ความสุขของผู้หญิงโสด
: กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงโสดอายุ 35 ปี ขึ้นไป ที่ยังไม่เคยแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีความสัมพันธ์ฉันคู่รักับใคร และ/หรือไม่ได้อยู่กินกับใครโดยพฤตินัยในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมาหรือมากกว่า ในเขตกรุงเทพมหานคร 12 ราย เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกร่วมกับการสังเกตและบันทึกส่วนตัวของผู้วิจัย
“ความสุขของผู้หญิงโสด” มีอยู่ด้วยกัน 4 ประเด็น ดังต่อไปนี้
1. มีความพึงพอใจในชีวิต
เป็นความพึงพอใจเชิงอัตวิสัย มาจากการประเมินโดยรวมถึงคุณภาพชีวิตทั้งหมดของบุคคลตามเกณฑ์ที่บุคคลนั้นเลือกเอง
2. มีอิสระ
สามารถทำอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ ไม่มีห่วงไม่มีกังวล
3. มีพลังในตนเอง
สามารถควบคุมชีวิตตนเองให้เป็นได้อย่างที่ตั้งใจไว้ เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ มีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหรือการใช้ชีวิต และมีเวลาให้กับตนเองในการทำสิ่งที่ต้องการ
4. มีความมั่นคงในใจ
รู้จักและเข้าใจตนเองมากขึ้น เชื่อมั่นมากขึ้น มีความต้องการทางวัตถุน้อยลง ใจเย็นขึ้น มุมมองต่อปัญหาและสิ่งรอบตัวเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มองทุกอย่างด้วยความเข้าใจมากขึ้น มีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น
สิ่งที่มากระทบความสุข
- รับรู้ข้อจำกัดของคนโสดว่ายามแก่ตัวหรือเจ็บป่วยอาจทำให้ต้องเป็นภาระของผู้อื่น
- รับรู้ว่าขาดโอกาสการเป็นแม่
- เป็นห่วงเรื่องเงินว่าอาจไม่พอใช้ในอนาคต เนื่องจากต้องพึ่งพารายได้ของคนคนเดียว ซ้ำรายได้ของผู้หญิงมักน้อยกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของผู้ชาย
- คำพูดของคนรอบข้าง
วิธีจัดการสิ่งที่มากระทบความสุข
- ปล่อยวาง
- วางแผนอนาคต
- คิดในทางบวก
- อยู่กับปัจจุบัน
- ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์
- ใช้เหตุและผลในการแก้ไขปัญหา
ปัจจัยที่สนับสนุนให้ผู้หญิงอยู่ในภาวะโสดอย่างมีความสุข
ได้แก่
1. ประสบความสำเร็จในการทำงาน
มีหน้าที่การงานที่ดี ได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ มีความเจริญก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับ
2. มีครอบครัวเป็นแหล่งสนับสนุน
มีคนในครอบครัวอยู่เคียงข้าง คอยดูแล ช่วยเหลือ ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน รวมถึงไม่ถูกกดดันเรื่องแต่งงาน
3. มีเพื่อนที่ดี
มีเพื่อนที่คอยรับฟังและเป็นที่ปรึกษา บางรายกล่าวว่าการมีเพื่อนที่เป็นสาวโสดเหมือนกันทำให้ไม่รู้สึกกดดันกับการเป็นโสดต่อไป
4. มีกิจกรรมที่ตนสนใจทำ
เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ท่องเที่ยว เล่นกีฬา และการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคม ล้วนเป็นสิ่งช่วยให้ไม่รู้สึกเหงา และมีความสุขกับการใช้ชีวิต
นอกจากนี้ผู้ให้ข้อมูลยังกล่าวถึงทัศนคติบางอย่างที่ส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจ ทำให้ผู้ให้ข้อมูลเลือกที่จะครองตนเป็นโสดมากกว่าที่จะแต่งงานมีคู่ครอง นั่นคือ
1. ทัศนคติทางลบต่อชีวิตคู่
ผู้ให้ช้อมูลบางรายกล่าวถึงความไม่มั่นใจในตัวคู่ครอง หรือแม้กระทั่งบุตรหลายว่าจะดูแลตน รับรู้ต่อผู้ชายในทางลบ และมีความรู้สึกต่อการแต่งงานที่ไม่ดีนัก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการได้เห็นหรือได้ฟังเรื่องราวชีวิตครอบครัวที่มีปัญหาของผู้อื่น มิใช่ประสบการณ์ตรง
2. ทัศนคติทางบวกต่อการเป็นโสด
ในระหว่างการใช้ชีวิตเป็นโสดทำให้รับรู้ข้อดีของการอยู่เป็นโสด ส่งผลให้มีทัศนคติที่ดีต่อการเป็นโสดของตน และมองว่าการเป็นโสดนั้นไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติ และดีตรงที่ไม่ต้องมีภาระเพิ่มเหมือนคนมีคู่
ข้อมูลจาก
“ความสุขของผู้หญิงโสด อายุ 35 ปีขึ้นไป”
“Happiness of single women age 35 and above”
วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2553)
โดย นางสาวธันยุดา บูรณวุฒิ
ที่ปรึกษา อ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/30422