสือ เพื่อให้เหมือนปกติ แต่ก็ทำไม่ได้
- สมาธิเสีย ความจำไม่ดี และลืมง่าย ก็เป็นอาการสำคัญ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าพูดอะไรไปแล้วนึกไม่ออก อ่านหนังสือแล้วจำไม่ได้ ทำให้วิตงกังวลมากเพราะทำงานได้ไม่ดี ทำไม่ได้ มีข้อผิดพลาด กังวลว่าจะต้องออกจากงาน จะสอบตก หรือสมองจะเสียตลอดไป
- ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตนด้อยในด้านต่างๆ เช่น ความสามารถ สติปัญญา เกียรติยศชื่อเสียง คิดว่าตนทำหน้าที่บกพร่องและไม่อาจเป็นที่พึ่งของครอบครัวได้ ความคิดเช่นนี้ถ้ามีมากและรุนแรงจะทำให้ผู้ป่วยคิดอยากตายและฆ่าตัวตายได้ เพราะมองตนเองในด้านไม่ดีและไม่มีประโยชน์ตลอดเวลา ครุ่นคิดว่าตนเป็นคนไม่มีค่า เป็นภาระ และนำความยุ่งยากมาให้ครอบครัว ถ้าไม่มีตนทุกคนจะสบาย ดังนั้นจึงควรตายไปเสีย
- ความรู้สึกมีความผิด ผู้ป่วยที่เศร้ามากมักมีความรู้สึกมีความผิดและตำหนิตัวเอง ทั้งที่ไม่มีความผิดแต่อย่างใด หรือถ้ามีก็เป็นเรื่องไม่สำคัญ หากรู้สึกมากและรุนแรง ผู้ป่วยจะคิดว่าตนเป็นคนไม่ดี มีบาป ไม่สมควรมีชีวิตอยู่
- ความคิดอยากตาย ผู้ป่วยที่เศร้ามากๆ อาการไม่สบายทั้งหลายจะมีมาก จนรู้สึกทรมาน เมื่อถึงจุดที่ไม่อาจทนต่อไปได้ ผู้ป่วยจะหาทางหนีจากความทรมาน ซึ่งความตายเป็นทางออกที่ผู้ป่วยส่วนมากนึกถึงเป็นสิ่งแรก
- ความกลัวและความวิตกกังวล ผู้ป่วยจะกลัวและวิตกกังวลไปต่างๆ กังวลว่าทำไมเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ กลัวจะไม่หาย กลัวจะวิกลจริต กลัวจะเป็นโรคร้ายแรง กลัวเมื่ออยู่คนเดียว หรือกลัวจะทำอันตรายตนเอง ความกลัวและความวิตกกังวลเหล่านี้จะวนเวียนอยู่ในความคิดจนไม่อาจทำใจให้สงบได้
- อาการทางกายอื่นๆ ผู้ป่วยมักมีอาการทางกายร่วมได้ด้วยเสมอและเกิดได้กับอวัยวะทุกระบบ ที่พบบ่อย คือ ปวดท้อง ท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก ปวดเมื่อยตามตัว ผู้ป่วยทุกรายจะกังวลกับอาการเหล่านี้มาก และคิดว่าเป็นโรคทางกาย เวลามาพบแพทย์ก็ไม่แสดงอารมณ์เศร้าเลย ลักษณะดังกล่าวพบได้บ่อยในเวชปฏิบัติทั่วไป เรียกว่า mashed depression หรือความเศร้าที่ถูกปิดบัง
การดำเนินโรค
โรคซึมเศร้าอาจเริ่มเป็นในเด็กหรือวัยรุ่น อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยเมื่อเริ่มเป็นครั้งแรกคือ 24 ปี และคนรุ่นใหม่จะเริ่มมีอาการของโรคนี้ที่อายุน้อยลง
เป็นโรคที่มักเป็นซ้ำ ๆ ประมาณร้อยละ 50-60 ของผู้ป่วยที่เป็นครั้งแรกจะเป็นครั้งที่ 2 ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยที่มีอาการ 2 ครั้ง จะเป็นครั้งที่ 3 และร้อยละ 90 ของผู้ที่เป็น 3 ครั้งจะเป็นครั้งที่ 4
ร้อยละ 5-10 จะมีอาการของโรคซึมเศร้าชนิดแมเนียในเวลาต่อมา
สาเหตุของภาวะซึมเศร้า
ปัจจัยทางพันธุกรรม – จากการศึกษาในฝาแฝด พบว่า ฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน หากคนหนึ่งมีอารมณ์เศร้า ฝาแฝดอีกคนมีโอกาสเป็นร้อยละ 75 ส่วนฝาแฝดจากไข่คนละใบมีโอกาสเป็นร้อยละ 14 นอกจากนี้ พี่น้องของคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีโอกาสเป็นสูงกว่าคนทั่วไป 10-15 เท่า ถ้าบิดา-มารดาเป็นโรคซึมเศร้า บุตรมีโอกาสเป็นถึง 25 เท่า อย่างไรก็ดี ยังไม่ชัดเจนว่ามีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบใด แต่มีหลักบางอย่างแสดงว่าน่าจะถ่ายทอดผ่านทางโครโมโซม x
ปัจจัยทางชีวเคมี – ขณะที่มีอารมณ์เศร้า จะมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีบางอย่างในสมองที่สำคัญ คือ ซีโรโทนิน และนอร์อิพิเนฟริน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท หากสารสื่อประสาทสองตัวนี้ต่ำลง บุคคลจะเกิดอารมณ์เศร้า และถ้าเพิ่มขึ้น บุคคลจะตื่นเต้นและครื้นเครง นอกจากนี้ ฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อ โดยเฉพาะฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนก็เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า โดยพบว่า อารมณ์เศร้าเกิดบ่อยในผู้หญิง มักเกิดในระยะหลังคลอดหรือหมดประจำเดือน และเมื่อมีความผิดปกติของอารมณ์ จะมีความผิดปกติของประจำเดือนร่วมด้วย
ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม – ภาวะแวดล้อมและสภาวะตึงเครียด อาทิ การมีสัมพันธภาพที่ไม่ดีกับบุคคลอื่น การหย่าร้าง ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ความล้มเหลวในหน้าที่การงาน การสูญเสีย ทั้งการสูญเสียในชีวิตจริง หรือการสูญเสียในมโนภาพ เช่น การสูญเสียความภาคภูมิใจในตนเอง รวมถึงการเปลี่ยนวัย และโรคทางกายเรื้อรัง ล้วนสัมพันธ์กับการเกิดอารมณ์เศร้า เบื่อหน่ายชีวิต โดยบุคคลมีความคิดเกี่ยวกับตนเองและชีวิตที่ผ่านมา รวมถึงที่จะมีต่อในในอนาคตทางด้านลบ และไม่มีคุณค่า
โรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัยผสมผสานกัน คือ ทั้งพันธุกรรม ร่างกาย จิตใจ และสภาพสังคมวัฒนธรรมที่บีบคั้น และมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นได้ทั้งปัจจัยเสริม ปัจจัยเร่ง และปัจจัยให้ป่วยต่อเนื่อง โดยปัจจัยแต่ละด้านจะมีอิทธิพลมากหรือน้อยแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน
การช่วยเหลือผู้มีภาวะซึมเศร้า
การป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระยะแรก – ให้ความเข้าใจกันและกัน ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อบุคคล สำหรับเด็ก ผู้ใหญ่สามารถช่วยเหลือให้คำแนะนำเรื่องการปรับตัว การสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่น และแนวทางการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมได้
การป้องกันในระยะที่สอง – เมื่อพบเห็นปัญหาควรรีบให้การช่วยเหลือ ไม่มองข้ามหรือเพิกเฉย อาจแนะนำให้ใช้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาในโรงเรียน ศูนย์สุขภาพจิตชุมชน หรือสายด่วนสุขภาพจิต ทั้งนี้ สำหรับการประเมินว่ามีแนวโน้มมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่นั้น การสังเกตอารมณ์เพียงอย่างเดียวอาจสู้การถามโดยตรงไม่ได้ แบบประเมินภาวะซึมเศร้าสามารถค้นหาได้ในอินเทอร์เน็ต หากพบว่ามีแนวโน้ม ควรให้รับการปรึกษาจากนักจิตวิทยา เพื่อปรับวิธีคิดและเพิ่มทักษะทางสังคม และหากมีอาการรุนแรง ควรรับการรักษาจากจิตแพทย์เพื่อให้ได้รับยาที่เหมาะสมแก่อาการของผู้ป่วย เนื่องจากการทำจิตบำบัดอย่างเดียวอาจไม่ได้ผล
การป้องกันในระยะที่สาม – เมื่อได้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจแล้ว ผู้ป่วยและญาติควรเฝ้าระวังดูแลการกลับเป็นซ้ำ หาความรู้ และข้อมูลการช่วยเหลือทางสังคมสงเคราะห์ด้านต่างๆ
รายการอ้างอิง
“ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความคิดฆ่าตัวตายของนักเรียนวัยรุ่นที่ไม่มีประวัติการฆ่าตัวตาย” โดย อมรรัตน์ ศุภมาศ (2546) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/6434
“การเปรียบเทียบความสามารถด้านการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีภาวะปรกติและมีภาวะซึมเศร้า” โดย รัมภาศรี สุคนธมาน (2551) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47607
“ผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มต่อภาวะวิตกกังวล-ซึมเศร้า ของนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย” โดย ดารุวรรณ โรจนสุพจน์ (2544) คณะแพทยศาสตร์ – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/2418