“หลับใหลหลง เวียนวกวน หนทางตื่น เฝ้าฝันฝืน กลืนอัตตา พาลทุกข์ถม
ดุจจันทรา จมราตรี ทุกข์ระทม วาดหวังพ้น ตรมธารา พบปัญญา”
จากบทความตอนที่ 1 ที่ผู้เขียนได้ศึกษาเกี่ยวกับความหมายและองค์ประกอบของอุเบกขาในบริบทของพระพุทธศาสนาและในบริบทอื่น ๆ ไปแล้วนั้น บทความนี้ จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการประเมินสภาวะอุเบกขาด้วยตนเอง ผ่านการสำรวจความรู้สึกของเราที่มีต่อสิ่งกระตุ้นเร้าต่าง ๆ ที่เข้ามาในแต่ละวัน โดยใช้มาตรวัด Equanimity Scale 16 (ES-16) ที่สร้างและพัฒนาโดย Rogers et al. (2021) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยดุษฎีนิพนธ์ แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ ในหัวข้อ “ผลของการเจริญสติและพรหมวิหารภาวนาต่อสภาวะอุเบกขาและสุขภาวะทางจิต”
Equanimity หรืออุเบกขาในภาษาไทย หมายถึง “ความสามารถ” ของจิตใจในการดำรงรักษาความสงบ ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก และปล่อยวางจากความยึดติดในผลลัพธ์ต่าง ๆ (Kabat-Zinn, 2003; Bodhi, 2005; Desbordes et al., 2015) เป็นสภาวะทางจิต (state of mind) สามารถพัฒนาได้ และมีผลช่วยให้บุคคลเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ในชีวิตด้วยความสงบสุขุม โดยอุเบกขานั้น ถูกกล่าวถึงในสื่อจิตวิทยาเชิงบวก และจิตวิทยากระแสหลักในช่วงไม่นานมานี้ เห็นได้จากบทความต่าง ๆ ที่ปรากฏในเว็บไซต์ Psychology Today (Bernhard, 2019) และ positivepsychology.com (Schaffner, 2023) เป็นต้น ซึ่งกล่าวถึงอุเบกขาว่าเป็นความสุขจากการละวางทางอารมณ์ อันพัฒนาได้จากการปฏิบัติสมาธิเจริญสติ (Mindfulness Meditation) จนเกิดสภาวะที่จิตเกิดความเป็นกลาง (Even-mind state of mind) หรือกล่าวได้ว่าเป็นปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติ (Mindfulness Insight) นั่นเอง (Eberth et al., 2019)
งานวิจัยเชิงทดลองในปัจจุบันให้ผลยืนยันว่า อุเบกขา (Equanimity) มีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมอารมณ์ (Emotional Regulation) ช่วยลดการยึดติดทางอารมณ์และอคติที่เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก รวมถึงทักษะการปรับโครงสร้างทางความคิด (Cognitive Restructuring) ซึ่งการมีอุเบกขาจะช่วยให้บุคคลสามารถมองสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยมุมมองที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น (Juneau et al., 2020; Weber, 2020) ทั้งนี้ มีการค้นพบเพิ่มเติมว่า อุเบกขาเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการปล่อยวางตัวตนจากประสบการณ์ ซึ่งนำไปสู่การลดทอนการตอบสนองทางอารมณ์อย่างมีประสิทธิภาพ (Cayoun & Shires, 2020) กล่าวคือ อุเบกขาเกิดขึ้นเมื่อจิตใจอยู่ในภาวะที่สมดุล ด้วยการผสานระหว่างสติและปัญญา จนนำไปสู่ความสามารถในการละวางตัวตนจากเรื่องราวและเหตุการณ์ที่มากระทบ และปรากฏความสงบที่เป็นกลางในจิตใจ
ในการพัฒนาเครื่องมือประเมินสภาวะอุเบกขา เพื่อนำไปใช้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความก้าวหน้าของสภาวะขณะปฏิบัติสมาธิ จากโปรแกรมการพัฒนาอุเบกขาที่อยู่ระหว่างพัฒนา ผู้วิจัยเลือกใช้มาตร Equanimity Scale – 16 ของ Rogers et al. (2021)
เนื่องจากผู้วิจัย อาจารย์ที่ปรึกษา และพระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ลงความเห็นว่าองค์ประกอบของมาตรวัดฉบับนี้มีความสอดคล้องกับนิยามของอุเบกขาในแนวพุทธ องค์ประกอบด้านการยอมรับต่อประสบการณ์ทางอารมณ์ (Experiential Acceptance) นั้น หมายถึง การที่บุคคลยอมรับประสบการณ์ภายในทั้งหมดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์ความรู้สึก หรือการรับรู้สัมผัสทางกาย โดยไม่พยายามต่อต้านหรือยึดติดกับประสบการณ์เหล่านั้น ประกอบด้วยคำถาม 8 ข้อ ตัวอย่าง เช่น “เมื่อฉันมีความคิดหรือจินตนาการที่ทำให้รู้สึกทุกข์ใจ ฉันสามารถรับรู้โดยไม่ตอบสนองมันได้” และ “ฉันพยายามบ่มเพาะความสงบภายในใจ แม้ว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหรืออยู่เหนือการควบคุม” องค์ประกอบด้านการไม่ตอบสนองทางอารมณ์ต่อสิ่งเร้า (Non-Reactivity) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการไม่ปรุงแต่งตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายใน เช่น ความคิดหรือความรู้สึก ซึ่งช่วยป้องกันการยึดติดหรือการปฏิเสธต่อประสบการณ์เหล่านั้น หรือความสามารถในการยับยั้งการตอบสนองที่เคยเรียนรู้มาก่อนต่อประสบการณ์เหล่านี้ ประกอบด้วยคำถาม 8 ข้อ เช่น “เมื่อฉันเกิดความรู้สึกอะไรบางอย่าง ฉันจะตอบสนองมันในทันที” (ข้อคำถามทางลบ) และ “ฉันค้นพบว่าตนเองจำเป็นต้องตอบสนองต่อทุกความคิดที่ผุดขึ้นมาในหัวของฉัน” (ข้อคำถามทางลบ)
ขั้นตอนการพัฒนา เมื่อผู้วิจัยได้รับอนุญาตจากเจ้าของมาตรวัดแล้ว จึงแปลข้อคำถามเป็นภาษาไทยด้วยวิธีการ Forward translation ตรวจสอบความถูกต้องสอดคล้องของการแปลภาษา และความสอดคล้องของข้อกระทงที่แปลกับนิยามขององค์ประกอบมาตรวัดอุเบกขา จนได้ข้อคำถามที่คณะผู้วิจัยลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่ามีความเหมาะสมเชิงเนื้อหา (content validity) ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันของมาตรวัดโดยใช้ผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งสิ้น 647 ท่าน พบว่าองค์ประกอบของมาตรวัดสอดคล้องกับการศึกษาต้นฉบับ และมีค่าสหสัมพันธ์ทางบวกกับมาตรวัดพรหมวิหาร 4 ฉบับภาษาไทย (ครรชิต แสนอุบล และคณะ (2563) พัฒนาจากงานวิจัยของ Kraus & Sears (2008))
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา พบค่าเฉลี่ยการประเมินสภาวะอุเบกขาด้วยตนเองของกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ 55.9 (SD = 9.34, ช่วงคะแนนการตอบ 30 – 80 คะแนน) ซึ่งสะท้อนว่ากลุ่มตัวอย่างคนไทยมองว่าตนเองมีความสามารถในการปล่อยวางในระดับปานกลางถึงสูง อย่างไรก็ตาม ค่าคะแนนนี้ไม่ได้แตกต่างมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนจากมาตรวัดต้นฉบับที่เก็บข้อมูลในประเทศออสเตรเลีย (Mean = 58.76, SD = 10.36, Range = 23 – 78) ที่ผู้คนนับถือศาสนาได้หลากหลาย
อย่างไรก็ตาม ในด้านประสิทธิภาพของการประเมิน คณะผู้วิจัยพบว่าแบบสอบถามประเมินตนเองนี้ครอบคลุมเพียงส่วนผลของสภาวะซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาจิต แต่ยังขาดการประเมินที่กระบวนการพัฒนาอุเบกขา ซึ่งไม่เพียงเป็นเป้าหมายปลายทางของการพัฒนาจิตใจ แต่ยังเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องได้รับการบ่มเพาะอย่างต่อเนื่องผ่านการเจริญสติควบคู่กับพรหมวิหารภาวนา เพื่อให้เกิดความสมดุลของจิตใจและเข้าถึงอุเบกขาอย่างแท้จริง
อุเบกขา จิตลอยลม เหนือฝั่งสุข พ้นตรมทุกข์ จุดปัญญา ดุจจันทร์ฉาย
สุกสว่าง อร่ามฟ้า รัตติคลาย ทุกข์มลาย อัมพรแจ้ง แสงแห่งธรรม
อุเบกขา ดุจอุบล ไร้ตมติด ดุจปรุงจิต สติรั้ง ไร้ค่าหมาย
ดุจสัญญา กาล-นาน ไร้ค่าคลาย ดุจรู้หมาย วางสมญา สงบงาม
อุเบกขา แท้มิเที่ยง เพียรความว่าง ว่างจากกาม ฉวยยึดหา ตัณหาใหม่
ญาณปัญญา สมดุลกลาง สว่างใจ เห็นแจ้งนัย เหตุปัจจัย สุขในธรรม
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในจิตวิทยาแนวพุทธ และยินดีเป็นอย่างยิ่งหากได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในหัวข้อคล้ายคลึงกัน
รายการอ้างอิง
หนังสือและบทความวิชาการ
1. Bodhi, B. (2005). In the Buddha’s words: An anthology of discourses from the Pali canon. Wisdom Publications.
2. Cayoun, B. A., & Shires, A. G. (2020). Co-emergence reinforcement and its relevance to interoceptive desensitization in mindfulness and therapies aiming at transdiagnostic efficacy. Frontiers in Psychology, 11, 545945. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2020.545945
3. Desbordes, G., Negi, L. T., Pace, T. W., Wallace, B. A., Raison, C. L., & Schwartz, E. L. (2015). Effects of mindful-attention and compassion meditation training on amygdala response to emotional stimuli in an ordinary, non-meditative state. Frontiers in Human Neuroscience, 9, 376. https://doi.org/10.3389/fnhum.2015.00376
4. Eberth, J., Sedlmeier, P., Schwarz, M., & Schönert-Reichl, K. (2019). The effects of mindfulness meditation: A meta-analysis. Mindfulness, 10(6), 1075-1089. https://doi.org/10.1007/s12671-018-0854-2
5. Juneau, C., Karakasidou, V., Tsokanos, A., & Moneta, G. B. (2020). The role of equanimity in resilience and mental well-being. Journal of Positive Psychology, 15(3), 280-294. https://doi.org/10.1080/17439760.2020.1716051
6. Kabat-Zinn, J. (2003). Mindfulness-based interventions in context: Past, present, and future. Clinical Psychology: Science and Practice, 10(2), 144–156. https://doi.org/10.1093/clipsy.bpg016
7. Kraus, S., & Sears, S. R. (2008). Measuring the immeasurables: Development and initial validation of the Self-Other Four Immeasurables (SOFI) scale based on Buddhist teachings on loving kindness, compassion, joy, and equanimity. Social Indicators Research, 92(2), 169–181. https://doi.org/10.1007/s11205-008-9300-1
8. Rogers, H. T., Shires, A. G., & Cayoun, B. A. (2021). Development and validation of the Equanimity Scale-16. Mindfulness, 12(1),107–120. https://doi.org/10.1007/s12671-020-01503-6
9. Weber, J. (2020). The role of equanimity in facilitating positive mental states and mental well-being. Dissertation, the University of Bolton. https://ub-ir.bolton.ac.uk/esploro/outputs/doctoral/The-role-of-equanimity-in-facilitating/999482108841
บทความออนไลน์
10. Bernhard, T. (2019, November 7). Equanimity: The key to happiness. Psychology Today. https://www.psychologytoday.com/intl/blog/turning-straw-gold/201911/equanimity-the-key-happiness
11. Schaffner, A. K. (2023, June 8). Equanimity: The art of cultivating inner peace and balance. Positive Psychology. https://positivepsychology.com/equanimity/
วิทยานิพนธ์และบทความภาษาไทย
12. ครรชิต แสนอุบล, สิทธิพร ครามานนท์, และ อสมา คัมภิรานนท์. (2563). การศึกษาและการเสริมสร้างคุณลักษณะพรหมวิหาร 4 ของนิสิตหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) 5 ปี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. วารสารวิจัยทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 15(2). https://ejournals.swu.ac.th/index.php/jre/article/view/13243
บทความโดย
อุษณีย์ ศิริอุยานนท์ นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมล์ 6471007238@student.chula.ac.th, Neptune.siri@gmail.com
ผู้ตรวจแก้ไขบทความ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์
แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - พระอาจารย์วรศิลป์ วรปัญโญ
สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี - อาจารย์ ดร. สุภีร์ ทุมทอง
สาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีพุทธโฆส นครปฐม