เอกลักษณ์ทางเพศเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด คือไม่เป็นเพศหญิงก็ต้องเป็นเพศชาย เพศใดเพศหนึ่ง (ยกเว้นบุคคลที่ผิดปกติคือเกิดมามี 2 เพศในคนเดียว) ขณะเดียวกันมนุษย์ก็ยังได้กำหนด “บทบาททางเพศ” ขึ้นเพื่อให้บุคคลปฏิบัติตามความคาดหวังของสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย
สังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิมได้แบ่งบทบาทของเพศชายและเพศหญิงให้แตกต่างกันมาก โดยถือว่าผู้ชายเป็นเพศที่แข็งแรงมีพละกำลังมาก ควรทำหน้าที่ดูแลปกป้อง และคุ้มครองสังคม สังคมจึงยกย่องผู้ชายในฐานะบทบาทของผู้คุ้มครอง ส่วนผู้หญิงนั้นเป็นเพศอ่อนแอ มีความนุ่มนวลละเอียดอ่อน ผู้หญิงจึงทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัว และอบรมเลี้ยงดูบุตร
ทั้งนี้ บทบาททางเพศไม่ได้หมายถึงแต่เพียงพฤติกรรมที่สังคมปรารถนาเป็นพิเศษสำหรับเพศชายและหญิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคลิกลักษณะ เจตคติ และค่านิยมอีกด้วย
“ลักษณะของความเป็นชาย” หมายถึง พฤติกรรมที่มุ่งเน้นความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตนเองได้ตั้งไว้ ได้แก่ ลักษณะของความเป็นผู้นำ ความเชื่อมั่นในตนเอง ความกล้าแสดงออก เป็นต้น
“ลักษณะความเป็นหญิง” หมายถึง พฤติกรรมที่เน้นการแสดงออกทางอารมณ์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดผลดีในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เช่น ความเอาใจใส่ การมีความรู้สึกไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น เป็นต้น
ความเป็นหญิงและความเป็นชายเป็นลักษณะที่เป็นอิสระจากกัน คือบุคคลหนึ่งสามารถมีลักษณะความเป็นหญิงหรือชายสูงเพียงอย่างเดียว หรือสูงทั้งสองอย่าง หรือต่ำทั้งสองอย่างก็ได้ ดังนั้นบทบาททางเพศจึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
- บทบาททางเพศแบบมีความเป็นชายสูงลักษณะเดียว (masculine) เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ เป็นผู้นำ เข้มแข็ง กล้าตัดสินใจ ชอบแข่งขัน มีพลังอำนาจ กระฉับกระเฉง เป็นอิสระ
- บทบาททางเพศแบบมีความเป็นหญิงสูงลักษณะเดียว (feminine) เป็นผู้มีความอ่อนหวาน นุ่มนวล ขี้อาย อ่อนแอ เป็นผู้ตาม เป็นผู้ถูกกระทำ
- บทบาททางเพศแบบมีความเป็นชายและความเป็นหญิงสูงทั้งคู่ (androgyny) เป็นผู้ที่แสดงพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ มีความยืดหยุ่น สามารถผสมผสานความเข้มแข็งของผู้ชาย และความอ่อนโยนของผู้หญิงไว้ในตนเอง ปรับตัวง่าย
- บทบาททางเพศแบบมีความเป็นหญิงและความเป็นชายต่ำทั้งคู่ (undifferentiated) เป็นผู้ที่มีบทบาททางเพศไม่ชัดเจน ไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม โดยอาจแสดงออกในลักษณะที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของสังคม
ทั้งนี้ บทบาททางเพศนั้นเป็นผลสืบเนื่องมากจากอิทธิพลที่เป็นองค์ประกอบร่วมกัน 2 ประการ คือ
องค์ประกอบทางชีวภาพของร่างกาย ได้แก่ การทำงานของฮอร์โมนเพศ และยีนส์ที่เกี่ยวพันกับสรีระและความสามารถบางอย่างของเพศชายและเพศหญิง
องค์ประกอบทางสภาพแวดล้อม ได้แก่ สิ่งแวดล้อมในครอบครัว การอบรมเลี้ยงดู และการเรียนรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม
ในสมัยก่อน เราเชื่อกันว่าวัยรุ่นที่สามารถพัฒนาบทบาททางเพศให้เหมาะสมกับเพศของตนได้เป็นเครื่องบ่งชี้ความสามารถในการปรับตัว ดังนั้นบุคคลที่มีบทบาททางเพศไม่ตรงกับเพศของตน หรือมีลักษณะความเป็นหญิงและชายสูงทั้งคู่ ถือว่าเป็นผู้มีความล้มเหลวในการพัฒนาบทบาททางเพศของตนให้เป็นไปตามความต้องการทางสังคม อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทำให้ผู้หญิงและผู้ชายต้องมีการสลับบทบาทกันบ้างในสถานการณ์ต่างๆ บทบาททางเพศแบบ androgyny เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงเกิดแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับบทบาททางเพศและการปรับตัว โดยพบว่า บทบาททางเพศแบบ androgyny ทำให้บุคคลมีความยืนหยุ่นสูง ปรับตัวในสังคมได้ดี และมีโอกาสประสบความสำเร็จมาก เนื่องจากมีอิสระจากกฎเกณฑ์ต่างๆ มองสถานการณ์ต่างๆ กว้างขึ้น และมีการตอบสนองที่เหมาะสมตามสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี
นอกจากนี้ยังมีข้อที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ จากงานวิจัยของ ฉันทิกา ทิมากร (2534) ที่ศึกษาความสามารถในการปรับตัวของวัยรุ่นตอนปลาย พบว่า วัยรุ่นชายที่มีลักษณะmasculine เป็นกลุ่มที่ปรับตัวกับเพื่อนได้ดีที่สุด ขณะที่วัยรุ่นหญิงที่มีลักษณะ androgyny เป็นกลุ่มที่ปรับตัวกับเพื่อนได้ดีที่สุด
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากสังคมไทยมักยืดถือบทบาททางเพศแบบตรงตามเพศในเพศชายสูง สังคมยังคงคาดหวังให้ผู้ชายมีความเข้มแข็ง เป็นผู้นำครอบครัว ขณะที่ผู้หญิง สังคมมีความคาดหวังให้ผู้หญิงต้องพัฒนาตนเองจากบทบาทของแม่บ้านมาหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว การทำงานนอกบ้านผู้หญิงจึงจำเป็นต้องพัฒนาคุณลักษณะความเป็นชายขึ้นด้วย
รายการอ้างอิง
“บทบาทของเพศ บทบาททางเพศ และความเป็นปัจเจกนิยม-คติรวมหมู่ต่อการเสียใจภายหลัง และเป้าหมายการควบคุม” โดย สินีรัตน์ โชติญาณนนท์ (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20415
“การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเอกลักษณ์บทบาททางเพศ ของวัยรุ่นกับเอกลักษณ์บทบาททางเพศของพ่อแม่ ตามการรับรู้ของตนเอง” โดย วรรณภา เพชราพันธ์ (2534) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/24324
“การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการปรับตัวกับเพื่อน ของเด็กวัยรุ่นตอนปลายที่มีบทบาททางเพศแตกต่างกัน” โดย ฉันทิกา ทิมากร (2534) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/35146