การทำหน้าที่ของครอบครัว คือ การที่สมาชิกในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กันภายใน และปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของตน เพื่อให้ครอบครัวมีการตอบสนองทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อปรับตัวให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
การทำหน้าที่ของครอบครัว (ตามแนวคิดของ McMaster, 1982)
McMaster Model of Family Function: MMFF มองว่าครอบครัวเป็นระบบเปิดที่ประกอบด้วยระบบย่อยหลายส่วน ได้แก่ ระบบบิดามารดาและบุตร ระบบคู่สมรส ระบบพี่น้อง และระบบเครือญาติ แนวคิดนี้ใช้ทฤษฎีหลายอย่างมาอธิบายการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัว เช่น ทฤษฎีการสื่อสาร ทฤษฎีการเรียนรู้ และทฤษฎีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยอยู่ภายใต้ทฤษฎีระบบ (System theory) และมีสมมติฐานดังนี้
- สมาชิกที่อยู่ร่วมกันในระบบครอบครัวมีความเกี่ยวข้องกัน พฤติกรรมของสมาชิกคนหนึ่งย่อมีอิทธิพลต่อสมาชิกคนอื่น ๆ
- การทำความเข้าใจสมาชิกคนในคนหนึ่ง ไม่สามารถกระทำได้โดยวิเคราะห์บุคคลนั้นเพียงคนเดียว จะต้องพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้นกับครอบครัวทั้งระบบด้วย
- รูปแบบของปฏิสัมพันธ์และการจัดองค์กรในครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญต่อพฤติกรรมของสมาชิกแต่ละคน
McMaster ได้แบ่งหน้าที่ของครอบครัวออกเป็น 6 ด้าน ซึ่งแต่ละด้านมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน ได้แก่
1. การแก้ปัญหา (Problem Solving)
หมายถึง ความสามารถของครอบครัวต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งภายใน และภายนอกครอบครัว โดยแบ่งปัญหาได้เป็น 2 ด้าน คือ
1.1 ปัญหาด้านวัตถุ (Instrumental) เป็นปัญหาพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น ที่อยู่อาศัย สุขภาพ การเงิน
1.2 ปัญหาด้านอารมณ์ (Affective) เช่น ความโกรธเคืองระหว่างพี่น้อง การไม่ไว้วางใจกันระหว่างสามีภรรยา
2. การสื่อสาร (Communication)
หมายถึง การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทั้งการสื่อสารโดยใช้คำพูด และการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด ครอบครัวที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารจะสื่อสารกันได้อย่างชัดเจน (เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา) และตรงต่อบุคคลเป้าหมาย (ไม่ผ่านบุคคลอื่น ไม่เป็นการพูดลอย ๆ)
3. บทบาท (Role)
หมายถึง แบบแผนหรือพฤติกรรมที่สมาชิกในครอบครัวจะประพฤติกันซ้ำ ๆ เป็นประจำ เพื่อทำให้ครอบครัวสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม การประเมินความเป็นไปของบทบาทในครอบครัวต้องพิจารณา 2 ด้าน คือการมอบหมายความรับผิดชอบในหน้าที่บางประการให้สมาชิก และการดูแลให้สมาชิกรับผิดชอบต่อบทบาทและหน้าที่ของตน
4. การตอบสนองทางอารมณ์ (Affective responsiveness)
หมายถึง ความสามารถทางอารมณ์ที่จะตอบสนองต่อกันอย่างเหมาะสมทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณอารมณ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัว ทั้งอารมณ์เชิงบวก เช่น รัก เป็นสุข ยินดี และอารมณ์เชิงลบ เช่น กลัว เศร้า โกรธ เสียใจ ผิดหวัง ครอบครัวที่ทำหน้าที่ได้ดีจะแสดงอารมณ์ได้หลายแบบในปริมาณและสถานการณ์ที่เหมาะสม
5. ความผูกพันทางอารมณ์ (Affective involvement)
หมายถึง ระดับความห่วงใยที่มีต่อกันของสมาชิกในครอบครัว การเห็นคุณค่าในสิ่งต่าง ๆ ที่สมาชิกทำ ความผูกพันทางอารมณ์มีหลายระดับ ตั้งแต่ (1) ปราศจากความผูกพัน (2) ผูกพันแบบไม่มีความรู้สึก คือ สนใจตามหน้าที่ หรือเพราะความอยากรู้อยากเห็น (3) ผูกพันเพื่อตนเอง เพื่อเสริมคุณค่าในตนเอง มิได้สนใจอีกฝ่ายอย่างจริงใจ (4) ผูกพันอย่างเข้าอกเข้าใจในความต้องการของอีกฝ่ายอย่างเหมาะสม (5) ผูกพันมากเกินไป จนอีกฝ่ายรู้สึกไม่มีความเป็นส่วนตัว จนถึง (6) ผูกพันจนเหมือนเป็นบุคคลเดียวกัน
6. การควบคุมพฤติกรรม (Behavior control)
หมายถึง แบบแผนการควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสถานการณ์ต่าง ๆ พฤติกรรมที่ต้องมีการควบคุมได้แก่ พฤติกรรมที่ตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจและชีวภาพ พฤติกรรมทางสังคม พฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สิน และการรักษาระเบียบวินัยภายในครอบครัว
การควบคุมพฤติกรรมภายในครอบครัวแบ่งได้ 4 แบบ คือ
แบบเข้มงวด – ครอบครัวมีการกำหนดมาตรการและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน มีบทลงโทษเมื่อทำผิด ข้อดีคือสมาชิกทุกคนจะปฏิบัติสมหน้าที่ แต่ในทางกลับกัน การปรับตัวของสมาชิดจะยากลำบาก อาจส่งผลให้สมาชิกมีการต่อต้านแบบดื้อเงียบ
แบบยืดหยุ่น – ครอบครัวมีกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนกฎไปตามความเหมาะสม เป็นการควบคุมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพราะเป็นไปตามความเข้าใจและยอมรับของคนในครอบครัว
แบบอะไรก็ได้ – ครอบครัวไม่มีทิศทางแน่นอนว่าสมาชิกควรประพฤติอย่างไร สมาชิกมักขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน การสื่อสารมักมีปัญหาเพราะมมีใครฟังใคร ครอบครัวแบบนี้จะปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ดี โตมาด้วยความรู้สึกไม่มั่นคง ควบคุมตนเองไม่ได้ และอาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพื่อเรียกร้องความสนใจ
แบบยุ่งเหยิง – ครอบครัวมีการควบคุมพฤติกรรมแบบขึ้น ๆ ลง ๆ บางครั้งเข้มงวด บางครั้งยืดหยุ่น การควบคุมแบบนี้ไม่เหมาะสมที่สุด เพราะทำให้ครอบครัวไม่มีเสถียรภาพและไม่มีความเสมอต้นเสมอปลายในการปฏิบัติหน้าที่
รายการอ้างอิง
“ความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดเผยตนเอง ความเหงา และการทำหน้าที่ของครอบครัวต่อพฤติกรรม การเสพติดอินเตอร์เน็ต” โดย ณัฐรดา อยู่ศิริ สุพิชฌาย์ นันทภานนท์ และ หทัยพร พีระชัยรัตน์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46895