Empathy ในโลกออนไลน์…ไมตรีที่หยิบยื่นให้กันได้

28 Jun 2021

คุณบุณยาพร อนะมาน

 

ในโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยแอพลิเคชั่นและเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนได้ติดต่อสื่อสารกันผ่านเครือข่ายโลกออนไลน์หรือที่เรียกว่า Social Network นั้น สร้างความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสารและทำความรู้จักกับผู้คนใหม่ ๆ มากมาย ฟังดูแล้วอาจเป็นความสะดวกสบายในการสร้างสังคมและความสัมพันธ์ใหม่ อย่างไรก็ตามข่าวสารของการใช้เครือข่ายออนไลน์ในทางที่ผิดต่างก็มีให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง และหนึ่งในปัญหาที่พบเจอได้มากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ทั้งในรูปแบบของความคิดเห็นที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงและหยาบคาย การคุกคามทางเพศและความเป็นส่วนตัว หรือวิธีการอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก ทั้งในด้านความมั่นใจในตนเอง การเห็นคุณค่าในตนเอง สุขภาวะทางจิตหรือเลวร้ายที่สุดคือการก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิต

 

สาเหตุสำคัญของการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์คือการขาดความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ต่อกัน เพราะการพัฒนาทางเทคโนโลยีแม้จะเชื่อมต่อผู้คนเข้าหากันแต่ก็ไม่สามารถทำให้คนเหล่านั้นรับรู้ถึงความเจ็บปวดของผู้ถูกกระทำได้ การรู้สึกว่าตนเองอยู่ห่างไกลจากความทุกข์และสถานการณ์เหล่านั้น หรือการที่ไม่สามารถจินตนาการถึงความรู้สึกของผู้ถูกกระทำได้นั้นส่งผลให้ฝ่ายกระทำไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อนกับสิ่งที่ได้ทำลงไป

เพราะไม่เห็นจึงไม่รับรู้ และเพราะไม่เข้าใจจึงไม่รู้สึก…

 

 

แล้ว Empathy คืออะไร? ทำไมถึงเป็นสิ่งที่ควรมีเพื่อช่วยลดการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ ?

 

ความหมายของความเห็นใจหรือ Empathy นั้นสามารถแปลได้อย่างตรงตัวคือ เห็นในสิ่งที่อยู่ในใจ หรือเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายรู้สึกเหมือนเห็นหรือรู้สึกด้วยตนเอง เป็นการเอาทัศนคติของผู้อื่นมาใส่ในใจเราเพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุของความคิดและความเป็นจริงโดยไม่ตัดสินความผิดถูกชั่วดี เพราะการตัดสินนั้นเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกออนไลน์อันเนื่องมาจากความคิดเห็นที่ว่า “คนคนนั้นสมควรได้รับ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวบน Social Network ที่ได้เห็นผ่านตาเพียงแค่ตัวอักษร

 

 

การสร้าง Empathy…เริ่มต้นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าจะทำ…

 

ในการเสริมสร้างความเข้าอกเข้าใจกันอย่างร่วมรู้สึกนั้นมีข้อแนะนำ 3 ประการที่ได้รับจาก Dr.Roman Krznaric ผู้ศึกษาเกี่ยวกับทักษะนี้คือ

 

1. การลดอัตตาและการเหมารวมว่าเราเข้าใจผู้อื่นเป็นอย่างดี

เพราะเราตัดสินว่าคนนี้เป็นแบบนั้น หรือคนนั้นเป็นแบบนี้ ด้วยความคิดเห็นและมุมมองของเราเพียงผู้เดียว ใช้ประสบการณ์ของตนเองในการเป็นแม่พิมพ์ของเหตุการณ์ที่ผู้อื่นเผชิญและคิดเอาเองว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร กับดักของความคิดเหล่านี้คือ “ฉันก็เคยเจอเหตุการณ์เหล่านี้ฉันยังผ่านมันมาได้” หรือ “เรื่องเล็กเพียงเท่านี้ขนาดฉันเองยังไม่เป็นไร” หากปรับเปลี่ยนแนวคิดเหล่านี้ได้ ลดการตัดสินผู้อื่นลง ทำความเข้าใจว่าในทุกสถานการณ์ของแต่ละคนมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ก็สามารถเริ่มต้นการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้

 

2. สงบนิ่งเพื่อ “ฟัง” อย่างตั้งใจ

 

รับฟังในเหตุผลและความรู้สึก ไม่ขัดจังหวะและไม่สอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัวของตนเข้าไป ไม่เพียรพยายามหาส่วนดีที่หลงเหลือในความเจ็บปวดของใคร เช่น หากมีคนทุกข์ใจเพราะสามีนอกใจ ก็ไม่ควรปลอบใจว่าอย่างน้อยที่สุดก็ยังมีโอกาสได้แต่งงาน ในสถานการณ์เช่นนี้หากลองนึกดูแล้วผู้ฟังอาจยิ่งเจ็บปวดมากขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้

 

3. เพิ่มประสบการณ์ และใช้เวลากับกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น

 

เพื่อทำความเข้าใจถึงมุมมองและทัศนคติที่แตกต่างจากตนเอง เปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้นว่าบนโลกใบนี้ยังมีคนอีกมากมาย มีความคิดอีกนับล้านที่ไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เรากำลังคิด มีสถานการณ์อีกหลากหลายที่มีเงื่อนไขแตกต่างกัน เมื่อเรารับรู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น เราย่อมตัดสินผู้อื่นน้อยลงและมองเห็นความเป็นจริงได้มากยิ่งขึ้น

 

 

เมื่อเห็นใจกันจึงทำร้ายกันน้อยลง…และเมื่อเข้าใจกันจึงไม่ยากที่จะมอบไมตรีให้แก่กันไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือคนรอบข้างก็ตาม

 

 


 

 

รายการอ้างอิง 

ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com

 

 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณบุณยาพร อนะมาน

นักจิตวิทยา ศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Share this content