ความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถ – Imposter phenomenon

06 Mar 2024

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

งานวิจัยในต่างประเทศบางงานเลือกใช้คำว่า “Imposter Syndrome” ซึ่งเป็นคำศัพท์ทางจิตวิทยาคลินิก ที่มักใช้ในการศึกษากลุ่มตัวอย่างในเชิงคลินิก

 

สำหรับในบริบททั่วไป ความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถ (Imposter phenomenon) หมายถึง ภาวะที่ทำให้บุคคลคิดว่าตนเองนั้นด้อยประสิทธิภาพหรือด้อยความสามารถ ไม่คู่ควรกับความสำเร็จที่ได้รับมา เนื่องจากคิดว่าความสำเร็จนั้นเกิดจากปัจจัยภายนอกที่ไม่ใช่จากความสามารถของตนเอง เช่น โชค หรือความผิดพลาดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงกลัวว่าจะถูกผู้อื่นค้นพบว่าตนเองเป็นคนหลอกลวง ถึงแม้ว่าตนเองจะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีประสิทธิภาพหรือมีความสามารถอย่างแท้จริงก็ตาม

 

นักจิตวิทยาระบุว่า ความคิดว่าตนเองด้อยความสามารเป็นการรับรู้ทางปัญญาและอารมณ์ว่าตนเองนั้นเป็นคนหลอกลวง ทำให้บุคคลกังวลเรื่องคุณค่าและภาพลักษณ์ทางสังคมของตนเอง และหมายรวมถึงพฤติกรรมทางสังคมที่บุคคลกระทำเพื่อปกปิดจุดด้อยของตนเองเมื่อต้องเข้าสังคมหรือปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

 

ความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถมักถูกเข้าใจผิดกับการอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility) ของวัฒนธรรมเอเชีย ซึ่งแท้จริงแล้วแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การอ่อนน้อมถ่อมตนคือการประเมินความสามารถตนเองของบุคคลอย่างตรงไหนตรงมาตามสภาพความเป็นจริง ส่วนความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถคือปรากฏการณ์ด้านกระบวนการรู้คิดที่ทำให้บุคคลประเมินความสามารถตนเองต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง กล่าวได้ว่าบุคคลที่มีความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถเป็นบุคคลที่มีความมั่นใจต่ำเกินไป (Under confidence) ได้ เพียงแต่มีความซับซ้อนกว่า

 

 

Clance (1985) อธิบายว่าบุคคลที่มีความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถจะมีอย่างน้อย 2 คุณลักษณะ จากทั้งหมด 6 คุณลักษณะ ดังต่อไปนี้

 

 

1. การมีวงจรความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถ (Imposter cycle)

 

คุณลักษณะนี้เป็นคุณลักษณะที่เด่นที่สุด วรจรนี้เริ่มขึ้นเมื่อบุคคลได้รับมอบหมายงานบางอย่าง หลังจากได้รับมอบหมายบุคคลจะเกิดความวิตกกังวลว่าตนเองจะไม่สามารถทำงานดังกล่าวออกมาได้ดีพอ จึงแสดงออกด้วยการทำงานหนักจนเกินไป หรือผัดวันประกันพรุ่งนี้ก่อนจะเริ่มทำงานหนักในช่วงใกล้เส้นตาย ซึ่งไม่ว่าบุคคลจะแสดงออกในรูปแบบใด บุคคลจะสูญเสียสมดุลของลำดับความสำคัญของสิ่งอื่น ๆ ในชีวิต และเมื่อดำเนินงานดังกล่าวเสร็จสิ้น บุคคลจะเกิดความรู้สึกโล่งใจ ทว่าหากได้รับคำชมเชย บุคคลจะลดทอนคุณค่าคำชมเชยนั้น เนื่องจากไม่คิดว่าความสำเร็จเกิดขึ้นจากความสามารถของตนเอง หากแต่เป็นความพยายามอย่างหนักหรือโชคช่วย กระคุ้นให้ความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถรุ่นแรงขึ้น และเมื่อได้รับมอบหมายงานถัดไป วงจรนี้ก็จะเริ่มขึ้นอีกครั้ง แม้บุคคลจะรู้แก่ใจแต่ก็ยากที่จะหลุดพ้นจากวงจรนี้ไปได้

 

2. การต้องการเป็นคนพิเศษหรือคนที่ดีที่สุด (The need to be special or the best)

 

บุคคลที่มีความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถจะต้องการอยู่ในจุดที่สูงที่สุด หากเขาพบว่าตนเองไม่ได้เป็นคนที่ดีที่สุดหรือเก่งที่สุด และมีบุคคลอื่นที่ดีหรือเก่งกว่าพวกเขา พวกเขาจะคิดว่าตนเองนั้นไร้ความสามารถหรือไร้ประสิทธิภาพ แม้จะมีความสามารถอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ก็ตาม Clance (1985) อธิบายว่าคุณลักษณะนี้จะเห็นได้ชัดเจนเมื่อบุคคลก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เนื่องจากพวกเขาจะต้องพบเจอคนมากมายกว่าตอนอยู่ในโรงเรียนมัธยม

 

3. การมีมุมมองแบบยอดมนุษย์ (Superhuman aspects)

 

คุณลักษณะนี้จะสัมพันธ์กับคุณลักษณะการต้องการเป็นคนพิเศษหรือคนที่ดีที่สุด ผู้ประสบกับภาวะนี้จะมีแนวโน้มเป็นผู้รับความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) พวกเขาต้องการให้ทุกอย่างที่พวกเขาทำออกมาไร้ที่ติและไม่มีข้อบกพร่อง พวกเขาตั้งมาตรฐานไว้สูง และมักผิดหวังจากการไม่สามารถทำตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม บุคคลที่เป็นผู้รับความสมบูรณ์แบบหรือมีลักษณะบุคลิกภาพแบบต้องการความสมบูรณ์แบบสูง ไม่จำเป็นต้องมีความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถเสมอไป

 

4. การกลัวความล้มเหลว (Fear of failure)

 

บุคคลที่ประสบกับภาวะนี้จะรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมากหากได้รับมอบหมายให้ทำงานบางอย่าง เนื่องจากพวกเขากลัวความล้มเหลวที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับพวกเขาการทำผิดพลาดและไม่สามารถดำเนินงานได้ตามมาตรฐานสูงสุดที่ตนเองวางไว้จะทำให้เกิดความรู้สึกอับอาย ดังนั้นบุคคลที่ประสบกับภาวะนี้จึงมักทำงานอย่างหลักเพื่อลดโอกาสเกิดความล้มเหลวให้มากที่สุด

 

5. การปฏิเสธความสามารถของตนเองและลดทอนคุณค่าคำชมเชย (Denial of competence and discounting praise)

 

บุคคลมักจะคิดว่าความสำเร็จของพวกเขาเกิดจากปัจจัยภายนอก นอกจากนี้พวกเขายังลดทอนคุณค่าคำชมเชยหรือข้อเสนอแนะทางบวก เนื่องจากพวกเขาคิดว่าตนเองไม่ควรค่าที่จะได้รับคำชมเชยนั้น

 

6. การรู้สึกผิดต่อความสำเร็จ (Git about success)

 

การรู้สึกผิดต่อความสำเร็จนี้เกี่ยวข้องกับผลที่ตามมาของความสำเร็จนั้น ๆ เช่น พวกเขามักจะรู้สึกห่างเหินจากเพื่อนหรือครอบครัวของพวกเขาเมื่อได้รับความสำเร็จ พวกเขากลัวที่จะถูกคนรอบข้างปฏิเสธ จึงรู้สึกผิดกับการเป็นคนที่แตกต่าง นอกจากนี้พวกเขายังกลัวว่าความสำเร็จจะทำให้คนรอบข้างคาดหวังพวกเขาในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

 

 


 

ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง

“ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถของนักศึกษาระดับปริญญาตรี” โดย เมธาวี สารกอง (2565) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/82279

 

 

Share this content