เข้าใจจิตใจ หญิงรักหญิง

30 Mar 2015

บริการวิชาการ

 

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นรายบุคคลจากหญิงรักหญิงเพศเดียวกันประเภททอมและดี้ จำนวน 14 ราย

 

 

ความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของหญิงรักหญิงเพศเดียวกัน


 

การวิจัยในต่างประเทศมักเรียกกลุ่มหญิงรักหญิงเพศเดียวกันทุกแบบรวมกันว่า “เลสเบี้ยน” โดยไม่แบ่งแยกประเภท ซึ่งทำให้ผลการวิจัยขัดแย้งกันเองในหลายประเด็น สำหรับในสังคมไทยมีการแบ่งแยกประเภทหญิงรักหญิงเพศเดียวกันเป็นหลายลักษณะ ซึ่งเป็นประโยชน์ในงานวิจัยนี้ที่ทำให้การวิจัยและผลที่ได้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะทอมและดี้ต่างก็มีความรู้สึกนึกคิดในตัวตนไม่เหมือนกัน

 

ผู้ให้ข้อมูลทอม ผ่านการยอมรับว่าตนเองเป็น “ทอม” แต่ผู้ให้ข้อมูลดี้ มักรับรู้ตนเองในฐานะ “ผู้หญิงที่มีคู่รักเป็นทอม” มากกว่าจะยอมรับว่าตนเป็นดี้ เนื่องจากแม้ว่าพวกเธอชอบผู้หญิงเพศเดียวกันแต่มีแบบแผนการพัฒนาเอกลักษณ์บางส่วนแตกต่างจากทอม คือมีการปรากฏตัวในสังคมเป็นผู้หญิงในความรู้สึกของคนทั่วไป จึงไม่มีความขัดแย้งในบทบาทและไม่ต้องมีการเปลี่ยนบทบาท สังคมมักจะรับรู้ว่า “เธอคนนี้มีแฟนเป็นทอม” มากกว่าให้ความสนใจว่าเธอเป็นดี้หรือไม่ จึงไม่ต้องผ่านขั้นตอนการยอมรับตนเองและนิยามตนเองเป็นดี้ แตกต่างจากทอมที่มักมีแรงกดดันจากสังคมมากกว่า

 

ทั้งนี้การที่ทอมยอมรับว่าตนเป็นทอมนั้นไม่ใช่มาจากความปรารถนาอยากเป็น เพราะคำว่า “ทอม” เป็นคำที่แฝงไว้ด้วยตราบาปและอคติทางสังคม “อยากเป็นผู้ชายไม่ได้อยากเป็นทอม” “เป็นผู้ชายไม่ได้ก็ต้องเป็นทอม” การยอมรับจึงเป็นในลักษณะจำยอมเพื่อลดแรงด่อต้านของสังคม ยอมรับใน “สภาพที่ตนเองใช้ชีวิตอยู่” ตามข้อจำกัดทางสังคม “ที่เรียกตนว่าทอม” ซึ่งการยอมรับข้อจำกัดในชีวิตได้ตามความเป็นจริงนั้น ทำให้จิตใจเข้มแข็งขึ้น หวั่นไหวต่อคำพูดเชิงลบน้อยลง และมีอิสระที่จะใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตัวเองมากขึ้น

 

งานวิจัยนี้ได้ข้อค้นพบที่ชัดเจนว่าผู้ให้ข้อมูล ทอม และ ดี้ เหมือนกันที่เพศสรีระ แต่แตกต่างกันที่ “เพศสภาวะ” คือทอมมีการดำรงเพศสภาวะที่ไม่สอดคล้องกับเพศสรีระตามที่สังคมกำหนด ทอมรู้สึกอยากเป็นผู้ชาย ชอบเล่นของเล่น ทำกิจกรรมแบบผู้ชาย ไม่ชอบใส่กระโปรง และชอบผู้หญิง และรายงานว่าเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่เกิดหรือเป็นโดยธรรมชาติ ขณะที่ดี้มักรายงานว่าไม่ได้ชอบผู้หญิงมาตั้งแต่เด็ก มักมีแฟนผู้ชายมาก่อน ภายหลังจึงมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงฉันคู่รัก และในที่สุดก็ชัดเจนในตนเองว่าชอบผู้หญิง

 

การที่ผู้ให้ข้อมูลดี้รับรู้รสนิยมทางเพศล่าช้า อาจเพราะการเลี้ยงคู่ขัดเกลาที่ให้ดำรงชีวิตตามบทบาทที่สังคมกำหนด จึงไม่เคยคิดชอบผู้หญิง และบางคนถึงขั้นเกลียดตามการเรียนรู้อคติทางสังคมว่าเป็นเรื่องผิดปกติหรือตามข้อห้ามทางศาสนา ต้องข่มจิตหรือปฏิเสธความต้องการของตน นั่นแสดงว่าหากสังคมให้การยอมรับ การพัฒนาตัวตนและรสนิยมทางเพศของหญิงรักเพศเดียวกันน่าจะเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

 

 

 

ความทุกข์ในความสัมพันธ์แบบคู่รักของทอมและดี้


 

ภาวะทุกข์ทางจิตใจของหญิงรักเพศเดียวกันล้วนเป็นภาวะ “ทุกข์ทางสังคม” คือทุกข์ที่เกิดจากอคติและการไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม โดยเป็นกระบวนการทางจิตใจ 3 ขั้นตอน

 

  1. สังคมมีอคติหรือความไม่เข้าใจต่อคนรักเพศเดียวกัน
  2. หญิงรักเพศเดียวกันได้นำเอาอคติทางสังคมเข้าไปอยู่ในจิตใจของตน
  3. หญิงรักเพศเดียวกันจึงรู้สึกทางลบกับตนเอง

 

ความรู้สึกทางลบกับตนเองเป็นแหล่งกำเนิดความเครียดและความวิตกกังวล การขาดความมั่นใจในตนเอง จนบางคนถึงขั้นเกลียดตนเอง

ความทุกข์ทางสังคมของหญิงรักเพศเดียวกัน ทั้งภาวะสับสน หวาดหวั่น วิตกกังวล กลัว คิดมาก นอนไม่หลับ และเครียด ล้วนมีจุดเริ่มต้นจาก “ความขัดแย้งภายในจิตใจ” ระหว่างอัตลักษณ์ตามธรรมชาติของตนกับความคาดหวังตามบรรทัดฐานของสังคม 3 ประการ

 

  1. จิตที่มีความเป็นชายแต่กายเป็นหญิง
  2. มองตนเองว่าเป็นชายที่สังคมมองว่าเป็นหญิง
  3. ชอบผู้หญิงแต่สังคมกำหนดว่าหญิงควรชอบชาย

 

ซึ่งผู้ให้ข้อมูลทอมมีความขัดแย้งทั้ง 3 ประการ ส่วนผู้ให้ข้อมูลดี้มีความขัดแย้งประการที่ 3 เพียงประการเดียว

 

3 ใน 7 ของผู้ให้ข้อมูลทอมรายงานว่าเคยมีความคิดฆ่าตัวตาย โดยมีเป้าหมายเพื่อหลีกหนีความทุกข์ทรมาน ความกดดันในใจ และหวังว่าชาติหน้าจะไม่ต้องเกิดเป็นคนรักเพศเดียวกันอีก สาเหตุของการฆ่าตัวตายมีลักษณะร่วมดังนี้ 1) เกี่ยวข้องกับความรัก 2) รู้สึกล้มเหลว (ถูกปฏิเสธเพราะเป็นบุคคลรักเพศเดียวกัน) 3) เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยมีภาวะทางจิตใจที่สำคัญคือความเศร้า สลดหดหู่ ท้อ ด้อยค่า สำหรับคนที่พยายามฆ่าตัวตาย ยังมีภาวะที่ไม่มีทางออกและบอกใครไม่ได้ ส่วนคนที่คิดอย่างเดียวแต่ไม่ลงมือกระทำเป็นเพราะสามารถบอกใครบางคนได้และได้รับการเตือนสติ

 

ทุกข์ในจิตใจของผู้ให้ข้อมูลทอมมักเข้มข้นมากในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เพราะชีวิตยังต้อขึ้นอยู่กับข้อจำกัด กฎระเบียบ กติกา คำอนุญาตจากผู้ปกครอง หลังจากโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้วจึงมีอิสระที่จะทำในสิ่งที่ตนต้องการมากขึ้น ทุกข์จากความไม่สอดคล้องจึงน้อยลง ถึงแม้ว่าจะไม่หายไปจากจิตใจอย่างแท้จริงเพราะสังคมโดยรวมยังคงไม่ให้การยอมรับและความเข้าใจอย่างแท้จริงนั่นเอง

 

ความไม่เข้าใจของสังคมต่อหญิงรักเพศเดียวกันมี 3 ลักษณะ 1. ความลึก คือ ไม่เข้าใจถึงตัวตน 2. ความมาก คือ ปริมาณของคนที่ไม่เข้าใจ 3. ความเงียบ คือ เกิดขึ้นตลอดเวลาแต่ไม่ใช่อย่างเอิกเกริก ดังนั้นทุกข์ของผู้ให้ข้อมูลทอมและดี้จึงเป็นทุกข์รอบด้านและทุกข์สั่งสม พวกเขาเหล่านี้จึงมักไม่เลือกอธิบายสิ่งที่รู้สึกให้สังคมฟังมากนัก และมักใช้ชีวิตอยู่แบบส่วนตัวกับตัวเอง คู่รัก หรือกลุ่มเพื่อนที่ยอมรับเขาแบบเงียบ ๆ กลมกลืนไปกับสังคมมากกว่า

 

 

 

 

แหล่งสนับสนุนให้ก้าวข้ามผ่านความกดดันและความทุกข์ต่าง ๆ


 

แหล่งความเข้มแข็งของผู้ให้ข้อมูลหญิงรักเพศเดียวกัน ได้แก่ ตนเอง คู่รัก เพื่อน และพ่อแม่

แหล่งความเข้มแข็งจากภายในที่สำคัญที่สุดก็คือตนเอง ที่จะทำให้ตนเองยืนหยัดได้โดยลำพังแม้ไม่มีแหล่งสนับสนุนด้านอื่น ส่วนคู่รักเป็นแหล่งที่ให้รับการยอมรับและเข้าใจในตัวตนมากที่สุด ขณะที่พ่อแม่เป็นแหล่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและความมั่นใจให้กับชีวิตเมื่อต้องเผชิญกับโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยอคติ และเป็นกุญแจขสู่อิสรภาพในการพัฒนาตัวตนและชีวิตคู่ในแบบยั่งยืนเป็นครอบครัว และเพื่อนสนิทนั้นเป็นแหล่งช่วยเหลือให้คำปรึกษาที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด

 

แม้ “ตนเอง” จะเป็นแหล่งความเข้มแข็งจากภายในที่สำคัญที่สุด แต่การยอมรับตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเอาชนะความรู้สึกเชิงลบที่มีต่อตนเอง มากพอๆ กับความรู้สึกที่เป็นตราบาปจากอคติทางสังคม การยอมรับตนเองได้นั้นบุคคลรักเพศเดียวกันต้องการความรู้สึกปลอดภัยและมีแหล่งสนับสนุนอื่นๆ ที่เอื้ออำนวย

 

เกี่ยวกับการยอมรับต่ออัตลักษณ์ที่เป็นทอม งานวิจัยนี้พบว่า “คู่รัก” เป็นบุคคลประเภทเดียวที่สามารถยอมรับและเข้าใจอัตลักษณ์และความเป็นชายในตัวผู้ให้ข้อมูลทอมได้อย่างลึกซึ้งที่สุด คู่รักของทอมจึงมีความหมายอย่างยิ่งยวด และสำคัญต่อสุขภาพจิตที่ดีและเติมเต็มในจิตใจส่วนลึกของทอมเป็นอย่างมาก

ส่วนบุคคลที่มีอิทธิพลต่อชีวิตรักของหญิงรักเพศเดียวกันมากที่สุดคือ “พ่อแม่” โดยเฉพาะในวัฒนธรรมไทยที่พ่อแม่มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับลูกมากกว่าและยาวนานมากกว่าในสังคมตะวันตก โดยผู้ให้ข้อมูลทอมและดี้ส่วนใหญ่ได้ให้น้ำหนักความมีอิทธิพลของพ่อแม่ไว้ที่ร้อยละ 80-100 ขณะที่ให้น้ำหนักของบุคคลภายนอกไว้ที่ร้อยละ 10-30 สำหรับคนที่ไม่ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่และรายงานว่าพ่อแม่มีอิทธิพลกับตนมาก จะพยายามฝืนตัวเองเพื่อไม่ให้พ่อแม่เสียใจและอับอาย แต่ก็จะสร้างความขัดแย้งในใจให้กับตนเองมากขึ้น จนทำให้เกิดความห่างเหินกับครอบครัว และสร้างความทุกข์ให้มากที่สุด ในทางตรงกันข้าม หากพ่อแม่ยอมรับได้ผู้ให้ข้อมูลทอมและดี้จะรู้สึกมีความสุขมากที่สุด

 

 

 

 

สายสัมพันธ์แห่งรักและความสุขของคู่รักหญิงเพศเดียวกัน


 

หญิงรักเพศเดียวกันต้องเผชิญกับอคติและข้อจำกัดทางสังคมมากมาย ทั้งทางกฎหมาย ครอบครัว และพฤตินัย (การถูกเลือกปฏิบัติ) อีกทั้งมีแหล่งสนับสนุนที่ไม่แน่นอน ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการยอมรับ แต่งานวิจัยพบว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้หญิงรักเพศเดียวกันครองคู่อยู่ด้วยกันได้นานและมีคุณภาพความสัมพันธ์ที่ดี เป็นเพราะสายสัมพันธ์แห่งรักอันแน่นแฟ้นและความสุข

 

ปัจจัยภายในที่ทำให้คู่หญิงรักเพศเดียวกันมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและมีความสุขมี 3 ประการ คือ

 

1. ความเป็นเพศหญิงสองคน

ทำให้การมีชีวิตคู่มี “ความเหมือนกัน” อยู่มาก เข้าใจและสื่อสารกันได้ง่าย ทำกิจกรรมร่วมกันได้แทบทุกอย่าง อีกทั้งเพศหญิงมีความอ่อนโยนและละเอียดอ่อนในการดูแลเอาใจใส่ และแสดงความรักต่อกันมาก มีการใช้การสื่อสารร่วมกับแสดงออกทางความรู้สึกในการแก้ไขปัญหาภายในคู่ได้อย่างสร้างสรรค์

 

2. คู่รักมีความหมายพิเศษสำหรับทอม

เพราะเป็นบุคคลประเภทเดียวที่ยอมรับตัวตนของผู้ให้ข้อมูลทอมได้อย่างลึกซึ้งมากที่สุด อีกทั้งคู่รักยังหามาได้ยากลำบากกว่าและต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากกว่า ผู้ให้ข้อมูลทอมหลายคนจึงเห็นคุณค่าของคู่รักและมีแนวโน้มที่จะพยายามดูแลเอาใจใส่และทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อรักษาความสัมพันธ์และทำให้คู่รักของตนมีความสุข

 

3. ดี้รักและยอมรับข้อจำกัดของทอมได้

ไม่ว่าจะเป็นสรีระที่มีกำลังน้อยกว่าชาย แต่งงานไม่ได้ จดทะเบียนไม่ได้ มีบุตรไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ฝังอยู่ภายในใจลึกๆ ของผู้ให้ข้อมูลทอม อาจเรียกว่าเป็นปมด้อยในใจที่ไม่สามารถให้ชีวิตคู่ที่สมบูรณ์แบบเหมือนคู่ชายหญิงแก่คนรักได้ สร้างความวิตกกังวลว่าคู่รักจะจากไป ในขณะที่ผู้ให้ข้อมูลดี้กลับรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหา ไม่มีรายใดที่รู้สึกเสียดายที่คู่รักไม่ใช่ผู้ชาย พร้อมระบุว่าผู้ชายก็ไม่ได้ตอบสนองอะไรให้ได้ทุกอย่าง คู่ชีวิตที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุขนั้นสำคัญกว่า

 

 

 


 

 

“ประสบการณ์ด้านจิตใจของหญิงรักเพศเดียวกันที่มีความสัมพันธ์แบบคู่รัก”
“Psychological experience of lesbian in a couple relationship”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2554)
โดย นางสาวพิมพ์สิริอร ศิริทิณพงษ์
ที่ปรึกษา รศ. ดร.อรัญยา ตุ้ยคำภีร์ และ อ. ดร.รัฐสุดา เต้พันธ์
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/30036

 

Share this content