Fixed and growth mindset – กรอบความคิดแบบยึดติด-เติบโต

20 Dec 2022

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

กรอบความคิดแบบยึดติด-เติบโต มีรากฐานมาจากทฤษฎีบุคลิกภาพด้านความคิด ว่าบุคคลมีการตอบสนองอยู่ 2 ประเภท คือ แบบช่วยตนเองไม่ได้ (helpless) และ แบบเน้นการเรียนรู้ (mastery orientation)

 

บุคคลที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ใด ๆ แบบช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มักหลีกหนีปัญหาเมื่อเจออุปสรรค ส่วนการตอบสนองแบบเน้นการเรียนรู้จะเผชิญกับปัญหาแม้เจออุปสรรค ซึ่งความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลและได้พัฒนาต่อมาเป็นทฤษฎีความเชื่อส่วนบุคคลหรือหรือกรอบความคิดแบบยึดติด-เติบโต

 

คนที่มีความเชื่อว่าความฉลาด ความสามารถ เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เรียกว่าเป็นคนมีกรอบความคิดแบบยึดติด (fixed mindset) ส่วนคนที่เชื่อว่าความฉลาด ความสามารถ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และคนเราสามารถฉลาดหรือเก่งขึ้นได้โดยใช้ความพยายามกับสิ่งนั้น เรียกว่กรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset)

 

ผู้มีกรอบความคิดแบบยึดติดจะมีเป้าหมายยึดติดกับผลลัพธ์ ซึ่งเน้นการพิสูจน์ตนเองเพื่อให้ได้รับคำชมและหลีกเลี่ยงคำตำหนิ ส่วนผู้มีกรอบความคิดแบบเติบโตจะมีเป้าหมายแบบมุ่งเน้นการเรียนรู้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เน้นการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่างกัน

 

คนที่มีมองว่าความสามารถปรับเปลี่ยนได้ นอกจากจะพัฒนาตนเองได้ดีกว่า ยอมรับคำแนะนำมากกว่า ยอมรับคนอื่นได้มากกว่า มีแนวโน้มในการต้องการคนยกย่อง สรรเสริญน้อยกว่า และทำงานที่ท้าทายได้มากกว่าคนที่มีกรอบความคิดแบบยึดติด

 

อย่างไรก็ดี ข้อเสียของผู้มีกรอบความคิดแบบเติบโต คือ เมื่อบุคคลทำสิ่งใหม่ ๆ แล้วพยายามอย่างสุดความสามารถแต่ก็ยังไม่สำเร็จ เขาจะรู้สึกแย่มากกว่าคนที่มีกรอบความคิดแบบยึดติด อีกทั้ง เมื่อเขามองตนเองว่าพยายามจึงจะสำเร็จ เขาก็จะคาดหวังในคนอื่นพยายามด้วย ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาในความสัมพันธ์เพราะเขาจะคิดว่าคนอื่นพยายามไม่พอ นอกจากนี้ ผู้มีกรอบความคิดแบบเติบโตมักมองไปในอนาคต แต่ผู้มีกรอบความคิดแบบยึดติดมักอยู่กับปัจจุบันมากกว่า

 

กรอบความคิดแบบยึดติด-เติบโต มีพื้นฐานจากความเชื่อ ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เราได้รับ โดยที่เราสามารถเปลี่ยนกรอบความคิดในช่วงไหนของชีวิตก็ได้เพื่อที่จะประสบความสำเร็จและได้รับความพึงพอใจ ทั้งนี้คนที่มีกรอบความคิดแบบยึดติดในเรื่องหนึ่ง อาจมีกรอบความคิดแบบเติบโตในอีกเรื่องหนึ่งได้

 

*****************

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการควบคุมในงานและความพึงพอใจในงาน โดยมีรูปแบบการเผชิญปัญหาเป็นตัวแปรส่งผ่านและกรอบความคิดแบบยึดติด-เติบโตเป็นตัวแปรกำกับ” โดย ภัทรพร กังวานพรชัย (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/52349

Share this content