Emotional eating – การรับประทานด้วยอารมณ์

10 Jan 2020

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

 

การรับประทานด้วยอารมณ์ หมายถึง การรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับปกติเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางลบ อาทิ ความเสียใจ ความกังวล ความโกรธ หรืออารมณ์ทางบวก

 

ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วอารมณ์ที่กระตุ้นให้เกิดการรับประทานอาหารในลักษณะนี้นั้นจะเป็นอารมณ์ทางลบ โดยการรับประทานอาหารมักเกิดขึ้นเมื่อบุคคลอยู่คนเดียว หลังเวลาเย็นหรือระหว่างรับประทานของว่าง และมักเกิดขึ้นเมื่อบุคคลรับประทานอาหารที่บ้านของตนเองมากกว่าการรับประทานอาหารข้างนอก

 

การรับประทานด้วยอารมณ์ไม่ได้เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกาย คือ อาการหิว หรือไม่ได้ทำไปสู่เจตนาเพิ่มพลังงานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน หากแต่เป็นไปเพื่อเยียวยาอารมณ์ทางลบ หรือส่งเสริมอารมณ์ทางบวกของบุคคล

 

ซึ่งอาหารที่บุคคลเลือกรับประทานด้วยอารมณ์นั้นมักมีแคลอรี่สูง หรือคาร์บโบไฮเดรตสูง ซึ่งปริมาณแคลอรี่ที่สูงขึ้นนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคคลน้ำหนักขึ้นและอยู่ในภาวะอ้วน

 

 

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์


 

ลักษณะอารมณ์ (Mood)

การรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มเติมอารมณ์ทางบวกและลดอารมณ์ทางลบ และการรับประทานอาหารยังถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ลบ เช่น เบื่อหน่าย เศร้า โกรธ กลัว กังวล และเหงา

 

สถานการณ์ที่ต้องเผชิญ (Situational Characteristic)

เหตุการณ์ในชีวิตเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ โดย Macht, Haupt และ Ellgring พบว่านักเรียนที่ใกล้จะสอบมีความเครียดมากกว่าและมีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารเพื่อจัดการความเครียด

 

การจำกัดอาหาร (Eating Restraint)

อาจส่งผลให้บุคคลที่ควบคุมน้ำหนักยังเป็นผู้หมกมุ่น เข้มงวดอยู่กับการรับประทานอาหารแบบเข้มงวด ทำให้เสี่ยงต่อการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์ เช่น เมื่อบุคคลต้องใช้ความคิดในระดับที่มาก มีแนวโน้มที่จะบริโภคอาหารในปริมาณมากขึ้นด้วย

 

ภาวะอ้วน (Obesity)

ทฤษฎี Psychosomatic (Bruch, 1973) เสนอว่าความเชื่อมโยงระหว่างภาวะอ้วนและการรับประทานอาหารเกิดจากการเรียนรู้ของบุคคลผ่านการจัดการอารมณ์ทางลบ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่สะสมมาตั้งแต่วัยเด็ก โดย Braet และ Van Strein (1997) ได้รายงานว่าเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีที่มีภาวะอ้วนมีความเกี่ยวโยงกับการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์มากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักปกติ

 

ชาติพันธุ์ (Ethnic Background)

การศึกษาของ Jingxiong และคณะ (2007) พบว่าผู้ปกครองในประเทศจีนใช้อาหารเป็นการแสดงความรัก ความห่วงใย รวมถึงการฝึกลูกหลานของตนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่นเดียวกับงานวิจัยของ Steinegger, Dorn, Goody, Khoury และ Daniels (2005) ที่พบว่าสตรีแอฟริกันอเมริกันมีความเสี่ยงที่จะรับประทานอาหารด้วยอารมณ์เป็นพิเศษในช่วงวัยรุ่นตอนต้น

 

อิทธิพลของครอบครัว (Familial Influence)

เด็กอาจเรียนรู้การรับประทานอาหารด้วยอารมณ์ ผ่านการสังเกตและเลียนแบบของพ่อแม่ นอกจากนี้ Snoek และคณะ (2007) เสนอว่า ลูกในวัยรุ่นที่มีรายงานว่าได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์น้อย มักมีความเสี่ยงในการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์มากกว่าวัยรุ่นที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครอง

 

ลักษณะบุคลิกภาพ (Dispositional Characteristic)

การศึกษาของ Benjamin และ Wulfert (2002) พบว่าลักษณะร่วมของผู้ที่รับประทานอาหารด้วยอารมณ์และการติดแอลกอฮอล์มีบุคลิกภาพหุนหันพลันแล่นและคล้อยตามสังคมได้ง่าย

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

“ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมต่อการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์และการรับรู้ความสามารถของตนในการลดน้ำหนักของนิสิตนักษึกษาหญิง” โดย ภาสุร จึงแย้มปิ่น (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55391

 

ภาพจาก https://www.fitfoundme.com/kick-emotional-eating-curb/

Share this content