“อุเบกขา” ในทางจิตวิทยาและประสบการณ์การสังเกตสภาวะ

18 Feb 2022

อุษณีย์ ศิริอุยานนท์

หวั่นไหว… หวาดหวั่น… หวาดกลัว… เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้อาจถูกเรียกว่า “ความทุกข์ใจ” และในบางครั้ง ช่วงเวลาที่ถูกเรียกว่าความสุขก็ยังเจือปนด้วยความทุกข์เหล่านี้เช่นกัน จะมีหนทางใดที่ทำให้เราหลุดพ้นจากความวนเวียนทางอารมณ์นี้ หรือความรู้สึกใดบ้างที่กล่าวได้ว่าเป็นสภาวะที่เป็นอิสระ และอยู่เหนือไปจากความสุข

 

ในขณะที่เขียนบทความฉบับนี้ ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวิชาจิตตปัญญาศึกษาที่มุ่งศึกษาเรื่องภายในระดับจิตวิญญาณ และปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่มุ่งเน้นเหตุปัจจัยภายนอก ฟังดูอาจจะเชื่อมโยงกันค่อนข้างยาก ผู้เขียนมองว่าพฤติกรรมที่เราสังเกตและศึกษาได้นั้น ล้วนมีเหตุเบื้องลึกจากภายในจิตใจ ดังนั้น การศึกษาทำความเข้าใจสภาวะของจิต ย่อมทำให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติตามที่เราคาดหวังได้

 

 

ปัจจุบันผู้เขียนมีความสนใจศึกษาจิตวิทยาแนวพุทธ หรือ Buddhist Psychology ซึ่งเป็นการนำศาสตร์ทางจิตวิทยามาใช้อธิบายกระบวนการเกิดและการดับแห่งทุกข์ อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนา และสภาวะที่ผู้เขียนมุ่งศึกษาเป็นพิเศษคือ “อุเบกขา” ซึ่งเป็นทั้งหลักธรรมและองค์ประกอบในหลายหมวดธรรม โดยข้อที่รู้จักกันมากได้แก่ พรหมวิหาร ๔ อันประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

 

คำว่าอุเบกขา เป็นคำที่ประเทศไทยใช้ทับศัพท์มาจากภาษาบาลี โดยอุเบกขานี้เป็นสภาวะที่อธิบายถึงการไม่ตกไปในอำนาจของอารมณ์ความรู้สึกในฝั่งฝ่ายใด (เช่น สุข ทุกข์ รัก ชัง) ด้วยจิตที่มีสติตั้งมั่นและเปี่ยมด้วยปัญญาอย่างสม่ำเสมอ หรือในอีกความหมายคือ เป็นสภาวะจิตที่ตื่นรู้อารมณ์ต่าง ๆ เพียงรับรู้แต่จิตไม่เข้าไปยึดและไม่เข้าไปเสพอารมณ์ใด

 

ปัจจุบัน อุเบกขา ถูกเรียกด้วยศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Equanimity” (\ee-kwuh-NIM-uh-tee\) ซึ่งถูกกล่าวถึงทั้งในบริบทของคริสต์ศาสนา พุทธศาสนา และจิตวิทยาสมัยใหม่ (Modern Psychology) ที่ไม่เกี่ยวข้องโยงใยกับศาสนาใด ๆ ในแง่มุมของศาสนา อุเบกขา หรือ Equanimity มีรากฐานมาจากเรื่องของความรัก หรือความเมตตาต่อสรรพสิ่ง เป็นความรักอันบริสุทธิ์ที่ปราศจากเงื่อนไข (Agape (ἀγάπη) ซึ่งในคริสต์ศาสนา ผู้ที่จะเข้าถึงสภาวะอุเบกขานี้ได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความรักในระดับ Agape ซึ่งหมายถึงพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น ส่วนทางพุทธศาสนามองว่า มนุษย์ทุกคนสามารถฝึกจิตตนเองให้เกิดสภาวะนี้ได้จากการเจริญสติ (Mindfulness) และการเจริญปัญญาจนรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง เช่นเดียวกับมุมมองของจิตวิทยาสมัยใหม่ที่กล่าวว่า Equanimity เป็นผลมาจากการเจริญสติ และการฝึกสมาธิ (Meditation) (Anālayo, 2021; Desbordes, 2015) แตกต่างกันที่อุเบกขาในทางพุทธศาสนาจะให้ความสำคัญกับการเจริญปัญญาควบคู่กับการเจริญสติ ในขณะที่มุมมองจิตวิทยาสมัยใหม่ไม่ได้มีการกล่าวถึง “ปัญญา” มากนัก

 

 

ในหลักธรรมทางพุทธศาสนา นอกจากพรหมวิหาร ๔ แล้ว ยังมีหลักธรรมอีกหลายหมวดที่มีอุเบกขาเป็นองค์ประกอบขั้นสูงสุด เช่น โพชฌงค์ ๗ ทศบารมี และอื่น ๆ โดยอุเบกขาสามารถจัดแบ่งตามลักษณะอาการ (ส่วนประกอบในระดับเจตสิก) และหน้าที่ได้ ๑๐ ประการ และได้จากการฝึกสติปัฏฐาน ๔ อาทิ การเจริญอานาปานสติ หรือการฝึกสมาธิจนเกิดเป็นองค์ฌาน เป็นต้น ในด้านการพัฒนาปัญญาที่จะเข้าถึงสภาวะอุเบกขาได้นั้น อาจต้องทำความเข้าใจถึงสัจจะเบื้องต้นในเรื่องของชีวิตก่อน หลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า

 

สิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็นเสมือนว่ามีจริงนั้น ล้วนเกิดจากส่วนประกอบย่อย ๆ ที่เรียกว่าธาตุ เมื่อมาประกอบกันและทำหน้าที่แสดงอาการต่าง ๆ จึงเรียกว่าเป็นขันธ์ มนุษย์ประกอบด้วย ๕ ขันธ์ ได้แก่ รูป (ร่างกาย) เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความทรงจำ) สังขาร (การปรุงแต่ง) และวิญญาณ (ตัวรู้) ซึ่งทั้งห้าส่วนนี้ ทำงานสอดคล้องกันจนเกิดเป็นการรับรู้ เกิดความนึกคิด ความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ และแสดงการกระทำผ่านทางร่างกายอันเป็นธาตุประกอบในโลกทั้ง ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งเมื่อธาตุลมดับออกจากร่างกาย เราจึงถือว่าบุคคลนั้นตายจากโลกนี้ไป ส่วนธาตุอื่น ๆ ก็สลายกลับคืนธรรมชาติไป … ทุกสิ่งล้วนเป็นธรรมชาติ ไม่เคยมีเราเป็นเจ้าของสิ่งใด

 

 

ในช่วงปิดภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผู้เขียนได้อุทิศเวลาทั้งหมดที่มีเพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนา โดยเริ่มจากการวางปริยัติลงเสียก่อน เนื่องจากรู้สึกว่ายิ่งแบก ความรู้ยิ่งหนัก ใจยิ่งฟุ้งซ่านและไม่อาจเข้าถึงสภาวะที่เป็นเป้าหมายได้ แม้ว่าในปัจจุบัน ผู้เขียนอาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงสภาวะนี้ได้โดยสุดรอบ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เข้าใจและเข้าถึงได้มากขึ้น เกิดความรู้สึกปลอดโปร่ง โล่งเบาจากการคิด การตั้งคำถาม วางลงได้ซึ่งความสับสน และหมดข้อสงสัยในการมีอยู่ของสภาวะใจที่เป็นกลาง ห่างจากทุกข์และสุข พระอาจารย์ในการปฏิบัติของผู้เขียนย้ำเสมอว่า หากเมื่อใดที่ยังคงมีคำถาม ขอให้เพียรปฏิบัติต่อไปจนเกิดการหยั่งรู้ได้ด้วยตนเอง หรือเกิดปัญญาญาณอันเป็นความรู้ที่ไม่ใช่การนึกคิดปรุงแต่ง ไม่ใช่การจำได้หมายรู้ หรืออนุมานสภาวะความรู้สึกเอาเอง แต่เป็นความรู้ความเข้าใจที่หมดซึ่งข้อสงสัยแคลงใจทั้งปวง

 

 

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนกราบขอขมาท่านผู้อ่านหากมีข้อผิดพลาดประการใดในการนำเสนอบันทึกประสบการณ์ในครั้งนี้ ผู้เขียนมีเจตนาเพียงแบ่งปันความเข้าใจที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางศึกษา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในจิตวิทยาแนวพุทธ และยินดีเป็นอย่างยิ่งหากได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในหัวข้อคล้ายคลึงกัน

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Anālayo, B. (2021). Relating Equanimity to Mindfulness. Mindfulness, 12, 2635–2644. https://doi.org/10.1007/s12671-021-01671-z

 

Desbordes, G., Gard, T., Hoge, E. A., Hölzel, B. K., Kerr, C., Lazar, S. W., Olendzki, A., & Vago, D. R. (2015). Moving beyond mindfulness: defining equanimity as an outcome measure in meditation and contemplative research. Mindfulness, 6(2), 356-372. https://doi.org/10.1007/s12671-013-0269-8

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/photos/water

 


 

 

บทความวิชาการ 

โดย อุษณีย์ ศิริอุยานนท์

นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อีเมล์ 6471007238@student.chula.ac.th, Neptune.siri@gmail.com

 

ผู้ตรวจแก้ไขบทความ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์

อาจารย์ประจำ แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระอาจารย์วรศิลป์ วรปัญโญ

พระอาจารย์สอนปฏิบัติสมาธิภาวนา สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Share this content