ความหลากหลายทางเพศ ทั้งในแง่รสนิยมทางเพศ (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) เป็นประเด็นที่สังคมในหลากหลายประเทศให้การยอมรับมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในปี 2019 มี 28 ประเทศที่กำหนดให้การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันถูกกฎหมาย ขณะที่ประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับเพศที่สาม ก็มีการถกประเด็นพูดคุยเรื่องการผลักดันให้มีการแก้ข้อกฎหมายให้รองรับคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกัน เรียกได้ว่า เราอาจจะเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมในการแสดงออกว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงในอีกไม่นาน
อย่างไรก็ตาม ความหมายของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศนั้นมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คำศัพท์บางคำในอดีตก็มีความหมายที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทำให้ในการสื่อสารระหว่างบุคคลทั้งทางวาจาและผ่านงานเขียนอาจมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน อีกทั้งคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่บัญญัติขึ้นบางคำก็ยังไม่มีคำศัพท์ในภาษาไทยที่สื่อความได้อย่างชัดเจนหรือไม่เป็นที่แพร่หลาย สิ่งนี้เป็นประเด็นที่เราควรเริ่มให้ความสำคัญ เนื่องจากบางครั้งการใช้คำที่เราคุ้นเคยจากประสบการณ์ในอดีตอาจสื่อความไปในทางลบ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้รับสารได้
วันนี้ทางคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงรวบรวมคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ และความหมาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ผู้อ่านมีความเข้าใจที่ตรงกันและหลีกเลี่ยงการใช้คำที่มีความหมายทางลบในเชิงเหยียดต่อรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศต่อบุคคลอื่น เริ่มจากการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างรสนิยมทางเพศ (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)
นอกจากนี้ ยังมีคำศัพท์ที่กำกวมและถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือชาว LGBTQ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายในทางลบหรือเชิงเหยียดรสนิยมทางเพศและไม่ควรนำมาใช้ เพื่อเป็นการเคารพในสิทธิมนุษยชนของทุกเพศอันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของทุกคนในสังคม
ตัวอย่างคำที่ไม่ควรใช้ คือ คนเบี่ยงเบนทางเพศ รักร่วมเพศ สาวประเภทสอง สายเหลือง ไส้เดือน คุณแม่ ซิส ประเทือง แต๋ว เก้ง กวาง ขุดทอง เป็นต้น
อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)
คือ การรับรู้เพศของบุคคลนั้นที่มีต่อตนเอง ว่ามีความเป็นเพศใดในกลุ่มทางเพศของสังคมที่ตนอาศัยอยู่ โดยที่แต่ละสังคมก็มีกลุ่มทางเพศที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศกำเนิด เช่น เด็กชาย เด็กหญิง ผู้ชาย ผู้หญิงหรือเพศอื่น ๆ ไม่นับรวมถึงความสนใจหรือความชอบทางเพศต่อบุคคลอื่น ๆ
เพศกำเนิด (sex หรือ biological sex)
คือ เพศที่ถูกกำหนดโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ จากอวัยวะสืบพันธุ์ โครโมโซม และฮอร์โมนต่างๆ แบ่งได้เป็น ชาย หญิง หรือ ภาวะเพศกำกวม
เพศ (gender)
คือ สถานะทางเพศที่เกิดจากปัจจัยทางจิตวิทยา พฤติกรรม สังคมและวัฒนธรรม โดยแบ่งเป็น ลักษณะความเป็นชาย (masculinity) และลักษณะความเป็นหญิง (femininity)
Cisgender
คือ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกที่สะท้อนเพศของตนเอง (เช่น การแต่งกายและพฤติกรรมท่าทาง) ตรงกับเพศกำเนิด ได้แก่
คนที่เกิดมามีเพศหญิง – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้หญิง และแสดงลักษณะท่าทางเป็นหญิงผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง
คนที่เกิดมามีเพศชาย – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้ชาย และแสดงลักษณะท่าทางเป็นชายผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง
Transgender
(คำที่คนไทยทั่วไปใช้เรียกคือ ผู้หญิงหรือผู้ชายข้ามเพศ)
คือ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกที่สะท้อนเพศของตนเอง (เช่น การแต่งกายและพฤติกรรมท่าทาง) ไม่ตรงกับเพศกำเนิดอย่างสิ้นเชิง รวมถึงการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศด้วย ได้แก่
Trans men คนที่เกิดมามีเพศหญิง – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้ชาย และแสดงลักษณะท่าทางเป็นชายผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง อาจมีการทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศ เช่น การตัดเต้านม หรือการเสริมอวัยวะเพศชาย
Trans women คนที่เกิดมามีเพศชาย – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้หญิง และแสดงลักษณะท่าทางเป็นชายผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง อาจมีการทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศ เช่น การเสริมเต้านม หรือการตัดอวัยวะเพศชาย
Genderqueer
คือ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ ที่มากกว่าการแสดงออกเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง หรือบางครั้งไม่ใช่ทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรืออยู่ตรงกลางระหว่างผู้ชายและผู้หญิง
รสนิยมทางเพศ (sexual orientation)
คือ ความสนใจหรือความชอบทางเพศที่บุคคลมีต่อบุคคลอื่น ประกอบไปด้วย ความสนใจหรือความชอบทางอารมณ์ ความสนใจหรือความชอบทางเพศ และพฤติกรรมทางเพศที่บุคคลแสดงออก โดยเมื่อก่อนมีการจัดกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ Homosexual หรือกลุ่มคนที่รักหรือชอบเพศเดียวกัน และ Heterosexual หรือ กลุ่มคนที่รักหรือชอบเพศตรงข้าม (ชายรักหญิง และหญิงรักชาย) ในปัจจุบันสองคำนี้ไม่ได้ถูกใช้เป็น คำที่เรียกกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
LGBTQ
(คำที่คนไทยทั่วไปยังใช้เรียกคือ เพศที่สาม)
คือ กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มที่คนที่มีความสนใจหรือความชอบทางเพศที่หลากหลาย เช่น คนที่ระบุว่าตนเองเป็น เกย์ เลสเบี้ยน ไบ และคนที่ยังค้นหาความชอบทางเพศของตนเอง
เลสเบี้ยน (lesbian)
คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่เป็นผู้หญิง และมีความสนใจและความชอบทางเพศ และ/หรือมีพฤติกรรมทางเพศต่อผู้หญิง รวมถึงกลุ่ม ทอมและดี้
เกย์ (gay)
คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่เป็นผู้ชาย และมีความสนใจและความชอบทางเพศ และ/หรือมีพฤติกรรมทางเพศต่อผู้ชาย
ไบ (bisexual)
คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง และมีความสนใจและความชอบทางเพศ และ/หรือมีพฤติกรรมทางเพศต่อคนที่เป็นเพศเดียวกับตนเอง หรือเพศอื่นๆ โดยที่มาคือคำว่า bi ไม่ได้แปลว่าสองอย่างตรงตัว แต่แปลว่ามากกว่าหนึ่ง เช่น ผู้หญิงที่เป็นไบ (bisexual women) อาจมีความสนใจและความชอบทางเพศต่อผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ หรืออื่นๆ
เควียร์ (queer)
คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่มีรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกที่สะท้อนเพศของตนเอง ที่ไม่เป็นไม่ตามบรรทัดฐานของสังคม เดิมทีการใช้คำนี้แสดงถึงความเหยียดรสนิยมทางเพศของกลุ่ม LGBTQ แต่ในปัจจุบันชาว LGBTQ นำกลับมาใช้เพื่อแสดงถึงสิทธิในการเลือกใช้คำที่สะท้อนความเป็นตัวตน
Questioning
คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่ยังอยู่ในช่วงค้นหาความสนใจหรือความชอบทางเพศ รวมไปถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง
Asexual
คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่ไม่มีความสนใจหรือความชอบทางเพศต่อเพศอื่น ๆ ต่างจากภาวะหมดสมรรถภาพทางเพศ
ดังที่กล่าวว่าภาษานั้นเป็นสิ่งที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ความหมายในยุคสมัยหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในอีกยุคสมัยหนึ่ง อีกทั้งความรู้สึกต่อถ้อยคำต่าง ๆ ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคลและการรับรู้เจตนาของผู้ส่งสาร แต่ในบริบทที่เป็นทางการ เป็นสาธารณะ หรือเป็นการสื่อสารที่ไม่อาจคาดเดาขอบเขตการยอมรับของผู้รับสารได้ การระมัดระวัง…ด้วยตระหนักในสิทธิและในเกียรติของกันและกัน จะช่วยทำให้สังคมของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
บทความวิชาการ
โดย คุณรพินท์ภัทร์ ยอดหล่อชัย
นิสิตปริญญาโท แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย