ความฉลาดทางอารมณ์ในโลกออนไลน์

26 Dec 2017

อาจารย์จรุงกุล บูรพวงศ์

 

ชีวิตคนเราเดี๋ยวนี้ต้องอยู่ในโลกไซเบอร์หรืออินเทอร์เน็ตอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ผ่านมา คนไทยอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป ซึ่งมีเกือบ 63 ล้านคน มีผู้ที่ท่องโลกไซเบอร์ หรืออินเทอร์เน็ตทั้งสิ้นกว่า 16 ล้านคน หรือคิดคร่าว ๆ ก็คือ 1 ใน 4 ของประชากรกลุ่มเป้าหมาย และถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีแหล่งข่าวอ้างว่าจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 18 ล้านคน และกว่าร้อยละ 80 ของคนเหล่านี้มีบัญชีเฟสบุ๊ค อีกทั้งกรุงเทพกลายเป็นเมืองที่มีจำนวนผู้ใช้เฟสบุ๊คมากที่สุดในโลก หรือกว่า 8 ล้านคนทีเดียว แสดงให้เห็นว่าคนไทยให้ความสนใจเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน และใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในระดับสูง และมีทีท่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรถามว่าโลกไซเบอร์ดีหรือไม่ดี อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์หรือมีโทษอีกต่อไปแล้ว เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าเราจัดการหรือใช้งานสิ่งนั้นอย่างไร

 

นักจิตวิทยาได้พยายามติดตามศึกษาพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ และมีประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เราท่องอินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน หรือมีความฉลาดทางอารมณ์ในโลกออนไลน์

 

ประการแรก โปรดระวังการขาดการยับยั้งใจ (disinhibition) การโพสต์ข้อความหรือเขียนความคิดความรู้สึกของเราอย่างเมามันไม่ยั้งมือเมื่อออนไลน์ เป็นปรากฏการณ์ที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ บางคนคงจะเคยรู้สึกเสียใจ รู้สึก “ไม่น่าเลย” ที่ได้เขียนอะไรลงไป หรือกรณีของผู้ที่ต้องติดคุกติดตะราง ถูกให้ออกจากงานหรือต้องเสียเพื่อนฝูงเสียคนรักที่คบกันมานานปีเพราะความลืมตัวบนโลกอินเทอร์เน็ต ก็มีให้ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ การขาดการยับยั้งใจในโลกไซเบอร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเมื่อเราพบกันตัวจริงเสียงจริงเสียอีก

 

นักจิตวิทยาอธิบายว่า “สภาวะนิรนาม” (anonymity) หรือการไม่ปรากฏเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนของเรา มักทำให้เราหลุดพ้นออกจากกฎ-กติกา-มารยาท ตามเกณฑ์มาตรฐานของสังคมโดยไม่รู้ตัว เรารู้สึกมีเสรีภาพ เป็นอิสระกว่าที่ควรจะเป็น ปลอดจากความเป็นตัวตนและพันธะความรับผิดชอบที่ผูกติดอยู่กับตัวตนนั้น (deindividuation) ขาดการระงับยับยั้งชั่งใจ และกระทำสิ่งที่ ถ้าอยู่ด้วยกันตัวต่อตัวโดยปกติวิสัยแล้วจะไม่กล้าทำ ทำนองเดียวกับการกล้าแสดงความก้าวร้าวรุนแรงของ กลุ่มม๊อบ หรือเล่นอะไรแผลง ๆ เมื่อแต่งแฟนซีใส่หน้ากาก หรือแม้กระทั่งการกล้าลุกขึ้นเต้นสุดเหวี่ยงในแสงสลัวของคอนเสิร์ต สภาวะนิรนามตัดเราออกจากบุคลิกภาพปกติ ทำให้เราขาดการเชื่อมโยงกับความเป็นจริง จึงเอื้อให้เกิดการกระทำหรือแสดงออกแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ อย่างไม่รู้ตัวได้โดยง่าย

 

เราควรเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์โดยระมัดระวังถ้อยคำของเรา ตระหนักถึงการขาดการยับยั้งใจบนอินเทอร์เน็ตกันให้มาก ๆ สุภาษิตที่ว่า “ปลาหมอตายเพราะปาก” อาจจะเปลี่ยนไปให้เข้ากับยุคสมัยนี้ กลายเป็น “ปลาหมอตายเพราะปาก และเราอาจลำบากเพราะปลายนิ้วมือ”

 

นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องแปลกที่ว่ามีปรากฏการณ์ในแง่ตรงกันข้ามก็เกิดขึ้นด้วย จากผลของการปราศจากการยับยั้งใจในโลกออนไลน์ พบว่าคนบางคนกลับกลายเป็นนิรนามน้อยกว่าในชีวิตนอกอินเทอร์เน็ต คือเปิดเผยตนเองในเครือข่ายออนไลน์มากเกินไป บางทีถึงขนาดยอมรับในสิ่งที่แม้กับเพื่อนสนิทก็ยังไม่บอกให้รู้ เผลอหลุดปลายนิ้วเผยเรื่องราวส่วนตัวออกไป สุดท้ายก็มักจะเสียใจในภายหลังว่าไม่น่าลืมตัวเลย และนอกจากเสียใจแล้วก็เป็นไปได้ที่เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ จะเกิดขึ้นตามมาด้วย สภาวะนิรนามมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมออนไลน์ของเราเป็นอย่างยิ่ง ควรตั้งสติและปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราให้ดี

 

อย่างไรก็ตาม การไม่ต้องปรากฏตัวให้ใครเห็นในโลกไซเบอร์ก็มีข้อดี คือเราไม่ต้องเป็นกังวลว่าเสื้อผ้าหน้าผมของเราดูดีแล้วหรือยัง และก็ไม่ต้องเป็นห่วงสีหน้าท่าทางของเราด้วย เราสามารถมีสมาธิและอยู่กับความคิดความรู้สึกหรือสิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไปได้อย่างเต็มที่ ลองนึกถึงการปฏิสัมพันธ์จริง ๆ ในชีวิต ไหนจะตื่นเต้น ประหม่าเขินอาย ไหนจะถูกเบี่ยงเบนความสนใจโดยรูปลักษณ์การปรากฏกาย แววตาสีหน้าของคู่สนทนา ไหนจะพยายามอ่านสีหน้าท่าทาง ตีความน้ำเสียงของอีกฝ่าย เพราะฉะนั้นในบางสถานการณ์ การสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตจึงอาจชัดเจน ตรงประเด็น เฉียบแหลม และมีประสิทธิภาพมากกว่า

 

ยิ่งไปกว่านี้ ในการสนทนาแบบตัวต่อตัวกับผู้อื่น มีเรื่องบางเรื่องที่เรากลัวว่า เราจะสะเทือนใจและแสดงออกทางอารมณ์เกินไปถ้าพูดออกมา จนทำให้เราไม่กล้าพูดถึง แต่ในโลกออนไลน์เราสามารถเรียบเรียงและเล่าเรื่องที่ลำบากใจไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องหวั่นว่าเราจะเสียสมดุลในสายตาผู้อื่น มิหนำซ้ำขณะที่เราพิมพ์ข้อความ เราเองก็มักจะใช้เหตุผลและเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งใจเย็นขึ้นด้วย ส่วนฝ่ายผู้รับหรือผู้อ่านข้อความของเรานั้น การวิจัยพบว่ามักเกิดความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนม เป็นกันเองขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ประมาณว่าข้อความที่อ่านไปจะกลายเป็นเสียงดังอยู่ในโสตประสาท และผนวกเข้ากับการสนทนากับตัวเองของคนเรา

 

การสื่อสารออนไลน์สร้างความใกล้ชิดสนิทสนมแบบจดหมายให้เรา แต่ด้วยข้อความเรื่องราวปกติในชีวิตประจำวันที่ไม่ต้องเป็นทางการหรือมีพิธีรีตองอะไรเลย ประโยชน์ข้อนี้ในระดับกลุ่มพบว่า เครือข่ายออนไลน์สามารถสร้างกลุ่มในการบำบัดทางจิต หรือกลุ่มสนับสนุนทางจิตใจต่าง ๆ ให้สมาชิกกล้าเปิดใจ กล้าแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกที่เก็บกลั้นไว้ในใจ ตลอดจนกล้าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความหวัง ความฝันและความกลัวได้ โดยอาศัยผลทางบวกของการปราศจากการระงับยับยั้งชั่งใจในโลกออนไลน์ เพื่อความงอกงามและการปรับตัวต่าง ๆ ตราบใดที่สมาชิกสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวและปกปิดเอกลักษณ์ตัวบุคคลไว้ได้

 

เมื่อสื่อสารออนไลน์เราสามารถแม้กระทั่งออกจากบุคลิกภาพปกติ ไปสู่บุคลิกภาพใหม่ หรือตัวตนใหม่ด้วยก็ยังได้ และหลายคนเป็นเช่นนี้ ซึ่งอาจเป็นกรณีในทิศทางบวก เช่นปกติไม่ค่อยกล้าเสนอแนะ ไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น ก็สามารถมีส่วนร่วม แสดงออกอย่างฉะฉานน่าประทับใจในโลกออนไลน์ได้ และเมื่อมีโอกาสฝึกฝนทักษะในสถานการณ์ที่วิตกกังวลน้อยคุกคามน้อยบนโลกอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็มักแผ่ขยายไปยังพฤติกรรมเมื่อปฏิสัมพันธ์ซึ่ง ๆ หน้ากับผู้อื่น จนเกิดการพัฒนาก้าวหน้าดีขึ้นตามไปได้ด้วย

 

แต่อิทธิพลจากการขาดการระงับยับยั้งใจและสภาวะนิรนาม ประกอบกับการปราศจากเอกลักษณ์ตัวบุคคลในโลกอินเทอร์เน็ตที่เอื้อให้ผู้คนนำเสนอตัวตนได้ต่าง ๆ นานา อาจเป็นไปในทิศทางลบที่มุ่งร้าย เป็นภัยอันตรายหรือสร้างความทุกข์ใจแก่ผู้อื่นได้เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นขอให้ระลึกไว้เสมอว่าตัวตนของชาวไซเบอร์ที่เรารู้จักอาจไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเขาก็ได้ เราต้องช่วยกันเตือนลูกหลานญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงให้ระมัดระวัง อย่าไปหลงเชื่อคนไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต และทำนองเดียวกัน เราเองก็ต้องระงับยับยั้งใจอย่าเคลิบเคลิ้มไปกับสภาวะนิรนามและสำแดงตัวตนที่แตกต่างไปจากความเป็นจริงอย่างสนุกสนาน จนอาจทำร้ายจิตใจผู้อื่น หรือเข้าข่ายหลอกลวงสังคม และถือเป็นความผิดทางกฎหมายได้

 

ข้อคิดประการต่อไป การมีความฉลาดทางอารมณ์ในโลกไซเบอร์ ยังหมายถึงการเข้าใจในความไม่ปะติดปะต่อของการสื่อสารออนไลน์บางครั้งเราต้องรอเป็นเวลานานกว่าสิ่งที่เรากล่าวไปจะได้รับการตอบสนอง หรืออาจจะไม่ได้รับเลยก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้งหลาย ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะปล่อยวาง และอยู่ในสังคมอินเทอร์เน็ตด้วยจิตว่าง ไม่หวั่นไหวกระทบกระเทือน และไม่ถือเป็นเรื่องที่ต้องเก็บมากังวล โดยลดละการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งไปซะ

 

สำหรับพวกเราบางคนที่มีลักษณะอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธเป็นพื้นนิสัยอยู่แล้ว คือเป็นห่วงเป็นกังวลมากเกินไปว่าผู้อื่นจะปฏิเสธ จะไม่ยอมรับ จะไม่ตอบสนอง เช่นนี้ก็ต้องฝึกฝนใจให้ดี เรียกว่าต้องเสริมภูมิต้านทานให้ใจคอหนักแน่น อย่าไประบุว่าปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์นั้นเกี่ยวข้องกับตนเป็นการส่วนตัว อย่ามัวแต่ตีความว่าการตอบสนองหรือไม่ตอบสนองของสมาชิกอื่น ๆ มีสาเหตุมาจากตัวเราเอง แต่ควรทำใจให้สบาย ๆ คิดซะว่าการสื่อสารบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่มีอะไรแน่นอน เดี๋ยวคนนี้มาคนนั้นไป เดี๋ยว like เดี๋ยวไม่ like เป็นเรื่องธรรมดา เราต้องรู้เท่าทัน และพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เพื่ออยู่กับเทคโนโลยีนี้และตักตวงประโยชน์สุขจากความก้าวหน้าของมนุษยชาติให้ได้เท่าที่ทรัพยากรและสติปัญญาความสามารถส่วนบุคคลจะอำนวย และมีความสุขสนุกสนานเพลิดเพลินในโลกออนไลน์ด้วยความฉลาดทางอารมณ์

ความจริงหลักการสำคัญในการดำรงชีวิตบนโลกออนไลน์ ก็คือหลักการเดียวกันกับการใช้ชีวิตโดยทั่วไป นั่นก็คือทางสายกลาง ไม่น้อยไป ไม่มากไป ไม่แรงไป ไม่จืดไป ไม่บ่อยไป ไม่ถี่ไป

 

ยกตัวอย่างเช่น การที่ใครสักคนหนึ่งขยันโพสข้อความหรือสิ่งที่น่าสนใจขึ้นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เราก็จะได้พบได้เห็นเขาคนนั้นและเรื่องราวของเขาบ่อย ๆ จริงอยู่ที่เรามักชอบสิ่งที่เราคุ้นเคย หรือเห็นบ่อย ๆ ยิ่งคุ้นเคยก็ยิ่งชอบมากขึ้น นักจิตวิทยายืนยัน แต่เมื่อบ่อยเกินไป หรือเนื้อหาทำนองเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ถึงจุด ๆ หนึ่งเราก็มักจะเริ่มเบื่อ เริ่มเอือมระอา ที่เคยชื่นชม ที่เคยประทับใจ ที่เคยเห็นคุณค่า ก็อาจจะกลายเป็นเฉย ๆ หรือเซ็ง ๆ หรือแม้กระทั่งรู้สึกรำคาญขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นความน่าดึงดูดใจสร้างได้ด้วยทางสายกลาง อย่าใช้เวลาป้อนทุกสิ่งทุกอย่างที่รู้สึกหรือประสบพบเจอขึ้นไปบนอินเทอร์เน็ต และอย่าคอยเฝ้าตอบสนองทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้อื่นส่งมา ซึ่งก็แน่นอนว่า ถ้าหากเรามัวแต่คอยจะใช้ชีวิตออนไลน์ แล้วเราจะมีเวลาไปหาประสบการณ์ดี ๆ ในชีวิตจริงมาเพิ่มความน่าสนใจให้ตัวเราได้อย่างไร ผู้มีอีคิวหรือความฉลาดทางอารมณ์ในโลกไซเบอร์ จะตระหนักดีในประเด็นเหล่านี้

 

ผลเสียที่ชัดเจนของการอยู่กับอินเทอร์เน็ตมากเกินไปก็พอจะเป็นที่ทราบกันดี ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียเวลาสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ กับคนใกล้ชิด การขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา และการอดนอนที่ส่งผลกระทบไปยังด้านอื่น ๆ ของชีวิตอีกมากมาย เช่น สุขภาพ การทำงาน และความปลอดภัยเมื่อใช้ยวดยานพาหนะ ส่วนผลอื่น ๆ ที่ไม่ชัดเจนที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต ก็เริ่มปรากฏออกมาให้ทราบจากผลการศึกษาวิจัยทางจิตวิทยา เช่น เรื่องความหึงหวง

 

นักจิตวิทยาพบว่าผู้ที่ใช้เวลาบนเฟซบุ๊กมาก จะหึงหวงคู่รักของตนมากขึ้นด้วย สาเหตุอาจเป็นเพราะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับคู่รักมากขึ้น รู้ว่ารู้จักใครและไปไหนทำอะไรมามากขึ้น ซึ่งในยุคก่อนเครือข่ายสังคมข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ได้รับการเปิดเผย

 

พูดถึงการเปิดเผยตนเอง คงไม่แปลกใจว่าผู้ที่ไม่ค่อยจะปฏิบัติตามทางสายกลางในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ได้แก่ คนโสด คนโสดจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวที่ละเอียดลึกซึ้งมากกว่าผู้ที่มีคู่รักแล้ว หรือผู้ที่ไม่ระบุสถานะความสัมพันธ์ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่ว่า คู่นัดพบทางออนไลน์เปิดเผยตนเองให้กันและกันรวดเร็วกว่าคู่นัดพบที่พบกันจริง ๆ ดูเหมือนว่าการขาดการระงับยับยั้งใจเมื่อออนไลน์จะสามารถทั้งเร่งและเพิ่มการเปิดเผยตนเองของคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนโสดและคนที่อายุไม่มาก การเปิดเผยตนเองมากเกินไป และ/หรือเร็วเกินไปอาจทำให้เราลำบากและเสียใจในภายหลังได้

 

อินเทอร์เน็ตกับการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อีกต่อไป การจะมีชีวิตที่ราบรื่นจำเป็นต้องอาศัยความฉลาดทางอารมณ์ รู้เท่าทันธรรมชาติของพฤติกรรมการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต มีสติ ไม่เผลอทำสิ่งที่จะทำให้ต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง และพิจารณายึดถือทางสายกลางเป็นแนวปฏิบัติบนโลกไซเบอร์ เช่นเดียวกับในโลกแห่งการพบหน้าสบตาพูดจากัน

 

บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะต้านทานสิ่งล่อใจจากโลกออนไลน์ พฤติกรรมส่วนหนึ่งของเรามักตกอยู่ภายใต้กลไกที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “การเสริมแรงแบบกำหนดเวลาไม่แน่นอน” และ “การเสริมแรงแบบกำหนดอัตราไม่แน่นอน” ซึ่งล้วนเป็นกลไกที่มีอานุภาพมาก

 

ตัวอย่างเช่นการเช็คอีเมล์ ส่วนใหญ่เราก็มักจะได้รับอีเมล์ธรรมดา ๆ ไม่มีอะไรสนุกสนาน ไม่มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ แต่แล้วจู่ ๆ เราได้รับเมล์ที่ถูกใจ มีอะไรดี ๆ เข้ามาให้เราอ่าน เราชอบมาก พฤติกรรมการเช็คอีเมล์ของเราก็จะได้รับการเสริมแรงจากอีเมล์เด็ด ๆ ที่เข้ามานี้ คือเราก็จะคอยเช็คเมล์อยู่เรื่อย ๆ และไม่เลิกง่าย ๆ แม้นาน ๆ ทีเมล์ที่ถูกใจถึงจะโผล่เข้ามา ภายใต้กลไกการเสริมแรงแบบกำหนดเวลาไม่แน่นอนนี้ นิสัยการเช็คอีเมล์จึงเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และคนส่วนใหญ่ก็ประเมินความถี่ที่ตนเข้าอีเมล์น้อยกว่าความเป็นจริงด้วย

 

หรือถ้าจะวิเคราะห์การเข้าเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้งหลาย บางครั้งเราโพสรูปหรือข้อความขึ้นไปโดยไม่ค่อยได้รับการตอบสนอง แต่ทว่าบางทีเราก็บังเอิญได้รับการกด like อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ได้รับ comment ชื่นใจ ๆ เข้ามาอย่างคาดไม่ถึง เช่นนี้หมายความว่าพฤติกรรมการโพสของเราได้รับการเสริมแรงแบบกำหนดอัตราไม่แน่นอน ซึ่งจะทำให้เราคงกระทำพฤติกรรมต่อไปในความถี่สูง และไม่เลิกราง่าย ๆ ทำนองเดียวกับนักพนันที่โยกคาน slot machine ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่นาน ๆ ทีจึงจะมีเหรียญหล่นออกมา

 

กลไกการเรียนรู้ส่วนหนึ่งของคนเราเป็นอย่างนี้ แต่เราไม่จำเป็นต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขในสภาพแวดล้อมที่ล่อใจเราเพียงฝ่ายเดียว เราสามารถตั้งใจกำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และกำกับการกระทำความคิดความรู้สึกของเราได้

 

ตัวอย่างเช่นผลการวิจัยพบความแตกต่างระหว่างผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ไร้บทบาท คือใช้เวลาเข้าไปเลื่อนดูรูปและอ่าน updates ของผู้อื่นเฉย ๆ กับผู้ใช้เฟสบุ๊คที่มีบทบาท คือลง status ขึ้นรูป หรือความคิดเห็นต่าง ๆ ไม่น่าแปลกใจใช่ไหมที่การมีบทบาทเป็นหนทางไปสู่การเพิ่มความผูกพันเชื่อมต่อกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี เรียกว่าได้ประโยชน์จากเวลาที่ใช้ไป นอกจากนี้ยังพบว่าการ updates เรื่องราวของเราบนเครือข่าย หรือ share ในกลุ่มสังคมออนไลน์ทำให้เราเหงาน้อยลงด้วย เพราะเกิดความรู้สึกเชื่อมต่อชนิดรายวันกับเพื่อนฝูง และที่น่าแปลกใจก็คือผลที่เกิด คือความเหงาลดลงนี้ไม่ขึ้นอยู่กับว่าเพื่อนฝูงตอบหรือไม่ตอบ หรือตอบอย่างไร เพียงแค่การเข้าหา เชื่อมต่อกับพวกพ้องก็มีผลลดความเหงาได้แล้ว

 

แม้โลกไซเบอร์จะมีคุณค่าและให้ความสะดวกสบายมหาศาลแก่เรา แต่ก็ไม่อาจแทนที่การพบหน้าสบตาพูดจากันได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้องการสื่ออารมณ์ โน้มน้าวใจ หรือต้องการจับอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของอีกฝ่าย นอกจากนี้การสื่อสารออนไลน์ให้ความรู้สึกมีอิสระเสรี ซึ่งถ้าไม่ระวังให้ดีอาจเป็นที่มาของความขัดแย้งความทุกข์ใจในรูปแบบต่าง ๆ ที่นักจิตวิทยากำลังพยายามศึกษาทำความเข้าใจกันอยู่ การดำเนินชีวิตให้ราบรื่นในโลกปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจนี้ เพราะความฉลาดทางอารมณ์เมื่อออนไลน์เป็นสิ่งที่สร้างและฝึกฝนกันได้

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์จรุงกุล บูรพวงศ์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content