ทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าลูกเป็นเกย์?

08 Jul 2018

อาจารย์ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี

 

ครั้งแรกที่ได้ยินคำถามนี้ ดิฉันเกิดคำตอบขึ้นมาทันทีว่า ทำตัวตามสบาย ตามปกติสิ ไม่เห็นจะต้องมี “How to” เพื่อมารับมือหรือจัดการกับ “ปัญหา” นี้เลย

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมาวิเคราะห์อีกที การที่ครอบครัวในสังคมของเรายังมีคำถามนี้อยู่ อาจหมายความว่า เรายังมีความไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจอยู่ และอาจจะยังไม่พร้อมที่จะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาปกติทั่วไป คาดว่าคงไม่มีใครเคยถามว่า ทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าลูกไม่ใช่เกย์?

 

ดังนั้นเรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นในการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติของคนในครอบครัวและสังคม โดยเฉพาะพ่อแม่ และผู้ปกครอง ซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญในชีวิตของลูก ๆ บทความนี้จึงอยากเชิญชวนให้พ่อแม่ และผู้ปกครองลองอ่านเพื่อเกิดความเข้าใจ และประเมินการกระทำ คำพูดที่เรามีต่อลูกที่มีความรักที่หลากหลาย

 

เรื่องทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นเกย์นี้ เราอาจจะมองได้ 2 ประเด็นคือ ลูกมาบอกเราว่าเขาเป็นเกย์ หรือ เราสงสัยว่าลูกเป็นเกย์ แต่ลูกไม่กล้าหรือยังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยกับเรา

 

ในประเด็นแรก หากลูกมาบอกเราว่าเขาเป็นเกย์ ขอให้คุณพ่อคุณแม่จงชื่นชมที่เขากล้าที่จะมาเปิดเผยกับเรา เพราะนั่นแปลว่าลูกเราไว้ใจและสนิทใจกับเรามากเพียงพอที่จะเปิดเผยตัวตนของเขาแก่เราได้ จงรักเขาให้มากกว่าเดิม และบอกเขาว่า เราดีใจที่เขาสามารถบอกเราเรื่องนี้ได้ ไม่ว่าลูกเป็นอย่างไรพ่อกับแม่ก็ยังรักลูกเหมือนเดิม อย่าทำให้เขาผิดหวังหรือทำให้เขากังวลว่าเขาอาจจะทำให้เราผิดหวัง พ่อแม่บางคนจะพูดกับลูกว่า “ตอนนี้จะเป็นอะไรก็ได้ เดี๋ยวต่อไปก็เปลี่ยนเอง” ซึ่งการพูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเรายอมรับในตัวลูกนะคะ แต่จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าเราไม่ได้ยอมรับเขาอย่างเต็มที่และเรายังอยากให้เขาเปลี่ยนเป็นลูกในแบบที่เราต้องการ (กมลรัตน์ ทวีรัตน์, ไกรวิน นรรัตน์, และ พลวัฒน์ ตู้จินดา, 2559)

 

ลูกทุกคนจะมีความกลัวว่าตนเองจะทำให้พ่อแม่ผิดหวัง กลัวว่าพ่อแม่จะไม่รักถ้าเราไม่เป็นหรือทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ อย่าสร้างความกลัวหรือความกังวลให้ลูกเลยค่ะ เพราะมันจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ตามมา พ่อแม่บางคนจะเข้าใจผิดว่าลูกเลือกที่จะเป็นเกย์ หรือการเป็นเกย์นั้นเป็นเรื่องที่ผิดปกติ หรือพ่อแม่บางคนจะโทษตนเองที่ทำให้ลูกเป็นเกย์ อย่าคิดหรือพูดเช่นนั้นกับลูกเด็ดขาดค่ะ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกผิดและเสียใจ ความชอบในเพศใดนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเลือกกันได้นะคะ เราลองถามตัวเองดูสิคะว่า เราเลือกที่จะชอบคนต่างเพศรึเปล่า หากพ่อแม่ยอมรับไม่ได้เมื่อรู้ว่าลูกเป็นเกย์นั้น คนที่ต้องปรับตัวและปรับทัศนคติจะไม่ใช่ลูก แต่เป็นพ่อแม่นั่นเองค่ะ

 

อีกประเด็นที่ว่าถ้าเราสงสัยว่าลูกอาจจะเป็นเกย์ แต่ไม่กล้ามาบอกเรา เราควรจะทำอย่างไรดี

 

ขอให้พ่อกับแม่ค่อย ๆ ชื่นชมบุคคลที่เป็นเกย์ในสังคมและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ให้ลูกเห็นว่า ไม่ว่าลูกจะมีเพศอะไร หากลูกเป็นคนดี ทำประโยชน์ให้สังคม ลูกก็จะเป็นที่รักและน่าชื่นชมในสายตาพ่อแม่และคนในสังคม พ่อแม่บางคนไม่มีสติ ไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ตนเองพูดนี่เองที่ทำให้ลูกไม่กล้าเข้ามาเปิดใจคุยกัน พ่อแม่บางคนเผลอพูดจาล้อเลียนหรือดูถูก กดขี่บุคคลรักเพศเดียวกัน หารู้ไม่ว่าลูกของเรากำลังสังเกตและจดจำว่าพ่อแม่ของเขามีทัศนคติอย่างไรต่อบุคคลเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเข้าไปคุยกับพ่อแม่ หากเราต้องการให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและไว้ใจเรา เราต้องปรับทัศนคติ การกระทำ และคำพูดของเราให้ได้ก่อนนะคะ จากนั้นหาโอกาสบอกลูกไปตรง ๆ ว่า ไม่ว่าลูกจะเป็นอะไร พ่อแม่ก็รักลูกเหมือนเดิม ประโยคนี้เป็นประโยคที่ลูก ๆ หลายคนอยากได้ยินที่สุดจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

 

 

 

อ้างอิง

 

กมลรัตน์ ทวีรัตน์, ไกรวิน นรรัตน์, และ พลวัฒน์ ตู้จินดา. (2559). ประสบการณ์ชีวิตของเลสเบี้ยน เกย์และไบเซ็กชวลภายหลังการเปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศของตนเองต่อบิดาและมารดา. โครงการทางจิตวิทยา ปริญญาบัณฑิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content