จิตวิทยาวิวัฒนาการ เป็นแขนงของจิตวิทยาที่ค่อนข้างใหม่และเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นสาขาวิชาที่มีเป้าหมายที่จะศึกษาธรรมชาติของมนุษย์เราด้วยมุมมองของทฤษฎีวิวัฒนาการ
แน่นอนว่าจากแง่วิวัฒนาการนี้ ธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึก หรือบุคลิกภาพ ล้วนมีสาเหตุมาจากกระบวนการวิวัฒนาการเป็นหลัก
กระบวนการวิวัฒนาการจะอธิบายพฤติกรรมของเราได้อย่างไร
ความจริงเราก็คุ้นเคยกันดีกับทฤษฏีวิวัฒนาการว่า ลักษณะใดที่เอื้อต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต ลักษณะนั้นก็จะได้รับการถ่ายทอดมายังรุ่นลูกรุ่นหลานต่อ ๆ ไป ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า “การคัดสรรโดยธรรมชาติ” หรือ “การปรับตัวเพื่อการอยู่รอด”
นักชีววิทยาศึกษาวิวัฒนาการการปรับตัวของกลไกทางสรีระ หรืออวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ปอด และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำนองเดียวกัน นักจิตวิทยาก็ศึกษาการปรับตัวของกลไกทางจิต เช่น พวกเราส่วนใหญ่กลัวงู กลัวแมงมุม กลัวความสูง กลัวความมืด หรือแม้กระทั่งกลัวคนแปลกหน้า ความกลัวเหล่านี้ช่วยให้เราพ้นภยันตรายต่าง ๆ เป็นคุณลักษณะที่วิวัฒนาการจนกลายมาเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งต้นตอก็มาจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของบรรพบุรุษของเรานั่นเอง
นักจิตวิทยาวิวัฒนาการเสนอว่า กลไกการปรับตัวทางจิตของเรามีความเฉพาะด้าน คือ ถูกออกแบบมาโดยกระบวนการวิวัฒนาการ เพื่อแก้ปัญหาที่เฉพาะเจาะจงในการปรับตัว ตัวอย่างเช่น ด้านการเลือกรับประทานอาหาร
มนุษย์เรานิยมชมชอบอาหารที่มีรสหวาน เพราะในยุคแรกเริ่ม กลไกนี้นำคนเราไปหาสิ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น พืชผักผลไม้ที่สุกแล้ว และเราก็ติดใจในรสชาติของอาหารที่มีไขมันเพราะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญแต่หาได้ยากมาก และบรรพบุรุษของเราอยู่รอดได้ด้วยการบริโภคเนื้อสัตว์ที่นาน ๆ ทีจะล่ามาได้ด้วยความลำบาก กลไกทางจิตสำหรับความพึงใจในอาหารนี้จึงตกทอดมาสู่เราโดยไม่รู้ตัว
แม้ว่ากลไกทางจิตเหล่านี้จะมีคุณค่าเพื่อการอยู่รอดและสืบทอดเผ่าพันธุ์ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าต้นตอ คือคุณค่าสำหรับยุคดึกดำบรรพ์ของมนุษย์หลายร้อยหลายพันปีมาแล้ว ดังนั้นหมายความว่าเราอาจมีแนวโน้มทางจิตใจที่วิวัฒนาการมาที่ไม่เหมาะสมสำหรับเราในขณะนี้อีกต่อไปแล้ว
ตัวอย่างเช่น ความชอบในรสชาติอาหารที่มีไขมันที่เอื้อต่อการอยู่รอดในอดีต แต่ปัจจุบันไขมันไม่ได้เป็นอาหารที่หายากอีกต่อไปแล้ว หมูปิ้ง เนื้อทอด มันทอด มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง หากเราไม่ตระหนักและระมัดระวังตัวให้ดี กลไกทางจิตที่วิวัฒนาการมาอาจเป็นอุปสรรคต่อการอยู่รอดของเราก็ได้
มนุษย์วิวัฒนาการกลไกทางจิตที่แก้ปัญหาและช่วยให้อยู่รอดและแพร่เผ่าพันธุ์มาจนทุกวันนี้ กลไกทางจิตเหล่านี้กลายมาเป็นธรรมชาติของมนุษย์ หรือองค์ประกอบของบุคลิกภาพ
ที่น่าสนใจประการหนึ่งได้แก่ กลไกที่วิวัฒนาการมาเพื่อแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันในสังคม
เราคงไม่ปฏิเสธนะคะว่า เราต่างต้องการเป็นที่ยอมรับของผู้คนรอบข้าง เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม อยากมีพวกพ้อง แน่นอนทีเดียว เพราะในสภาพแวดล้อมที่บรรพบุรุษของเราเผชิญเมื่อหลายพันปีมาแล้วนั้น การถูกโดดเดี่ยวมักทำให้มีอันตรายถึงชีวิต เพราะลำพังคนเดียวก็อาจตกเป็นเหยื่อของสิงห์สาราสัตว์ต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ ไม่มีพวกพ้องที่คอยปกป้องดูแลหรือแบ่งปันทรัพยากรซึ่งกันและกัน
ดังนั้นจึงทำนายได้ว่า มนุษย์เราได้วิวัฒนาการกลไกทางจิต เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกีดกัน หรือการต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ที่มักจะทำให้เอาชีวิตไม่รอด
กลไกนี้คืออะไร…
นักจิตวิทยาวิวัฒนาการเสนอว่า การปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นนี้ เป็นต้นตอและบทบาทของ “ความวิตกกังวลทางสังคม” ค่ะ
ความวิตกกังวลทางสังคมหมายถึง ความรู้สึกไม่สบายใจ หรือวิตกกังวลว่าจะถูกประเมินในแง่ลบ หรือถูกมองในทางไม่ดีในสถานการณ์ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
นักจิตวิทยาแขนงวิวัฒนาการนี้เสนอว่า ความวิตกกังวลทางสังคมเป็นการปรับตัวที่มีเฉพาะในมนุษย์เราเท่านั้น ไม่มีในสัตว์อื่น เป็นกลไกทางจิตหรือธรรมชาติของมนุษย์ หรือบุคลิกภาพของเรา ที่มีบทบาทหรือทำหน้าที่ป้องกันมิให้เราถูกขับไล่หรือเนรเทศออกจากกลุ่ม
การที่เราเป็นห่วงว่าผู้อื่นจะมองเราในทางไม่ดี หรือหวาดหวั่นการประณามจากผู้อื่น หรือหวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิติเตียน ล้วนเป็นกลไกที่วิวัฒนาการมาเพื่อให้เราอยู่รอด เพราะจะทำให้เราอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี และพยายามไม่ทำสิ่งที่สร้างความระคายเคืองแก่ผู้อื่น
ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ผู้ที่ไม่สนใจใยดีกลุ่มมักถูกตัดออกจากกลุ่ม และไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง หรือไม่มีโอกาสหาคู่ และไม่มีโอกาสสืบทอดเชื้อสาย มากเท่าผู้ที่ “แคร์” ความคิดเห็นของกลุ่ม ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของกลุ่ม หรือผู้ที่มีความวิตกกังวลทางสังคมนั่นเอง ดังนั้นเราส่วนใหญ่จึงมีคุณลักษณะนี้ ซึ่งเป็นกลไกทางจิตที่เป็นผลของวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอด
ธรรมชาติของมนุษย์ที่วิวัฒนาการมาให้มีความวิตกกังวลทางสังคม หรือความเป็นห่วงว่าจะได้รับการประเมินทางลบจากผู้อื่น
ตัวอย่างเช่น ในวัยรุ่น เยาวชนบางคนคล้อยตามกลุ่มเพื่อนเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ให้ได้เข้าเป็นพวก บางครั้งอาจถึงขนาดต้องทำในสิ่งที่โดยส่วนตัวแล้วไม่ชอบ เช่น ดื่มสุรา เสพสารเสพติด หนีเรียน ผู้ที่ไม่คล้อยตามมักถูกขับไล่ออกจากกลุ่ม
การ “เนรเทศ” เป็นกลไกการควบคุมทางสังคมที่ผู้คนทุกระดับอายุนำมาใช้
นักวิจัยพยายามศึกษาปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสมองของบุคคลที่ถูกกีดกันทางสังคม โดยใช้การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า fMRI ภาพที่ได้ บ่งบอกว่าในระบบประสาทของเรานั้น ความเจ็บปวดทางสังคมที่บุคคลประสบภายหลังการถูกปฏิเสธ มีลักษณะคล้ายคลึงกับเมื่อเกิดความเจ็บปวดทางร่างกาย คือมีการทำงานของสมองปรากฏขึ้นที่บริเวณเดียวกัน
นักจิตวิทยาได้อธิบายถึงเหตุผลที่ความเจ็บปวดทางความรู้สึกและทางร่างกายมีต้นตอทางประสาทคล้ายคลึงกัน ว่าอาจเป็นเพราะความจริงที่ว่า ความผูกพันทางสังคมส่งเสริมการอยู่รอด ดังนั้นธรรมชาติจึงวิวัฒนาการ “ระบบการเตือนภัยทางสังคม” ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของสมองบริเวณเดียวกันกับที่ควบคุมระบบความเจ็บปวดทางกายภาพอยู่แล้ว เพราะความเจ็บปวดเป็นสัญญาณพื้นฐานที่สุดที่บ่งบอกว่ามี “สิ่งผิดปกติ”
ดังนั้นระบบความผูกพันทางสังคมที่อยู่กับระบบความเจ็บปวด ก็จะเพิ่มโอกาสการอยู่รอด
นอกจากความวิตกกังวลทางสังคม นักจิตวิทยาวิวัฒนาการยังเสนอกลไกทางจิตอื่น ๆ อีก เช่น พฤติกรรมช่วยเหลือผู้อื่นของเรา โดยอ้างว่าการช่วยเหลือจะเกิดหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความใกล้เคียงทางพันธุกรรมระหว่างผู้ให้และผู้รับความช่วยเหลือ ยิ่งผู้รับไม่มีความคาบเกี่ยวทางพันธุกรรมกับผู้ให้ การช่วยเหลือก็จะยิ่งลดน้อยลง
ฉะนั้นตามข้อเสนอนี้หมายถึง เราก็มักจะช่วยพี่ ๆ น้อง ๆ ซึ่งมี “ยีน” หรือลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมร่วมกับเรามาก มากกว่าช่วยหลาน ๆ ซึ่งมี “ยีน” ร่วมกับเราน้อย และการช่วยเหลือก็คาดว่าจะลดลงไปอีกสำหรับลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งมี “ยีน” ร่วมกับเราเพียงนิดเดียว
นอกจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์คับขัน หรือสถานการณ์วิกฤต คนเรามักจะช่วยญาติพี่น้องที่อายุน้อยมากกว่าช่วยญาติพี่น้องที่อายุมาก หรือก็คือญาติพี่น้องที่มีศักยภาพในการเจริญพันธุ์สูงกว่าจะได้รับความช่วยเหลือมากกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสที่ลักษณะทางพันธุกรรมของเราจะได้ถูกถ่ายทอดต่อไปนั่นเอง
นักจิตวิทยาวิวัฒนาการกล่าวว่า ผู้หญิงและผู้ชายได้ปรับตัวมาเหมือนกันในหลาย ๆ ด้าน เช่น ทั้งหญิงและชายมีต่อมเหงื่อเพราะต้องกำกับอุณหภูมิร่างกายภายใต้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ชอบในรสชาติของอาหารคล้ายกัน
แต่ก็มีอีกหลายด้านที่ผู้หญิงและผู้ชายต้องเผชิญกับปัญหาในการปรับตัวที่แตกต่างกันมาตลอดประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษย์ คือ “ผู้หญิงต้องตั้งครรภ์และให้กำเนิดทายาท ส่วนผู้ชายไม่ต้อง”
เพราะว่าความแตกต่างนี้คงเส้นคงวาตลอดเส้นทางวิวัฒนาการ จึงเป็นเหตุให้น่าคิดว่า จิตใจมนุษย์น่าจะวิวัฒนาการกลไกทางจิตใจที่เฉพาะด้านของเพศหญิงและเพศชาย ทำให้ผู้หญิงและผู้ชายมีสมองที่แตกต่างกันในรูปแบบการคิด ความรู้สึกและการกระทำ
นักจิตวิทยาวิวัฒนาการเสนอว่าในความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย บทบาทที่แตกต่างกันในการทำหน้าที่สืบทอดเผ่าพันธุ์ คือผู้หญิงมีการลงทุนสูง ต้องอุ้มท้อง ประมาณ 38-40 สัปดาห์ กว่าจะได้ทายาทหนึ่งคน อีกทั้งตลอดชั่วชีวิตก็สามารถมีทายาทได้จำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย ซึ่งทั้งไม่ต้องทุ่มเทอะไรเลยในเชิงสุขภาพส่วนตัวในการสร้างผู้สืบทอดพันธุกรรม และในทางทฤษฎีก็มีได้ไม่จำกัดจำนวนด้วย ขึ้นอยู่กับโอกาสที่มี
ดังนั้นจึงทำให้ชายหญิงมีกลไกทางจิตที่แตกต่างกัน ที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ ความแตกต่างในลักษณะของคู่ครองที่ชอบ หรือที่เลือก
นักจิตวิทยาวิวัฒนาการอ้างว่าเพราะความเป็นจริงที่ผู้หญิงและผู้ชายมีสภาวะกดดันหรือข้อจำกัด หรือเงื่อนไขที่แตกต่างกัน หากต้องการประสบความสำเร็จในการสืบทอดเผ่าพันธุ์ หรือสร้างทายาท ผู้หญิงผู้ชายจึงมีกลไกทางจิตที่แตกต่างกันในการเลือกคู่ครอง ตามข้อเสนอดังนี้ค่ะ
- ผู้หญิงต้องลงทุนมากกว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งทายาท ดังนั้นผู้หญิงจึง “พิถีพิถัน” ในการเลือกคู่ครองมากกว่าผู้ชาย เป็นต้นว่าผู้หญิงต้องการใช้เวลาทำความรู้จัก ศึกษารายละเอียด และพิจารณาความเหมาะสมของผู้ชายที่เข้ามาในชีวิต มากกว่าผู้ชายพิจารณาผู้หญิง
- นอกจากนี้ผู้หญิงและผู้ชายก็จะมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันในการคัดเลือกคู่ครองด้วย ผู้ชายเพ่งเล็งที่ศักยภาพในการเจริญพันธุ์มากกว่า เช่น ความเยาว์วัย สุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ลักษณะที่บ่งบอกถึงพลานามัย ไม่ว่าจะเป็นผิวพรรณที่สดใสเต่งตึง ดวงตาที่เป็นประกาย หรือความสวยงามนั่นเอง ส่วนผู้หญิงจะเพ่งเล็งที่ศักยภาพของคู่ครอง ในการหาทรัพยากรมาให้และการคุ้มครองปกป้องดูแลมากกว่า ซึ่งคือความสามารถ ความเก่ง ความขยันนั่นเอง
ผู้หญิงและผู้ชายมีความแตกต่างกันในธรรมชาติของการปรับตัว ที่มีต้นตอมาจากความจริงที่ว่า การปฏิสนธิของทารกเกิดขึ้นภายในร่างกายของฝ่ายหญิง นั่นก็หมายความว่าตลอดประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษย์ ผู้ชายเสี่ยงต่อการลงทุนให้กับผู้ที่ไม่ใช่ทายาททางพันธุกรรมของตน ในขณะที่ผู้หญิงมั่นใจได้เสมอว่าทารกที่คลอดออกมานั้นคือทายาทของตนเอง
เมื่อมองในแง่นี้จากสายตาของบรรพบุรุษในยุคหลายพันปีก่อน จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้ชายจะมีความโกรธแค้นหึงหวงอย่างยิ่ง หากคู่ครองไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น เพราะส่งผลร้ายต่อความชัดเจนในการสืบทอดเชื้อสายของเขา
แต่ในกรณีของผู้หญิง ถ้าฝ่ายชายเพียงแค่ไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่น ความชัดเจนว่าใครคือทายาทของฝ่ายหญิงก็ไม่ถูกกระทบกระเทือนแต่อย่างใด แต่อันตรายต่อความสำเร็จในการสืบทอดเชื้อสายของฝ่ายหญิงอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าฝ่ายชายไปรักใคร่ผูกพันปกป้องดูแลและปันทรัพยากรไปให้หญิงอื่น
ด้วยเหตุนี้นักจิตวิทยาวิวัฒนาการจึงทำนายว่า ผู้หญิงและผู้ชายให้น้ำหนักสาเหตุที่ทำให้หึงหวงแตกต่างกัน
- คือผู้ชายจะรู้สึกหึงหวงมากกว่าผู้หญิง ในกรณีที่คู่ครองไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น
- ส่วนผู้หญิงจะรู้สึกหึงหวงมากกว่าผู้ชาย ในกรณีที่คู่ครองไปมีพันธะผูกพันระยะยาวหรือไปรักหญิงอื่น
การทดลองในหลาย ๆ ประเทศโดยให้หญิงชายจินตนาการเหตุการณ์ที่ทำให้หึงหวง ได้ผลสนับสนุนข้อเสนอนี้ คือพบว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีความทุกข์เพราะหึงหวง แต่ถ้าให้เลือกระหว่างสองเหตุการณ์ ผู้ร่วมการทดลองชายรายงานว่าระทมทุกข์มากกว่าและมีปฏิกิริยาทางสรีระเช่น ใจเต้นแรง หน้านิ่วคิ้วขมวดมากกว่า เมื่อจินตนาการคู่ครองไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น ส่วนผู้หญิงนั้นตรงกันข้าม คือเป็นทุกข์มากกว่าเมื่อจินตนาการว่าคู่ครองมีความรู้สึกผูกพันกับหญิงอื่น
นักจิตวิทยาวิวัฒนาการยังทำนายความแตกต่างระหว่างผู้หญิงผู้ชายในเรื่องพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ด้วยค่ะ ผู้ชายซึ่งลงทุนน้อยในการมีทายาท จะเพิ่มความสำเร็จในการสืบพันธุ์ ด้วยการแสวงหาผู้หญิงจำนวนมาก โดยไม่เลือกมากค่ะ
การวิจัยในหลาย ๆ ประเทศได้ข้อมูลสอดคล้องกับการทำนายนี้ คือเมื่อถามถึงภายในช่วงเวลา 30 ปีจากนี้ไป โดยเฉลี่ยแล้วผู้ชายทั่วโลกปรารถนาจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงประมาณ 13 คน ส่วนผู้หญิงปรารถนาประมาณ 2.5 คน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่รายงานว่า ผู้ชายคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศบ่อยกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า และอย่างน้อย ๆ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชายยินดีมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ในขณะที่แทบจะไม่พบผู้หญิงที่ยินดีเลย แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยก็ตาม
จิตวิทยาวิวัฒนาการเป็นแขนงวิชาใหม่ ซึ่งยังต้องการการศึกษาวิจัยเพื่อความชัดเจนต่อไปอีกหลายประเด็น แต่อย่างน้อยที่สุดก็คงพอจะพูดได้ว่าความจริงแล้วมนุษย์เราอาศัยอยู่ในโลกยุคใหม่โดยมีสมองบรรพบุรุษในยุคหินของเราค่ะ
จากบทสารคดีวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ FM 101.5 MHz
โดย อาจารย์จรุงกูล บูรพวงศ์
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University
ภาพจาก www.picsart.com