เมื่อผู้สูงวัยในบ้าน เริ่มเปลี่ยนผ่านจากสุขภาพแข็งแรง สู่ภาวะเปราะบาง

21 Apr 2025

ผศ. ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

 

เหตุการณ์ไม่คาดคิด อาจเปลี่ยนสถานการณ์ภายในครอบครัวได้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงอายุ จากผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ดำเนินชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง มาเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะเปราะบาง เราผู้ที่เป็นลูกหลาน เป็นคู่ชีวิต และเป็นสมาชิกในครอบครัว ควรเตรียมรับมืออย่างไร?

 

เหตุการณ์พลิกผันที่อาจเกิดขึ้น มีได้หลากหลายแบบ เช่นเมื่อผู้สูงวัยในบ้านหกล้ม หมดสติ เป็นลม หน้ามืดตามัว ชักกระตุก มีภาวะสมองขาดเลือด (หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง และพูดติด ๆ ขัด ๆ) ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยหอบ เป็นเหตุฉุกเฉินให้ต้องเข้าโรงพยาบาล ผู้สูงวัยบางท่านหลังจากออกจากโรงพยาบาลในคราวแรก ๆ ก็สามารถฟื้นจากอาการป่วย และกลับมาดูแลตนเองได้ แต่ในหลาย ๆ ราย เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะมีช่วงที่ต้องกลับเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้งมากขึ้น และการฟื้นคืนของร่างกาย ก็เป็นไปได้ยากขึ้น จนเข้าสู่ภาวะเปราะบาง

 

 

สัญญาณเตือนความเปราะบาง


 

 

ประเมินจากความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย 5 ประการคือ

  1. การก้าวเดินที่ช้าลง
  2. น้ำหนักตัวที่ลดลง
  3. แสดงออกว่าเหนื่อยเพลีย
  4. กำลังมือในการหยิบจับสิ่งของอ่อนแอลงไป
  5. การมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลง

 

หากมีความเปลี่ยนแปลงจาก 3 ใน 5 ข้อนี้ ก็แสดงว่าบุคคลกำลังเข้าสู่ภาวะเปราะบาง (frailty) หากมีความเปลี่ยนแปลงประมาณ 1-2 ประการ ก็ถือว่าอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง (pre-frail) และผู้สูงวัยที่แข็งแรง (robust) จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นอกจากนี้การมีโรคภัยรุมเร้าหลายโรคร่วมกัน ก็บ่งชี้ถึงภาวะเปราะบางนี้ได้เช่นกัน

 

ภาวะเปราะบางในผู้สูงวัยมักจะมาควบคู่กันกับความสามารถทางการรู้คิดที่เสื่อมถอย (cognitive impairment) หรือการเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) ดังนั้นบุคลากรทางด้านสุขภาพจึงพยายามผลักดันโครงการเสริมสร้างสุขภาพต่าง ๆ ที่จะช่วยชะลอความเสื่อมถอยทางการรู้คิดให้กับผู้สูงวัย เช่น กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย กิจกรรมทางสังคมที่ให้ผู้สูงวัยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้คน และการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เป็นต้น

 

เมื่อผู้สูงวัยในบ้านเริ่มเข้ารู้ภาวะเปราะบาง ก็หมายความว่าความสามารถในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตด้วยตนเองก็จะเสื่อมถอยลงไปด้วย การดำเนินกิจกรรมพื้นฐาน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำ และการดูแลสุขอนามัย รวมไปถึงกิจกรรมที่ใช้ทักษะการจัดการที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การจ่ายบิล การจัดตารางนัดหมาย การเดินทางไปทำกิจกรรมตามที่นัดหมาย และการจัดยา ผู้สูงวัยในบ้านที่ยังไม่เปราะบาง จะสามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง และสามารถใช้ชีวิตด้วยตนเองโดยอิสระ แต่ผู้ที่มีภาวะเปราะบาง ควรต้องมีผู้ช่วยดูแลเพื่อความปลอดภัย เพราะจากที่เคยจัดยากินได้เองตามฉลาก ก็จะเริ่มกินยาผิด กินยาซ้ำ หรือไม่ได้กินเลย หรือจากเดิมที่สามารถเตรียมอาหารเองได้ ก็อาจมีความเสี่ยงที่เมื่อเริ่มเปราะบาง ก็จะลืมเปิดเตาทิ้งไว้ หรือ กินอาหารซ้ำ เพราะนึกว่ายังไม่ได้กิน หรือข้ามมื้ออาหารไปเลย

 

 

การจัดการเมื่อถึงการเปลี่ยนแปลง


 

 

ลูก ๆ ที่เคยวางใจให้ผู้ใหญ่ในบ้านดูแลตนเองอย่างเป็นอิสระ ก็จะเริ่มสังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และต้องเริ่มปรับตัว วางแผน จัดการทรัพยากรต่าง ๆ ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้

 

  • เริ่มพูดคุยกันในครอบครัว ถึงทางเลือกต่าง ๆ ในการดูแล โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน และให้น้ำหนักกับความต้องการของตัวผู้สูงวัยเป็นสำคัญ ผู้สูงวัยโดยส่วนใหญ่จะรู้สึกอุ่นใจที่สุดที่บ้านของตน การย้ายออกจากบ้านจึงควรเป็นตัวเลือกท้าย ๆ
  • ประเมินค่าใช้จ่าย สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การจัดซื้ออุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุ ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน กล้องวงจรปิด ตามความเหมาะสมต่าง ๆ ของครอบครัว
  • จากเดิมที่ผู้สูงวัยในบ้านเคยจัดการเรื่องต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น การไปพบแพทย์ การจัดยาและกินยา การจัดหาอาหาร การจ่ายบิลต่าง ๆ เมื่อมีภาวะเสื่อมถอย ลูกหลานต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
  • ผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมควบคู่ไปด้วย อาจตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ หรือบริการสมาชิกทางโทรศัพท์ที่ให้ซื้อสินค้าต่อเนื่องแบบจ่ายปลายทาง ลูกหลานจึงควรสอดส่องดูแลในเรื่องนี้ด้วย
  • แต่ละบุคคลตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ยากง่ายไม่เท่ากัน บางคนตอบสนองด้วยความทุกข์ บางคนต่อต้าน บางคนเรียกร้องความช่วยเหลือที่มากเกินจริง โปรดให้เวลากับการเปลี่ยนแปลงนี้ กระบวนการการรับมือของทุกคนในครอบครัวอาจใช้เวลาหลายเดือน หรือเป็นปี แต่ในที่สุดจะมีจุดที่ลงตัวสำหรับทุกคน

 

พึงระลึกไว้เสมอว่า แต่ละครอบครัวมีสถานการณ์และมีปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน ทุก ๆ ครอบครัว พยายามจัดการอย่างดีที่สุดตามปัจจัยที่เป็นไปได้

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ จากงานวิจัยที่ติดตามผลระยะยาว พบว่า ภาวะเปราะบาง มีทิศทางทางพัฒนาการได้ 3 รูปแบบ คือ 1. แบบที่แย่ลงตามเวลา (ประมาณ 40%) 2. แบบคงที่ และ 3. แบบดีขึ้น คือมีความเปลี่ยนแปลงขาขึ้นจากระดับเปราะบางมาเป็นระดับเฝ้าระวัง (ประมาณ 20%) นั่นหมายความว่า หากมีการปรับตัวทางสุขภาพที่ดีขึ้น ผู้สูงวัยที่เคยอยู่ในภาวะเปราะบาง ก็สามารถเลื่อนขั้นกลับมาสุขภาพดีขึ้นได้

 

การออกกำลังกายเป็นประจำนั้น เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของเราเป็นอย่างยิ่ง ถ้าบุคคลสะสมแต้มออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไว้ตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว ก็จะช่วยชะลอภาวะเปราะบางที่เกิดขึ้นเมื่ออายุที่มากขึ้นได้ แม้กระทั่งในผู้สูงอายุที่เริ่มมีสัญญาณความเสื่อมถอยทางสุขภาพร่างกาย เมื่อได้เข้าร่วมโปรแกรมสร้างเสริมการออกกำลัง ก็มักจะกลับมามีภาวะสุขภาพที่ดีขึ้น นอกจากการออกกำลังจะช่วยส่งเสริมสุขภาพกายแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพใจอีกด้วย การมีสุขภาพใจที่ดี ก็ช่วยให้ผู้สูงวัยมีพลังใจในการดูแลสุขภาพของตนตามไปด้วย

 

การออกกำลังใจก็สำคัญไม่แพ้กัน ทางจิตวิทยาเราเรียกทักษะนี้ว่า การฟื้นคืนได้ทางจิตใจ (psychological resilience) คือ เชื่อมั่นในตนเองว่าตนสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ เรียนรู้จากความผิดพลาด พร้อมรับความท้าทายที่เข้ามาในชีวิต และเชื่อว่าความพยายามจะนำไปสู่ความสำเร็จ

 

หวังว่าทุกคนจะมีการฟื้นคืนได้ทั้งทางกายและทางใจ เพื่อที่จะปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

 

 

 

 

อ้างอิง

 

Hoogendijk, E. O., & Dent, E. (2022). Trajectories, Transitions, and Trends in Frailty among Older Adults: A Review. Annals of geriatric medicine and research, 26(4), 289–295. https://doi.org/10.4235/agmr.22.0148

 

Nari, F., Jang, B. N., Youn, H. M., & others. (2021). Frailty transitions and cognitive function among South Korean older adults. Scientific Reports, 11, 10658. https://doi.org/10.1038/s41598-021-90125-6

 

Lee, Y., Nishita, Y., Tange, C., Zhang, S. Shimokata, H., Lin, S., Chu, W. Otsuka, R. (2025). Association between objective physical activity and frailty transition in community-dwelling prefrail Japanese older adults. The Journal of nutrition, health and aging, 29(4). https://doi.org/10.1016/ j.jnha.2025.100519

 

Ye, B., Li, Y., Bao, Z., Gao, J. (2024). Psychological Resilience and Frailty Progression in Older Adults. JAMA Netw Open, 7(11):e2447605. doi:10.1001/jamanetworkopen.2024.47605

 

Zingmark, M., Norström, F. Transitions between levels of dependency among older people receiving social care – a retrospective longitudinal cohort study in a Swedish municipality. BMC Geriatr 21, 342 (2021). https://doi.org/10.1186/s12877-021-02283-x

 

 

คู่มือการช่วยเหลือผู้สูงอายุในภาวะฉุกเฉิน

 

https://resourcecenter.thaihealth.or.th/assets/mediadol/07d66ab7-e16d-ec11-80f9-00155d1aab27/6d80d881026a03090b171bd8728e2b14.pdf

 

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน
ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

 

 

Share this content