การสารภาพเท็จ: จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน

27 Nov 2017

อาจารย์ธนวัต ปุณยกนก

 

มีข่าวการจับแพะในคดีใหญ่คดีหนึ่งของประเทศไทยที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีที่ผ่านมา และค่อนข้างได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก คือ ข่าวการจับแพะในคดีฆาตกรรมนางสาวเชอรี่ แอน ดันแคน ในคดีนี้มีผู้บริสุทธิ์ 4 คนได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ต้องหา และถูกคุมขังเป็นเวลาถึง 6 ปี บางรายถึงขั้นเสียชีวิตในคุก กระทั่งภายหลังมีการรื้อฟื้นคดีและตามจับอาชญากรตัวจริงได้ ผู้ต้องหาที่ยังมีชีวิตอยู่จึงได้รับการปล่อยตัว คดีนี้เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างมาก แต่แม้ว่าในปัจจุบันนี้ การพิสูจน์หลักฐานในกระบวนการสอบสวนของไทยจะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่คดีจับแพะก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ได้ เช่น คดีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือคดีที่ นายวินัย นวลจีน ถูกจับกุมตัวในฐานะผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม และตำรวจได้แถลงข่าวผลการสอบสวนว่านายวินัย นวลจีน ได้ให้การสารภาพว่าเขากระทำความผิดแต่เพียงผู้เดียว แต่หลังจากนั้นไม่นานกลับมีการจับอาชญากรตัวจริงได้ กอปรกับผลการพิสูจน์หลักฐานออกมายืนยันว่านายวินัย นวลจีน มิได้เป็นผู้กระทำผิดอย่างที่ถูกตั้งข้อหาไว้ในตอนแรก นายวินัย จึงได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

 

ภายหลังการปล่อยตัว นายวินัยได้ออกมาให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่าสาเหตุที่เขายอมรับสารภาพไปในตอนแรกที่ถูกจับ เป็นเพราะในช่วงระหว่างกระบวนการสอบสวนนั้น เขาถูกกักตัวเป็นเวลานานจนเกิดความเครียดและกดดันมาก ประกอบกับไม่เคยเจอสถานการณ์เช่นนี้มาก่อนในชีวิต และตำรวจยังให้เขาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพทั้งที่ตัวเขามิใช่ผู้กระทำผิด เขาจึงเกิดความคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้ว นอกจากต้องยอมรับสารภาพไป

 

สำหรับสองข่าวที่กล่าวถึง จะเห็นได้ว่าการยอมรับสารภาพทั้งที่ตนเองไม่ได้ผิด หรือที่เราเรียกว่า “การรับสารภาพเท็จ” นั้นเกิดขึ้นได้จริง และสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ “การรับสารภาพเท็จ” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า false confession หมายถึง การยอมรับว่าตนเองได้เป็นผู้กระทำความผิดในคดีอาชญากรรม ทั้งที่ตัวผู้รับสารภาพไม่ได้กระทำพฤติกรรมเหล่านั้น หรือไม่มีส่วนร่วมเกี่ยวกับการกระทำผิดเลย ซึ่งการรับสารภาพเท็จนี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ถูกสอบสวนถูกกดดันหรือถูกถามคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดของการกระทำผิดว่ากระทำอะไร กระทำที่ไหน และกระทำอย่างไรจนกระทั่งผู้ถูกสอบสวน ยอมรับสารภาพออกมาในที่สุด

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลเกิดการรับสารภาพเท็จนี้มีปัจจัยใดบ้าง?


 

ต้องบอกก่อนว่าพฤติกรรมการยอมรับสารภาพเท็จนั้นเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นในสังคม และการรับสารภาพเท็จจะเกิดเพิ่มขึ้นภายใต้การปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในสังคม ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกบุคคลหรือภายในบุคคลก็ได้ โดยตัวอย่างของประวัติภายนอกก็ได้แก่วิธีการรสอบสวนและวิธีการให้หลักฐานเท็จ

 

สำหรับปัจจัยภายในคือปัจจัยส่วนบุคคล เช่น บุคคลที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (low self-esteem) บุคคลที่มีแนวโน้มที่จะเกิดการยอมตาม (compliance) หรือคล้อยตามการชี้นำจากผู้อื่น เช่น ผู้สอบสวน เป็นต้น ซึ่งสองปัจจัยหลังนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะเป็นปัจจัยทางบุคลิกภาพที่ส่งผลให้คนเกิดการรับสารภาพเท็จได้ค่อนข้างมาก

 

การเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบยอมตาม หรือคล้อยตามการชี้นำได้ง่ายนั้นก็จะส่งผลให้เกิดการรับสารภาพเท็จในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น บางคนยอมรับสารภาพเพราะรู้สึกว่าถูกกดดันให้ต้องสารภาพก็จะยอมสารภาพ แต่บางคนก็ยอมรับสารภาพโดยมีความเชื่อจากภายในจิตใจว่าตนเองได้กระทำความผิดลงไปจริง ทั้งที่ในความเป็นจริงเขาไม่ได้กระทำผิด แต่การสารภาพเท็จแบบที่สองนี้ก็จะเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย

 

เมื่อพูดถึงการยอมตามและการคล้อยตามแล้ว หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกันคือการยอมทำตามสิ่งที่ผู้อื่นบอกหรือเชื่อตามสิ่งที่ผู้อื่นบอก แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีความแตกต่างอยู่ โดยการยอมตามหรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า compliance นั้น จะหมายถึงการที่บุคคลมีแนวโน้มที่จะยอมรับการชี้นำจากบุคคลอื่นซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการที่บุคคลถูกเรียกร้องให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือการที่บุคคลต้องเคารพเชื่อฟังในคำสั่งของบุคคลอื่น ซึ่งบุคคลอาจยอมตามคำสั่งหรือข้อเรียกร้องของคนอื่นเพื่อต้องการให้ผู้อื่นยอมรับตนเอง หรืออาจจะเพื่อลดความขัดแย้งก็ได้ ส่วนการคล้อยตามนั้นหรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า conformity นั้นหมายถึงการที่บุคคลได้รับอิทธิพลทางจิตใจจากผู้อื่น และอิทธิพลนั้นก่อให้เกิดความคิดหรือความรู้สึกที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้อื่นต้องการให้เกิดขึ้น ทั้งนี้การคล้อยตามนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดการถูกชี้นำจากผู้อื่น ความแตกต่างระหว่าง 2 ลักษณะนี้ ได้แก่ ความรู้สึกส่วนตัวที่ยอมรับสิ่งที่ตนเองถูกชี้นำ โดยการยอมตามนั้นจะเป็นการตอบสนองทางพฤติกรรมภายนอกเป็นหลัก แต่ในความคิดตนเอง บุคคลอาจจะไม่ได้เชื่อว่าสิ่งที่ตนเองยอมตามไปนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ เช่น การยอมทำตามคำสั่งของหัวหน้าเพื่อที่จะไม่โดนหัวหน้าต่อว่า หรือถ้าในบริบทของการสอบสวนก็จะเป็นการที่บุคคลยอมรับสารภาพเท็จเพื่อให้บุคคลไม่ต้องรับแรงกดดันจากการสอบสวนอีกต่อไป แต่สำหรับการคล้อยตามจะเป็นการทำพฤติกรรมตามที่ถูกชี้นำ โดยที่ตนเองก็มีการยอมรับสิ่งที่ถูกชี้นำด้วยว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรจะทำ และบุคคลก็จะเชื่อสิ่งเหล่านั้นไปด้วย เช่น การยอมรับสารภาพเท็จโดยที่บุคคลเองก็เชื่อว่าตนเองน่าจะกระทำผิด ซึ่งกรณีนี้มักจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีความกำกวมหรือไม่ชัดเจน

 

สำหรับปัจจัยภายนอกบุคคลหรือปัจจัยด้านสถานการณ์ที่ส่งผลให้เกิดการสารภาพเท็จได้นั้นมีอยู่ 2 สิ่งหลัก ๆ ได้แก่

 

ปัจจัยที่หนึ่ง คือ ปัจจัยด้านการมีหลักฐานทางวัตถุหรือพยานบุคคล ที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลเป็นผู้กระทำผิดจริง เช่น การพบรอยนิ้วมือของผู้ต้องหาอยู่บนอาวุธสังหาร การพบยาเสพติดในกระเป๋าของผู้ต้องหา หรือมีพยานบอกว่าเห็นผู้ต้องหากำลังกระทำผิดอยู่เป็นต้น ซึ่งหากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในความเป็นจริง ผู้ต้องหาจะรู้สึกว่าตนเองถูกมัดตัวโดยไม่มีหนทางใดแล้วที่จะปฏิเสธข้อกล่าวหาได้ ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ไม่ได้กระทำผิด เพราะบุคคลจะรับรู้ว่าการมีหลักฐานหรือพยานบุคคลถือเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักมากในชั้นศาลว่าตนเองได้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา

 

ปัจจัยที่สอง คือ การใช้เทคนิคการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งก็มีมากมายหลายเทคนิค ในที่นี้จะเลือกนำมาพูดถึงเฉพาะเทคนิคที่น่าสนใจ คือ เทคนิคการสอบสวนแบบลดความรุนแรง หมายถึง การสอบสวนที่ผู้สอบสวนอาจกล่าวในเชิงลดโทษให้ผู้ต้องหา หรือลดความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อการกระทำผิดลง ผู้สอบสวนจะทำเหมือนตนยืนอยู่ข้างเดียวกับผู้ต้องหา เพื่อสร้างความรู้สึกไว้วางใจแก่ผู้ต้องหา หรืออีกเทคนิคหนึ่งคือ เทคนิคการสอบสวนแบบเพิ่มความรุนแรง คือ ผู้สอบสวนต้องการให้ผู้ต้องหารับสารภาพจึงกดดันเพิ่มความรุนแรง เช่น ทำให้เรื่องราวดูใหญ่โต หรือเพิ่มโทษให้ดูรุนแรงกว่าที่ควรเป็น และอาจมีการคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ผู้ต้องหาเกิดความเครียดและวิตกกังวล ซึ่งบางครั้งผู้สอบสวนก็อาจโกหก หรือสร้างเรื่องราวการกระทำความผิดขึ้นมาเพื่อกระตุ้นการรับสารภาพผิด

 

 

ในบริบทของสังคมไทย ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อการยอมรับสารภาพเท็จมากที่สุด?


 

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการสารภาพเท็จมากที่สุดในบริบทของคนไทย คุณภัทรา พิทักษานนท์ นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยในการวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยเชิงทดลองที่ศึกษาอิทธิพลของปัจจัยภายในและภายนอกของบุคคล ที่ส่งผลต่อการรับสารภาพเท็จ ปัจจัยภายใน ได้แก่ ลักษณะทางบุคลิกภาพคือการยอมตาม และการคล้อยตาม และปัจจัยภายนอกของบุคคล ได้แก่ เทคนิคการสอบสวนแบบเพิ่มความรุนแรงและลดความรุนแรง และการได้รับหลักฐานเท็จ ผลการวิจัยพบว่า ในสถานการณ์จำลองที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นนั้น ผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นนิสิตนักศึกษายอมรับสารภาพเท็จทั้งหมดถึงร้อยละ 64.8 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเกิดการรับสารภาพเท็จนั้นได้แก่ เทคนิคการสอบสวน การได้รับหลักฐานเท็จ และการมีบุคลิกภาพแบบยอมตาม

 

สำหรับเทคนิคการสอบสวนนั้นพบว่า เทคนิคลดความรุนแรง หรือการทำเรื่องผิดให้เล็กลงนั้น ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมการทดลองยอมรับสารภาพเท็จมากกว่าเทคนิคเพิ่มความรุนแรง และเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกแล้ว ผลการวิจัยพบว่า สำหรับการสารภาพเท็จนั้น ปัจจัยภายนอกบุคคลเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อบุคคลมากกว่าปัจจัยภายในบุคคล ทั้งนี้เนื่องจากในสถานการณ์ของการสอบสวนมีการจัดกระทำสภาพแวดล้อมให้มีความกดดันค่อนข้างมาก และการได้รับหลักฐานว่าตนเองทำผิดนั้นก็ถือเป็นสิ่งที่หนักแน่นมาก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจยอมรับผิดอย่างมาก

 

เนื่องการวิจัยครั้งนี้ เป็นเพียงแค่สถานการณ์จำลองขึ้น ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากสถานการณ์จริงอยู่บ้าง โดยเฉพาะสิ่งที่กระทำผิด ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่าในสถานการณ์จริงอาจจะมีผลแตกต่างกันไปได้ อย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าการได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนยอมรับสารภาพเท็จกันอยู่ในปัจจุบัน

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ธนวัต ปุณยกนก

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content