การสร้างความสุขให้ผู้สูงวัย

29 Sep 2017

อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

 

เมื่อพูดถึงความสุข ไม่ว่าใครก็อยากมีความสุข ในชีวิตกันทั้งนั้น เพราะความสุขเป็นพลังงานทางบวก ช่วยขับเคลื่อนให้เรามีกำลังใจในการดำเนินชีวิต และ เมื่อต้องพบเจอกับอุปสรรค ผู้ที่มีความสุขในชีวิตก็จะ สามารถรับมือกับปัญญาได้อย่างใจเย็น ที่สำคัญเวลาเรามีความสุข คลื่นความสุขภายใน ตัวเรายังสามารถแผ่กระจายไปสู่คนรอบข้าง เหมือนที่เวลาเรายิ้มกว้าง ผู้คนรอบข้างก็พลอยรู้สึกดีไปด้วย ดังนั้นจะดีแค่ไหน ที่เราร่วมกันสร้างความสุขให้ผู้สูงวัยในบ้านหรือในสังคมของเรา เพราะเมื่อท่านมีความสุข ยิ้มได้ เราลูกหลานก็พลอยสบายใจไปด้วย

 

 

 

เราจะสร้างความสุขให้ผู้สูงวัยได้อย่างไรกันบ้าง ?


 

สิ่งที่สำคัญสิ่งแรกที่ควรคำนึงถึง คือ การทำให้ท่านรู้สึกว่ามีคุณค่าและมีความสามารถ หลายคนมักคิดว่าผู้สูงวัยเป็นผู้ไร้ความสามารถ บางคนจึงปฏิบัติต่อผู้สูงวัยราวกับว่าท่านเป็นเด็กเล็ก ๆ เช่น พูดช้า ๆ ยืด ๆ หรือพูดเสียงดัง เพราะคิดว่าท่านจะฟังไม่ได้ยิน การเลือกปฏิบัติต่อผู้สูงวัยเช่นนี้ ทำให้ท่านเสียความรู้สึกพอสมควร โดยท่านจะรู้สึกดีกว่าหากเราปฏิบัติต่อท่านเหมือนที่เราทำกับคนอื่น ๆ ทั่วไป ลองคิดในมุมของผู้สูงวัย คงไม่มีใครชอบใจที่ทุกวันมีคนปฏิบัติต่อเราแบบที่เตือนให้เรารู้สึกว่า เราเป็นคนแก่ หรือคนด้อยความสามารถ

 

อีกสถานการณ์หนึ่งที่การกระทำของเราอาจไปบั่นทอนพลังในการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัย คือ การที่ท่านกำลังเดินตามปกติ แล้วมีคนเข้าไปประคองหรืออุ้มท่าน เพื่อให้ท่านไปถึงที่หมายเร็วขึ้น เราผู้ซึ่งเข้าไปอุ้มหรือประคองผู้สูงวัยนั้น อาจรู้สึกว่าตนกำลังทำหน้าที่พลเมืองดีหรือลูกหลานที่ดี แต่การกระทำแบบนั้นอาจทำให้ท่านรู้สึกเหมือนว่าตนเป็นคนไร้สมรรถภาพก็เป็นได้ อย่าลืมว่า คนเราทุกคนมีบุคลิกภาพเฉพาะตัวที่ค่อนข้างคงทนถาวรไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีอายุที่มากขึ้น เช่น ความหยิ่งในศักดิ์ศรี การชอบทำอะไรด้วยตนเอง เป็นต้น ถ้าเราเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยแบบนี้เช่นกัน คงเข้าใจดีว่าการทำอะไรได้ด้วยตนเองนั้นเป็นความภาคภูมิใจ ทำให้รู้สึกว่าชีวิตตนมีคุณค่า ดังนั้นผู้สูงวัยที่ชอบพึ่งพาตนเอง ก็คงไม่ชอบใจนักหากมีใครเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของท่านโดยไม่จำเป็น

 

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ต่อไปนี้เวลาเห็นผู้สูงวัยเดินอยู่แล้วให้อยู่เฉย ๆ ไม่เข้าไปยุ่ง เราสามารถเดินข้าง ๆ ร่วมไปกับท่านได้ หากเห็นท่านมีอาการเหนื่อยหอบเหมือนต้องการความช่วยเหลือ ก็ถามท่านไปตรง ๆ ว่ามีอะไรให้เราช่วยหรือไม่ ผู้สูงวัยบางท่านอาจจะให้เราช่วยถือของให้ หรือบางท่านอาจให้เราเป็นราวเกาะพาท่านเดิน อย่างนี้ผู้สูงวัยก็รู้สึกดีว่ามีคนห่วงใยท่าน โดยไม่เป็นการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของท่านจนเกินไป ส่วนตัวเราเองก็ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ลูกหลานหรือพลเมืองที่ดี

 

 

ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ไม่ชอบรู้สึกว่าตนเป็นภาระต่อลูกหลาน หรือเป็นภาระต่อสังคม การเลือกปฏิบัติต่อผู้สูงวัยที่เป็นพิเศษหรือแตกต่างจากผู้อื่น ไม่ได้ทำให้ท่านรู้สึกดีขึ้น แต่อาจทำให้ท่านรู้สึกไม่ดีกับความสูงวัยของตนเอง อาจทำให้ท่านรู้สึกทุกข์มากกว่าสุข ดังนั้นเราลูกหลานต้องนึกถึงใจท่านให้มาก ๆ

 

หัวใจสำคัญของการปฏิบัติตัวที่ถนอมความรู้สึกของผู้สูงวัยก็คือ การนึกถึงใจเขาใจเรา นึกถึงว่าอะไรที่ ผู้อื่นทำกับเราแล้วเราไม่ชอบ เช่น การใช้คำพูด การแสดงกิริยาท่าทางที่ทำให้เรารู้สึกด้อยคุณค่า รู้สึกเหมือนไร้ความสามารถ หรือการแสดงความเวทนาสงสาร การกระทำเหล่านี้ไม่มีใครชอบ ผู้สูงวัยก็เช่นกัน

 

สำหรับการสร้างความสุขใจให้แก่ผู้สูงอายุ ได้แก่ การได้รับการสนับสนุนทางสังคม โดยมีสถาบันครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส ลูก หลาน ญาติพี่น้อง เป็นแหล่งสนับสนุนที่สำคัญ หน้าที่ของเราลูกหลานก็คือแสดงให้ผู้สูงวัยรับรู้ ว่าท่านได้รับการสนับนุนทางสังคม ไม่ทำตัวห่างเหิน พูดคุยกับท่าน ถามไถ่ทุกข์สุขของท่าน หลายคนมีผู้สูงวัยอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน แต่กลับอยู่กันคนละห้อง รับประทานอาหารกันคนละที่ คนละเวลา ยังไม่สายเกินไป ที่เราจะปรับเปลี่ยนวิถี ชีวิตในครอบครัวเสียใหม่ เพื่อให้เราได้ใกล้กับผู้สูงวัยในบ้านมากขึ้น หากหน้าที่การเรียนการงานไม่เอื้อที่จะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทุกวัน อย่างน้อยแต่ละสัปดาห์ ให้มีสักหนึ่งวันที่ได้พูดคุยทำกิจกรรมร่วมกัน ก็จะทำให้ผู้สูงวัยในบ้านมีความสุขไม่น้อยเลย

 

ผู้สูงวัยหลายท่านรู้สึกว่าตนเป็นภาระ เพราะเวลาที่ท่านเจ็บป่วยต้องไปโรงพยาบาลทีไร ก็ต้องขอให้ลูกหลานพาไป เพื่อให้ท่านรู้สึกสบายใจ เราก็ไม่ควรไปแสดงท่าทางว่าไปเพราะจำเป็นต้องไปหรือเป็นการเสียเวลา หากมองในแง่ดีก็คือ การได้พาท่านไปไหนมาไหนนั้น เป็นการที่เราได้ใช้เวลาร่วมกับท่าน ทำให้ท่านไม่รู้สึกเหงาหรือถูกทอดทิ้ง ให้ท่านรู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจว่ามีลูกหลานคอยดูแล

 

แหล่งสนับสนุนทางสังคมที่สำคัญต่อผู้สูงวัยอีกแหล่งหนึ่งคือ เพื่อน กลุ่มเพื่อนที่ผู้สูงวัยคบหา อาจเป็นในรูปแบบของชมรมหรือสมาคม ผู้ซึ่งแชร์ความสนใจ ร่วมกัน หรือมีกิจกรรมที่สนใจทำร่วมกัน เช่น การไปวัด ทำบุญ การปลูกผักปลูกต้นไม้ การทำงานฝีมือ หรือการ นัดพบปะพูดคุย รับประทานอาหารร่วมกันฉันเพื่อน จะเห็นได้ว่าผู้สูงวัยก็มีความต้องการมีความสัมพันธ์ทางสังคมไม่ต่างจากคนวัยหนุ่มสาว ต่างกันตรงที่ว่าผู้สูงวัยเน้นรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่ให้มั่นคง แน่นแฟ้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในขณะที่คนหนุ่มสาวมักมองหาเพื่อนหรือกลุ่มสังคมใหม่ ๆ ขยายกลุ่มสังคม เพื่อเพิ่ม โอกาสทางการทำงานหรือทางธุรกิจ

 

ทุกวันนี้เราใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสาร ระหว่างกัน หากผู้สูงวัยต้องการติดต่อพูดคุยกับเพื่อนหรือกลุ่มเพื่อนผ่านทางไลน์ หรือเฟซบุค ซึ่งต้องพึ่งพาอุปกรณ์สื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ผู้เป็นลูกหลานก็มีหน้าที่สนับสนุนท่าน โดยการสอนการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ท่าน ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าท่านอาจจะเรียนรู้ได้ไม่รวดเร็วทันใจ เพราะท่านไม่ได้เติบโตมากับเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ถ้าสอนท่านอย่างใจเย็น ท่านก็จะสามารถเรียนรู้ ได้ไม่ยาก

 

ผู้สูงวัยไม่อยากเป็นภาระของลูกหลานหรือของสังคม ในทางกลับกันท่านอยากรู้สึกว่า แม้จะอายุมากแล้ว แต่ก็ยังมีคุณค่ามีประโยชน์ต่อลูกหลานและสังคม ความสุขของท่านจะเกิดขึ้นได้ ก็เมื่อลูกหลาน หรือคนในสังคมเห็นคุณค่าของท่าน

 

สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมอายุที่เพิ่มขึ้น ก็คือ ประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ความสูงวัยไม่ทำให้ทักษะหรือความเชี่ยวชาญหายไป โดยเฉพาะกับผู้สูงวัยที่ยังมีสุขภาพในเกณฑ์ที่ดี ดังนั้นผู้สูงวัยจึงเป็นแหล่งความรู้ชั้นเลิศใน ครอบครัว ลูกหลานบางคนลืมในจุดนี้ไป เพราะคิดเพียงว่าความชราวัยทำให้คนเสื่อมลง แย่ลง หากเป็นเรื่องการคิดคำนวณ เรื่องการเรียนรู้ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ท่านไม่เคยรู้จักมาก่อน ผู้สูงวัยคงคิดได้และเรียนรู้ได้ช้ากว่าคนวัยหนุ่มสาว แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ท่านมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ความรู้ความสามารถของท่านอาจช่วยเราได้มาก

 

 

ผู้สูงวัยมักสุขใจที่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ หากวันใดที่เรามีปัญหาในชีวิต รู้สึกเครียด ตีบตัน หาทางออกไม่เจอ ลองเข้าไปคุยกับผู้สูงวัยดู บางทีเราอาจจะได้ข้อคิดอะไรดี ๆ กลับไปปรับใช้และช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ ผู้สูงวัยใช้ชีวิตมานาน ผ่านประสบการณ์ทุกข์สุขมามากมาย ท่านจึงมักเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดการกับปัญหาที่ทำให้เรื่องเครียดกลายเป็นเรื่องง่ายได้ บางทีเวลาที่เราเผชิญกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว การงาน การเงิน หรือความรัก เรามักรู้สึกว่าเราเผชิญกับปัญหาเรื่องนี้คนเดียว ไม่มีใครเข้าใจ และคงไม่มีใครเคยเจอเรื่องแบบนี้ แท้จริงแล้ว ผู้สูงวัยท่านเคยผ่านเรื่องเหล่านี้ มาแล้ว บางทีท่านเจอปัญหาที่หนักหนายิ่งกว่าเราเสียด้วยซ้ำ หากเรานึกไปถึงยุคที่ผู้สูงวัยเติบโตมา ซึ่งเป็นยุคฟื้นฟูภายหลังจากสงคราม เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และเทคโนโลยี เครื่องทุ่นแรงและเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ยังไม่มีถึงพร้อมเท่าในยุคปัจจุบันนี้ ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวมาจากศูนย์ ผ่านความลำบากมามากกว่าเรากว่าจะมาถึงวันนี้ ดังนั้น ปัญหาที่เราเจออาจเทียบไม่ได้เลยกับที่ผู้สูงวัยได้เคยประสบมา ผู้สูงวัยจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีภูมิปัญญา เป็นปราชญ์ประจำท้องถิ่น ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องปัญหาชีวิตเท่านั้นที่ผู้สูงวัยอาจช่วยเราได้ แต่ผู้สูงวัยยังมีความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวของท่านที่เราไม่ควรละเลยที่จะขอความรู้ และคำแนะนำจากท่าน

 

อาหารบางอย่างที่ผู้สูงวัยในบ้านของเราทำให้รับประทาน บางทีเป็นสูตรพิเศษที่หาที่ไหนไม่ได้ เราลูกหลานควรเข้าไปช่วยท่านในครัวบ้าง จะได้มีเคล็ดลับในครัวติดตัวไปใช้ ผู้สูงวัยบางท่าน ปลูกผักปลูกต้นไม้อะไรก็ให้ดอกผลงดงาม เรื่องความรู้เช่นนี้ หากเราไม่ไปขอเรียนรู้จากท่าน ต่อไปเราอาจจะนึกเสียดายภายหลัง หากท่านมีอายุมากจนไม่อาจสอนเราได้

 

จะเห็นได้ว่าความสุขของผู้สูงวัย เริ่มมาจากการที่ท่านได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ ได้รับรู้ว่าท่านมีคุณประโยชน์ต่อลูกหลาน หรือต่อชุมชนและสังคม ท่านมีความรู้มีประสบการณ์ และภูมิปัญญาที่พร้อมจะมอบให้ ขอเพียงเราเข้าไปพูดคุยกับท่านให้มาก ๆ

 

 

อิริคสัน นักจิตวิทยาพัฒนาการชื่อดัง ได้กล่าวไว้ว่ามนุษย์เราในวัยกลางคน ซึ่งเป็นวัยที่มีหน้าที่การงานในระดับหัวหน้างาน มีลูกในวัยเรียน หรือลูกในวัยที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ มักจะเริ่มมีความคิดที่จะถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ที่ตนมีให้แก่คนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นลูกน้องที่ทำงาน หรือลูกหลานในครอบครัว เพราะการถ่ายทอดความรู้ ถือเป็นการฝากรอยประทับประจำตนไว้ให้กับสังคม เหมือนว่าเรามีเคล็ดลับอะไรที่ดี ๆ ก็ไม่อยากเก็บไว้คนเดียว ต้องบอกต่อ

 

อายุที่เพิ่มขึ้น เป็นเหมือนนาฬิกาที่คอยเตือนคนวัยกลางคนและผู้สูงวัยว่า เวลาในชีวิตของเรานั้นเหลืออีกไม่มาก หากมีสิ่งใดที่จะฝากไว้ให้เป็นประโยชน์แด่คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ก็ควรทำ เพราะตามแนวคิดของอิริคสัน เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นจนถึงจุดที่เป็นบั้นปลายของชีวิต คนเรามักจะทบทวนและประเมินชีวิตโดยภาพรวมของตนเอง หากเราได้เคยฝากรอยประทับดี ๆ ไว้ให้กับครอบครัว ผู้ร่วมงานและสังคมแล้ว เราก็จะรู้สึกอิ่มใจที่ชีวิตนี้ได้ทำประโยชน์ และได้ส่งต่อความรู้และประสบการณ์ของตนให้แก่คนรุ่นต่อไป หากต้องลาโลกนี้ไปก็คงไม่เสียดายอะไร การได้ถ่ายทอดความรู้ ได้สั่งสอน ได้ให้คำแนะนำแก่ลูกน้อง ลูกหลาน จึงเป็นแหล่งความสุขของผู้สูงวัย เราเองผู้ที่เป็นลูกหลานหรือเป็นคนในสังคม ควรน้อมรับคำสั่งสอน คำตักเตือน และการถ่ายทอดความรู้ ด้วยความเข้าใจและเต็มใจ แน่นอนว่า บางครั้งเราอาจจะคิดว่าคำสอนของ ผู้สูงวัยนั้น เชยและล้าสมัย และคำพูดของผู้สูงวัยบางเรื่องไม่ตรงกับความคิดของเรา แต่เพื่อให้การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น และเป็นการถนอมน้ำใจของผู้สูงวัย ขอให้คิดเสมอว่าท่านสั่งสอนเราด้วยความหวังดี รับฟังผู้ใหญ่เอาไว้ก็ไม่เสียหาย และในบางเรื่องที่เราคิดค้านคำสอนของผู้สูงวัย แต่พอนานไปก็กลับพบว่า ที่ท่านตักเตือนไว้ก็มักเป็นจริง ผู้สูงวัยเป็นผู้มีประสบการณ์ชีวิตมากกว่าเรา จึงมักจะมองเห็นภาพที่กว้างกว่า และเกินกว่าที่เราเองจะคาดคิดได้ ดังนั้น เพื่อความสุขของผู้สูงวัย ขอให้คุณผู้ฟังเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ในบ้านได้ถ่ายทอดความรู้ คำสั่งสอน หรือคำตักเตือน และเปิดใจรับฟังท่าน

 

 

การกระทำที่หลายคนอาจไม่ทันคาดคิดว่า ความหวังดีของลูกหลาน ที่มีต่อผู้สูงวัยในบ้าน จะกลับกลายเป็นทำให้ท่านรู้สึกเสียใจไปได้ ยกตัวอย่างเช่น คุณยายท่านหนึ่งอายุเจ็ดสิบกว่าปีแล้ว แต่ยังเดินไปไหนมาไหนได้อย่างคล่องแคล่ว คุณยายอาศัยอยู่ ในบ้านหลังนี้ ที่ตนเองกับสามีที่เสียชีวิตไปแล้วได้ ร่วมกันทำงานหาเงิน เก็บเงินซื้อบ้านหลังนี้ ลูก ๆ ของคุณยายทุกคนเติบโตที่บ้านหลังนี้ บ้านหลังนี้จึงไม่ใช่เป็นแค่บ้านหลังหนึ่งของคุณยาย แต่เป็นที่พักพิงทางใจ ที่เต็มไปด้วยความทรงจำในชีวิตของคุณยายและครอบครัว

 

เมื่อลูก ๆ เป็นผู้ใหญ่ ก็ต่างแยกย้ายกันออกไป แต่งงานมีครอบครัวเป็นของตนเอง และด้วยหน้าที่การงานที่อยู่ไกลออกไปจากบ้านหลังนี้ จึงทำให้ลูก ๆ ไม่สามารถอยู่บ้านหลังนี้ได้ จึงไป ๆ มา ๆ ไม่ค่อยมีเวลาได้อยู่ร่วมกับคุณยายมากนัก ด้วยความเป็นห่วง ไม่อยากให้คุณยายอยู่บ้าน คนเดียวลูกสาวคนโตจึงคุยกับน้องชายว่า จะร่วมกันลงขันให้คุณยายย้ายไปอยู่ในหมู่บ้านสำหรับผู้สูงวัย ที่มีทีมแพทย์และพยาบาลคอยดูแลหากมีเหตุฉุกเฉิน หมู่บ้านแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยระดับเกรดเอ ราคาค่าที่พักต่อเดือนก็เป็นจำนวนเงิน หลายหมื่นบาท แต่ลูกชายและลูกสาวเห็นว่าเพื่อแม่ จึงยินดีจ่ายเพื่อสิ่งที่ดีสุดสำหรับคุณแม่ของตน และอีกอย่างหมู่บ้านนี้ก็อยู่ในแหล่งที่ลูก ๆ สามารถ เดินทางไปหาแม่ได้โดยง่าย

 

จากเหตุการณ์สมมตินี้ ก็ดูเหมือนน่าจะดี ลูกไม่อยากให้แม่อยู่คนเดียว ก็พาแม่ไปอยู่หมู่บ้านใหม่ จะได้มีเพื่อนรุ่นเดียวกันเยอะ ๆ แต่จริง ๆ แล้วจะเห็นว่ามีข้อผิดพลาดอยู่ข้อเดียว คือ ลูก ๆ เลือกทางเลือกที่เชื่อว่าดีที่สุดให้แม่ แต่ไม่เคยถามแม่ซักคำว่าท่านต้องการอะไร ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่เราลูกหลานอาจละเลยและคาดไม่ถึง

 

ผู้สูงวัยบางท่านเห็นดีด้วย และเต็มใจที่จะย้าย เพราะเห็นว่ามีสังคมเพื่อน ก็ดีกว่าอยู่คนเดียว แถมอยู่ ใกล้หมออีกด้วย ผู้สูงวัยบางท่านยอมจำใจย้ายออกไป เพราะเห็นแก่ลูก ทั้ง ๆ ที่ตนเองรู้ว่าจะมีความสุขมากกว่า หากได้อยู่บ้านหลังเดิมของตน ผู้สูงวัยบางท่านย้ายไปแล้วสุขภาพแข็งแรงมี ความสุขดี บางท่านย้ายไปแล้วสุขภาพทรุดโทรมกว่าตอนที่อยู่บ้านหลังเดิมของตน

 

ไม่ว่าท่านจะต้องการใช้ชีวิตบั้นปลายของท่านอย่างไร ขอให้ท่านได้เลือกด้วยตัวท่านเอง เหล่าลูกหลานมีหน้าที่เป็นกำลังสนับสนุน แต่ไม่ใช่ผู้ชี้นำชีวิตท่าน

 

วิธีที่ดีที่สุด และเรียบง่ายที่สุด ก็คือการเข้าไปถามท่าน คุยกับท่านตรง ๆ ว่าเรามีความห่วงใย ไม่อยากให้ท่านอยู่บ้านคนเดียว และนำทางเลือกหลาย ๆ ทางไปนำเสนอให้ท่านลองเลือกดู หากท่านเลือกที่จะอยู่บ้านท่าน เราก็ต้อง ยอมรับการตัดสินใจของท่าน แล้วก็ค่อยมาคิดกันต่อว่าจะดูแลท่านอย่างไรต่อไป

 

หลักสำคัญก็คือไม่ควรทึกทักว่า เราได้เลือกทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงวัยในบ้าน หากท่านเป็นผู้สูงวัยที่ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ให้ท่านเลือกเองจึงจะดีที่สุด เพราะชีวิตเรา เราก็คงอยากกำหนดเองเช่นกัน

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content