ด้วยความรักและความหวังดีของพ่อแม่ เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนพยายามเสาะแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นเสริมพัฒนาการ อาหารการกินดี ๆ ที่ถูกสุขอนามัย ไปจนถึงคลาสเรียนเสริมความรู้ทางวิชาการ และทักษะอื่น ๆ เพื่อปูทางให้ลูก ๆ เติบโตอย่างแข็งแรง สมวัย มีความสุข และประสบความสำเร็จในชีวิต แต่มีอีกหนึ่งทักษะสำคัญของชีวิตที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนยังมองข้ามไป และไม่ได้เสริมสร้างทักษะให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก นั่นคือ การจัดการงานบ้าน นั่นเอง
การจัดการงานบ้าน หมายถึง กิจวัตรที่ต้องจัดการ เพื่อให้บ้านและสิ่งของเครื่องใช้มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมต่อการใช้งานอยู่เสมอ เช่น การล้างจาน ซักผ้ารีดผ้า ล้างห้องน้ำ ปัดกวาดเช็ดถู และอีกมากมายหลายอย่าง ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ยุ่งยากและน่าเบื่อหน่าย แต่เป็นทักษะสำคัญของชีวิตที่ควรให้เด็ก ๆ เรียนรู้ และฝึกฝน
บทความนี้ สรุป 5 ประโยชน์ของการฝึกลูก ๆ จัดการงานบ้านและแนวทางเบื้องต้น มาให้ค่ะ
ประโยชน์ 5 ข้อ ของการฝึกลูก ๆ จัดการงานบ้าน
1. ฝึกความรับผิดชอบ
เมื่อเด็ก ๆ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานบ้านบางอย่าง เด็ก ๆ จะได้ฝึกรับผิดชอบหน้าที่ หรือรับผิดชอบสิ่งของที่เป็นของตัวเอง โดยคุณพ่อคุณแม่อาจมอบหมายให้เด็ก ๆ ได้จัดการจานอาหารของตัวเองหลังกินเสร็จ เช่น โกยเศษอาหารลงถังขยะ และนำจานไปไว้ในอ่าง หรือ เมื่อลูกทำน้ำหกบนพื้น คุณพ่อคุณแม่ควรชวนให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเช็ดน้ำที่หกด้วยตัวเอง การทำแบบนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบการกระทำของตัวเองด้วย
2. พัฒนาทักษะการจัดการงานบ้าน และการพึ่งพาตนเอง
ผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจดีว่าการจัดการงานบ้านซักผ้า รีดผ้า ทำกับข้าว ล้างจาน เก็บของ ล้างห้องน้ำ เช็ดห้องถูห้อง ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยทักษะความชำนาญ และการจัดระบบระเบียบชีวิตที่ดี เพื่อให้สามารถดูแลจัดการทั้งงานในบ้าน และงานนอกบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทักษะการจัดการเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันได้ในชั่วเวลาข้ามคืน หากแต่อาศัยการฝึกฝน และลองผิดลองถูกหลายครั้ง จนเกิดเป็นกิจวัตร และความเข้าที่เข้าทางมากขึ้นเรื่อย ๆ
การฝึกให้เด็กได้ค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะจัดการดูแลชีวิต และสิ่งของเครื่องใช้ของตัวเองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จะช่วยให้เด็ก ๆ พัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถจัดการดูแล รับผิดชอบกิจวัตรของตัวเองได้โดยไม่รู้สึกว่าชีวิตยุ่งเหยิงจนเกินเยียวยา คุณพ่อคุณแม่อาจทำตารางเวลาบอกสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันติดไว้ในที่ ๆ เด็กสามารถเห็นได้ชัดเจน และให้เด็กทำสัญลักษณ์เมื่อช่วยกันทำงานนั้นได้เสร็จ เพื่อเป็นจุดที่บอกว่าทำได้แล้วนะ ทำเสร็จแล้วนะ เป็นต้น
ตารางเวลาในการทำงานบ้านนี้อาจไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน อาจมีการปรับให้ตรงกับความสะดวกและเป็นไปได้ของแต่ละครอบครัว แต่ควรมีการจัดสรรเวลาที่ชัดเจน เช่น ทุกเช้าวันอาทิตย์ 8 ถึง 9 โมง เราจะมาจัดการงานบ้านกัน เป็นต้น การกำหนดกิจวัตรที่สม่ำเสมอจะช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้ และเกิดพฤติกรรมใหม่ ๆ ได้ดีกว่าการไม่มีกิจวัตรที่ชัดเจน
3. ส่งเสริมพัฒนาการทางการรู้คิด และสติปัญญา
การศึกษาพบว่าเด็ก ๆ ที่ช่วยจัดการงานบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรับผิดชอบในส่วนของตัวเอง เช่น จัดที่นอน หรือดูแลรับผิดชอบงานส่วนรวม เช่น ล้างจานหลังมื้ออาหาร มีแนวโน้มจะมีความจำปฏิบัติการ (working memory) และการยับยั้งพฤติกรรม (inhibitory control) ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรม หรือ Executive Function (EF) ที่ดีกว่า ทั้งนี้เพราะการจัดการงานบ้านอย่างหนึ่ง ให้สำเร็จลุล่วง ประกอบไปด้วยขั้นตอนย่อย ๆ หลายขั้นตอนที่ต้องมีการทำเป็นลำดับต่อเนื่องกัน อีกทั้งเด็ก ๆ ยังต้องยับยั้งความต้องการไปทำอย่างอื่น เพื่อจัดการงานบ้านให้เสร็จก่อนด้วย เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกทักษะ EF ที่ดีอีกกิจกรรมหนึ่ง
4. ส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อ และการทำงานประสานกันระหว่างมือกับตา
การทำงานบ้านถือเป็นกิจกรรมที่ต้องมีการขยับกล้ามเนื้อ และประสานการทำงานระหว่างกล้ามเนื้อมือกับตา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทักษะอะไรก็ตามเมื่อยิ่งได้ใช้ ได้ฝึกฝน ก็จะยิ่งแข็งแรงขึ้น และทำได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การพับผ้า ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อทั้งแขน มือ และนิ้ว เพื่อจับและควบคุมผ้าให้ทบกัน รวมถึงสายตาก็ต้องเล็งดูขอบผ้า เพื่อให้ชายผ้าทบตรงกัน ผู้ใหญ่อาจคิดว่าการพับผ้าเป็นงานที่ง่ายมาก ไม่มีความซับซ้อนอะไร แต่สำหรับเด็กวัยอนุบาลไปจนถึงวัยประถม การพับผ้าชนิดต่าง ๆ ก็ถือเป็นกิจกรรมที่ท้าทายต่อพัฒนาการ เหมาะสำหรับใช้ฝึกกล้ามเนื้อ และการทำงานประสานกันระหว่างมือกับตาได้ดีเหมือนกัน
5. เสริมสร้างคุณภาพชีวิต และสุขภาวะทางใจที่แข็งแรง
การสามารถจัดการงานบ้านได้สำเร็จลุล่วง และทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ก็คล้ายกับการประสบความสำเร็จในกิจกรรมอื่น ๆ ที่มักก่อให้เกิดการรับรู้ถึงความสามารถของตนเอง ว่าฉันก็ทำได้ เกิดเป็นจังหวะเล็ก ๆ ที่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง จากการศึกษาระยะยาวพบว่า การให้เด็กช่วยทำงานบ้านตั้งแต่เล็ก มีความสัมพันธ์กับการรับรู้ถึงความสามารถของตนเอง มีความพึงพอใจในชีวิต และพฤติกรรมเอื้อสังคมที่สูงกว่า รวมถึงมีความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ที่ดีกว่าเมื่อโตขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการที่เราสามารถจัดระเบียบชีวิต และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี ยังเป็นทักษะที่ช่วยส่งเสริมการเข้าสังคม และส่งเสริมบุคลิกภาพให้ดูดีอีกด้วย
เห็นได้ว่าการฝึกให้ลูกมีส่วนร่วมในการจัดการงานบ้านมีประโยชน์มากมายหลายด้านต่อพัฒนาการที่ดีของลูกตลอดช่วงชีวิต จึงเป็นกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม แต่ควรจัดสรรเวลา และหาโอกาสเพื่อให้ลูกได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะในการจัดการงานบ้านตามระดับพัฒนาการของลูก โดยสามารถเริ่มให้ลูกช่วยทำได้ตั้งแต่ช่วงประมาณก่อน 2 ขวบ ซึ่งตามพัฒนาการของเด็กเล็กส่วนใหญ่นั้นจะมีความอยากช่วยหยิบช่วยทำอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มจากงานง่าย ๆ อย่างเช่นการช่วยกันเก็บของเล่นเข้าตะกร้า การให้ลูกช่วยเอาผ้าใส่ตะกร้า ไปจนถึงการช่วยกันแยกสีของเสื้อผ้าเพื่อเตรียมซัก และสามารถปรับเปลี่ยน เพิ่มงาน เพิ่มระดับความซับซ้อนขึ้นตามพัฒนาการของลูก อย่างไรก็ตามถึงแม้จะให้ลูกช่วยทำงานบ้านเพื่อฝึกพัฒนาการ คุณพ่อคุณแม่ก็ยังไม่ควรมุ่งหวังไปที่ความสมบูรณ์แบบจากสิ่งที่ลูกกำลังหัดทำ แต่สิ่งที่ควรตั้งเป้าหมายคือการที่ลูกสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ผ่านการฝึกทำซ้ำ จนเคยชินเป็นลักษณะนิสัย และทักษะที่ดีติดตัวลูกไปตลอดชีวิต
รายการอ้างอิง
Rende, R. (2015). The developmental significance of chores: Then and now. The Brown University Child and Adolescent Behavior Letter, 31(1), 1-7. https://doi.org/10.1002/cbl.30009
Rende, R. (2021). Chores: Why they still matter and how to engage youth. The Brown University Child and Adolescent Behavior Letter, 37(6), 1-4. https://doi.org/10.1002/cbl.30545
Tepper, D. L., Howell, T. J., & Bennett, P. C. (2022). Executive functions and household chores: Does engagement in chores predict children’s cognition? Australian Occupational Therapy Journal, 69(5), 585– 598. https://doi.org/10.1111/1440-1630.12822
White, E. M., DeBoer, M. D., & Scharf, R. J. (2019). Associations between household chores and childhood self-competency. Journal of Developmental & Behavioral Pediatrics, 40(3), 176-182. https://doi.org/10.1097/DBP.0000000000000637
ภาพจาก Canva
บทความโดย
อาจารย์พิมพ์จุฑา นิมมาภิรัตน์
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย