การขอโทษที่มีประสิทธิภาพ

14 Feb 2025

คุณณัฐนันท์ มั่นคง

 

สวัสดีเดือนแห่งความรักครับ… ถึงบทความนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับความรัก หรือด้านดี ๆ ของความรักโดยตรง แต่ก็อยากพยายามเกริ่นแบบลากเข้าให้เกี่ยวกับความรักสัก 1 ย่อหน้า

 

ถ้าหากถามว่ารักคืออะไร คำตอบที่เราน่าจะเคยได้ยินผ่านสื่อต่าง ๆ มาตั้งแต่เด็ก ๆ (ตอนนี้คนเขียนก็ไม่เด็กมานานมากแล้ว) “รักคือการให้อภัย” ก็น่าจะเป็นหนึ่งในคำตอบที่พอคุ้นหูคนไทย อาจจะด้วยความเป็นเมืองพุทธ ที่มีค่านิยม ปล่อยวาง เมตตา ดูมี EQ ใด ๆ ก็แล้วแต่ ก็ฟังผ่าน ๆ ไม่ได้ตั้งคำถาม พอโตมาได้เรียนจิตวิทยาก็เริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมให้อภัย ? ทำไมรักไม่ขอโทษ ? ทำไมรักไม่แก้ไข ?

 

สมัยวัยรุ่นก็จะมีเพลงที่ร้อง “โกรธกันแล้วในใจของเธอมีความสุขไหม ?” พอได้ยินหลายปีจนโตมาก็เริ่มคิ้วขมวดพลางคิดในใจ “เอ้า จะให้หายโกรธอย่างเดียว ไม่กะจะสำนึกเรียนรู้แก้ไขอะไรเลยนิ ?”

 

พอเป็นยุคหลัง ๆ ก็มีวลีอย่าง “มัวแต่ให้อภัยแล้ว เมื่อไหร่จะได้แก้แค้น”

 

ก็เห็นคำว่าให้อภัยบ่อย บทความของคณะก็เคยเขียนเรื่อง การให้อภัย (Forgiving) หรือไม่ให้อภัย (Unforgiving) 1 บทความ แล้ว บทความนี้เลยจะมาเขียนเกี่ยวกับบทบาทของอีกฝั่งก็คือ ผู้ละเมิด ในกรณีที่ต้องการจะแก้ไขในสิ่งผิด ซ่อมแซมความสัมพันธ์ กับพฤติกรรมที่เรียกว่า “การขออภัย-ขอโทษ” (apology)

 

ความสัมพันธ์ของมนุษย์ไม่ว่ารูปแบบใด ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิด การละเมิด (transgressions) ทำลายความเชื่อใจ (trust violation) หรือสร้างความเจ็บปวด (hurt) ให้แก่กัน ไม่ว่าจะอุบัติเหตุทำให้อีกฝ่ายเจ็บตัว คำพูดที่ไม่เหมาะสมหรือผิดคำพูดทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ การละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือความคาดหวัง หักหลัง ทำลายความเชื่อใจ สร้างความเสียหายทางจิตใจ เวลา ธุรกิจ ฯลฯ จุดเริ่มต้นความขัดแย้งไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือใหญ่โต ล้วนส่งผลต่อ ร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์ของทั้ง ผู้ละเมิด (transgressor) และผู้ถูกกระทำ (victim)

 

Risen and Gilovich (2007) ได้นำเสนอบทบาททางสังคมของการขอโทษไว้ว่า

 

  1. การแสดงให้เห็นถึงการตระหนักรู้ว่าตนเองได้ละเมิดกฎใด ๆ ของสังคมอาจจะเป็น ศีลธรรม ศาสนาและความเชื่อ มนุษยธรรม สัญญา ความเชื่อใจ ฯลฯ รวมถึงยืนยันความชอบธรรมหรือการมีอยู่จริงและความสมเหตุสมผลของกฎที่ได้ละเมิดนั้น
  2. เพื่อกู้คืนเกียรติของผู้ถูกกระทำ และแสดงเจตนาว่าผู้ละเมิดยังต้องการประคับประคองความสัมพันธ์ระยะยาว และจะรับผิดชอบหน้าที่ในการแก้ไขความสัมพันธ์ ให้เหมือนเดิม หรือเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยทางสังคมในกรณีที่ทำผิดต่อกลุ่มบุคคลขนาดใหญ่

 

ดังนั้นแล้ว การขอโทษจะเกิดขึ้นก็ต้องมีกระบวนการคิดหลายอย่างเกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้ละเมิด (transgressor) กว่าจะเกิดขึ้นได้ แล้วก็มีหลายปัจจัยที่ขัดขวางที่ไม่เกิดการขอโทษ หรือทำให้การขอโทษไม่มีประสิทธิภาพโดย Karina Schumann (2018) ก็ได้นำเสนออุปสรรคนี้ไว้ 3 ปัจจัย

 

1. Low Concern for the Victim or Relationship

ผู้ละเมิด (transgressor) ที่ตื่นตระหนกและกลัวความผิด หรือกลัวผลลบต่าง ๆ ที่ตามมา มีแนวโน้มที่จะมีความคิดในลักษณะเอาตนเองเป็นที่ตั้ง เน้นการสื่อสารแบบปกป้องตัวเอง ระบุความผิดพลาดไปที่สิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ อ้างข้ออ้างใด ๆ หรือหนักสุดก็โทษเหยื่อ (Victim Blaming) ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การขอโทษเลย เพื่อที่จะขอโทษอย่างมีประสิทธิภาพ การยอมรับ เข้าใจปัญหาและความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับอีกฝ่ายเป็นสิ่งจำเป็น หรือภาษาไทยใกล้เคียงก็คือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ในมุมมองของผู้เสียหาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นอะไร รับรู้สถานการณ์และผู้ละเมิดอย่างไร และในฐานะผู้ละเมิดที่มีศีลธรรม จะสามารถแก้ไขได้อย่างไร

 

2. Perceived Threat to Self-Image

การยอมรับว่าตัวเองได้ละเมิดศีลธรรมใด ๆ ไป อาจจะยากง่ายต่างกันไปตามศีลธรรมที่ได้ละเมิดว่าผิดมากแค่ไหน ผู้มีจิตสำนึกดีอาจจะรู้สึกผิดหวังในตนเอง ก่อนจะยอมรับตนเอง และขอโทษ แต่สำหรับผู้มีชื่อเสียงหรือมีตำแหน่งสูง การขอโทษ อาจทำให้รู้สึกว่ากระทบภาพลักษณ์ทางสังคมของตนเอง และมักจะประเมินว่า การยอมรับและขอโทษแต่โดยดีนั้น น่าอับอายมากกว่า การหลบเลี่ยงปฏิเสธความผิดและปฏิเสธความรับผิดชอบ (Leunissen, De Cremer, van Dijke, & Reinders Folmer, 2014) หรืออีกส่วนก็กลัวว่าหากยอมรับความผิดและขอโทษไปแล้วก็จะ สูญเสียอำนาจ เสียเกียรติ เสียศักดิ์ศรี เสียตำแหน่งหรือเสียผลประโยชน์ใด ๆ ไป

 

3. Perceived Apology Ineffectiveness

ปัจจัยสุดท้ายก็คือการมองโลกในแง่ร้าย (pessimistic) ของผู้ขออภัย เพราะทุกการขอโทษก็มีความเสี่ยงที่ต้องแบกรับก็คืออาจจะไม่ได้รับการให้อภัย ผู้ละเมิดมีแนวโน้มว่าจะประเมินผลดีของการขอโทษต่ำกว่าที่คิด และไม่เชื่อว่าจะสามารถซ่อมแซมความสัมพันธ์ หรือชดเชยความเสียหายได้ ทำให้ขาดแรงจูงใจในการพยายามหรือลงทุนเพื่อให้เกิดการขอโทษที่มีประสิทธิภาพ

 

 

สำหรับผู้เขียนแล้ว ตัวคำว่า “ขอโทษ” หรือ “ขออภัย ที่ทำ…ในวันนั้น” จบ เปล่า ๆ โดยไม่มีอะไรเพิ่มเติม ก็เหมือนกับการหยิบยื่นกล่องเปล่าที่ไม่มีเนื้อหาอยู่ภายใน สะท้อนถึงความว่างเปล่าในห้วงความคิดขอผู้ขอโทษ สร้างความสับสนแก่ผู้รับสารว่า “ฉันต้องให้อภัยอะไร ?”

 

นักจิตวิทยาให้ความเห็นว่าคำ “ขอโทษ” เปล่า ๆ มีผลแค่ช่วยระงับอารมรณ์โกรธของผู้ถูกละเมิดเท่านั้น เหมาะกับอุบัติเหตุเล็กน้อยอย่างการ เดินชนกัน หรือเดินเตะ/เหยียบเท้า ขอโทษแล้วก็แยกย้ายกันไป ในขณะที่สิ่งที่เรา ทำลายความเชื่อใจ (trust violation) หรือสร้างความเจ็บปวด (hurt) ต่อผู้อื่น โดยเจตนาก็ดี หรือไม่เจตนาก็ดี จนต้องผิดใจกัน หากผู้ละเมิดอยากขอโทษ ต้องการการให้อภัยจากคนที่เรายังอยากคงความสัมพันธ์ต่อไปก็น่าจะต้องมีเนื้อหามากกว่านั้น ในส่วนสุดท้ายนี้จึงอยากยกงานของ Lewicki et al. (2016) ที่ได้ศึกษาโครงสร้างองค์ประกอบของการขออภัยที่มีประสิทธิภาพ มานำเสนอซึ่งได้ออกมาเป็น 6 องค์ประกอบ

 

1. Expression of Regret

ผู้ละเมิดแสดงความรู้สึกผิดและเสียใจ ที่ได้ทำพลาด หรือทำให้เกิดความสูญเสีย : การแสดงความรู้สึกผิดเล็กน้อย ร่วมกับประสบการณ์ผลกระทบที่ตนได้รับหลังจากที่กระทำละเมิดไป จะช่วยลดอารมณ์โกรธ และดำเนินการสื่อสารต่อไปได้ราบรื่นขึ้น

 

2. Explanation

อธิบายสาเหตุของการละเมิด : เป็นการเล่าเรื่องราว สถานการณ์แวดล้อม กระบวนการคิดพิจารณา การตัดสินใจ เจตนา การละเลย ความประมาท ความโลภ ฯลฯ ที่ทำให้เกิดความผิดพลาด ความสูญเสีย หรือพติกรรมที่ละเมิดนั้น ความเป็นประโยชน์ของส่วนนี้ก็แล้วแต่สถานการณ์ บางสถานการณ์ก็อาจไม่มีเหตุผลที่ดี หรือบางทีผู้เสียหายก็ไม่ได้อยากรู้เหตุผล แต่ก็เป็นส่วนสำคัญ ของผู้ถูกละเมิดที่คิดแบบเป็นเหตุผล ที่ต้องการพิจารณาสถานการณ์และกระบวนคิดของผู้ละเมิด เพื่อตัดสินว่าจะให้อภัย หรือไม่ให้อภัยในส่วนใด

 

3. Acknowledgement of Responsibility

ส่วนวิเคราะห์ตนเอง และสรุปการตระหนักรู้ของผู้ขอโทษว่า พฤติกรรมใดของตน ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ผิดศีลธรรม หลักการ ค่านิยมของสังคม และแสดงความรับผิดชอบ แก้ไขความบกพร่องทางศีลธรรมนั้น

 

4. Declaration of Repentance

แสดงความพยายามหรือวางแผนจะดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อตรวจสอบป้องกัน เพื่อประกันว่าจะเพื่อไม่ให้ความผิดพลาดเดิมเกิดซ้ำในครั้งถัดไป

 

5. Offer of Repair

สัญญาณที่แสดงถึงความพยายามของผู้ละเมิด ในการกู้คืนสถานการณ์ รับผิดชอบชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อ ร่างกาย ทรัพย์สิน ของอีกฝ่าย รวมถึงความพยายามซ่อมแซมความสัมพันธ์และความเชื่อใจที่เสียไป

 

6. Request for Forgiveness

ข้อความขอให้ผู้เสียหายให้อภัยในสิ่งทีได้ทำลงไป : จากกระบวนการทั้ง 5 ส่วนข้างบน ที่เป็นบทบาทของผู้ขอโทษร่ายยาวแต่เพียงผู้เดียว (ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้ฟังที่ดี) ส่วยสุดท้ายนี้ เหมือนจะบังคับสร้างปฏิสัมพันธ์ จากการสื่อสารฝ่ายเดียวเป็นการสื่อสารสองทาง ในกรณีที่มีแนวโน้มจะได้รับการให้อภัย ส่วนสุดท้ายนี้ก็เหมือนการชวนให้มาร่วมกันสร้างความเชื่อใจใหม่อีกครั้ง แทนที่ผู้ขอโทษจะต้องสร้างความเชื่อใจแก้ไขความสัมพันธ์แต่เพียงผู้เดียว

 

 

ทั้ง 6 นี้คือองค์ประกอบที่นักจิตวิทยาพบในการขอโทษที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีทั้งหมด แต่หากมีเยอะองค์ประกอบ มีแนวโน้มจะถูกประเมินทางบวกมากกว่ามีน้อยองค์ประกอบ แม้ความเห็นของนักจิตวิทยาที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยมักจะให้น้ำหนักกับส่วน Expression of Regret และ Acknowledgement of Responsibility เป็นส่วนหลัก ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ จะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์/ผู้รับสาร แต่จากกการทดลองไม่พบว่ามีองค์ประกอบใดที่สำคัญที่สุด

 

ก็จะพอเห็นได้ว่าการขอโทษที่ดีนั้น ผู้ละเมิดก็จะต้องใช้เวลา ทำความเข้าใจตนเองและสถานการณ์ที่ทำผิด เรียบเรียงความคิดพิจารณาความสามารถ และทรัพยากรของตนเองในการแก้ไขปัญหา วางแผนอนาคตระดับหนึ่ง แล้วทำให้ทั้งหมดเป็นการสื่อสารอีกที ซึ่งไม่ใช่กระบวนการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทันที รวดเร็ว ราบรื่น และใช่ว่าจะเกิดกับทุกคน กับผู้ถูกกระทำที่ไม่มีอำนาจ ความสัมพันธ์ไม่มีประโยชน์ไม่มีความหมาย การจะยอมตัดความสัมพันธ์ไป อาจจะง่ายกว่าการพิจารณายอมรับความพร่องศีลธรรมของตนเองรวมถึงการชดใช้ความเสียหายก็ได้ มนุษย์ก็เลยต้องมี กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ที่ใช้งานค่อนข้างลำบากไว้เป็นเครื่องมือท้าย ๆ ในการเรียกร้องความยุติธรรม

 

 

ในเดือนแห่งความรักนี้ เพื่อรักษาความสัมพันธ์และความรักให้ยืนยาวแบบ Heatly หากพบว่าตนเองทำอะไรผิดพลาดไป ก็ขอโทษ ยอมรับ เรียนรู้ และแก้ไข โดยลองพิจารณาทีละขั้นตอนตามที่นักจิตวิทยาได้นำเสนอมาข้างต้นกันดูนะครับ

 

 

 

 

อ้างอิง

Leunissen, J. M., De Cremer, D., van Dijke, M., & Reinders Folmer, C. P. (2014). Forecasting errors in the averseness of apologizing. Social Justice Research, 27, 322-339.

 

Lewicki, R. J., Polin, B., & Lount Jr, R. B. (2016). An exploration of the structure of effective apologies. Negotiation and conflict management research, 9(2), 177-196.

 

Risen, J. L., & Gilovich, T. (2007). Target and observer differences in the acceptance of questionable apologies. Journal of personality and social psychology, 92(3), 418.

 

Schumann, K. (2018). The psychology of offering an apology: Understanding the barriers to apologizing and how to overcome them. Current Directions in Psychological Science, 27(2), 74-78.

 

 

 


 

 

บทความโดย

ณัฐนันท์ มั่นคง

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา

Share this content