“ความเป็นปัจเจกนิยม” หมายถึง แนวคิดที่บุคคลให้ความสำคัญกับเป้าหมายของตัวเองมากกว่าเป้าหมายของกลุ่ม บุคคลมีความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ให้ความสำคัญกับเจตคติ ความคิดและความรู้สึกของตัวเอง
ส่วน “ความเป็นคติรวมหมู่” หมายถึง แนวคิดที่บุคคลให้ความสำคัญกับเป้าหมายของกลุ่มมากกว่าเป้าหมายของตัวเอง บุคคลจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่ม และประพฤติตนสอดคล้องกับบรรทัดฐานที่กลุ่มกำหนดไว้
ตัวอย่างความเป็นปัจเจกนิยมและคติรวมหมู่
เช่น ในประเทศญี่ปุ่น หัวหน้าจะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของลูกน้องเป็นอย่างดี และสนับสนุนให้ลูกน้องพบกับผู้หญิงที่เหมาะสมเพื่อเป็นคู่ชีวิต เนื่องจากหัวหน้ามีหน้าที่เหมือนเป็นพ่อของลูกน้อง ต้องคอยให้ความช่วยเหลือลูกน้อง แต่ในประเทศอังกฤษ ลูกน้องคนหนึ่งกลับไม่ยอมบอกหัวหน้าว่าพ่อของเขาเพิ่งเสียชีวิต เพราะมีความเป็นปัจเจกนิยมที่เข้มข้นและการเสียชีวิตของพ่อนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ควรไปบอกผู้อื่น
อย่างไรก็ดี ในทุกวัฒนธรรมจะมีบุคคลทั้งที่เป็นแบบปัจเจกนิยมและคติรวมหมู่ เนื่องจากบุคคลมีส่วนของปัญญาที่เป็นแนวคิดแบบปัจเจกนิยมและคติรวมหมู่อยู่ในคนเดียวกัน เพียงแต่มีระดับของทั้ง 2 แนวคิด มากน้อยแตกต่างกัน
หากบุคคลนั้นมีส่วนของปัญญาที่เป็นแบบปัจเจกนิยมมากกว่า บุคคลนั้นก็จะมีความเชื่อ ความรู้สึก และพฤติกรรมแบบปัจเจกนิยม แต่ถ้าหากบุคคลนั้นมีส่วนของปัญญาที่เป็นแบบคติรวมหมู่มากกว่า บุคคลนั้นก็จะมีความเชื่อความรู้สึกและพฤติกรรมแบบคติรวมหมู่
ทั้งนี้ ความเป็นปัจเจกนิยม-คติรวมหมู่ สามารถแจกแจงได้เป็น 4 มิติ แต่ละมิติมีความเป็นอิสระจากกันและแยกวัดในแต่ละมิติได้ ดังนี้
1. ตัวตน
ตัวตนของแนวคิดแบบปัจเจกนิยมจะเป็นตัวตนที่เป็นอิสระ ซึ่งให้ความสำคัญกับความต้องการ ความรู้สึก และการกระทำของตนเอง มากกว่าความต้องการ ความรู้สึก และการกระทำของผู้อื่น ประพฤติตนโดยยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ส่วนตัวตนของแนวคิดแบบคติรวมหมู่จะเป็นตัวตนที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ซึ่งเป็นตัวตนที่มองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ในสังคม ไม่สามารถแยกออกมาเป็นตัวตนแบบเดี่ยว ๆ ได้ บุคคลจะมีแรงจูงในการหาทางอยู่ร่วมกับบุคคลในความสัมพันธ์แบบต่างๆ อย่างเหมาะสม เช่นการสร้างและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ
2. เป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายส่วนรวม
ส่วนใหญ่แล้ว เป้าหมายทั้ง 2 แบบของบุคคลที่เป็นคติรวมหมู่จะมีความสอดคล้องกัน ดังนั้นบุคคลที่เป็นคติรวมหมู่จึงให้ความสำคัญกับเป้าหมายของส่วนรวม แต่เป้าหมายทั้ง 2 ของบุคคลที่เป็นปัจเจกนิยมอาจไม่มีความสอดคล้องกัน บุคคลที่เป็นปัจเจกนิยมจึงเลือกที่จะใช้ความสำคัญกับเป้าหมายส่วนตัวมากกว่าเป้าหมายส่วนรวม
3. การให้ความสำคัญของปัญญา
การให้ความสำคัญของปัญญาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรมทางสังคม วัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมให้ความสำคัญกับเจตคติ ความต้องการส่วนบุคคล สิทธิ และสัญญา ส่วนวัฒนธรรมแบบคตินิยมรวมหมู่จะให้ความสำคัญกับบรรทัดฐาน กฎเกณฑ์ และหน้าที่ต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย
4. ความสัมพันธ์
วัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมจะให้ความสำคัญกับเหตุผล ข้อดี ข้อเสีย ในการรักษาความสัมพันธ์กับคนคนหนึ่ง ส่วนในวัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่จะพยายามรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไว้ แม้ว่าจะทำให้เกิดผลเสียก็ตาม
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเป็นปัจเจกนิยม-คติรวมหมู่ของบุคคล
ได้แก่
- อายุ เมื่อมีอายุมากขึ้น จะมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ มากขึ้นจึงมีความเป็นคติรวมหมู่มากขึ้น
- สถานภาพทางสังคม บุคคลที่มีสถานภาพทางสังคมสูงค่อนข้างจะมีความแป็นปัจเจกนิยมมากกว่า
- รูปแบบการเลี้ยงดู หากเลี้ยงดูเด็กแบบยอมรับและให้อิสระ ส่งผลให้เด็กมีความมั่นใจในตนเองและมีความเป็นปัจเจกนิยมสูง หากเลี้ยงดูแบบยอมรับและพึ่งพากันและกัน ส่วนผลให้เด็กชอบคล้อยตามผู้อื่นและมีความเป็นคติรวมหมู่สูง
- การท่องเที่ยวและการไปอยู่ต่างประเทศ เมื่อบุคคลไปใช้ชีวิตในต่างแดน ทำให้บุคคลต้องตัดสินใจเดี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ด้วยตนเอง การได้เห็นมุมมองและได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ล้วนนำไปสู่ความเป็นปัจเจกนิยม แต่บางครั้งหากบุคคลต้องไปอยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่ก็มีโอกาสเพิ่มระดับความเป็นคติรวมหมู่ของบุคคลได้
- การศึกษา การศึกษาทำให้บุคคลเรียนรู้ความหลากหลายด้านวัฒนธรรมและส่งผลให้บุคคลมีระดับความเป็นปัจเจกนิยมที่มากขึ้น แต่การศึกษาบางอย่าง เช่น การเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นจะทำให้บุคคลมีระดับความเป็นคติรวมหมู่สูงขึ้น
ข้อมูลจาก
“การทำนายความชื่นชอบงานโฆษณาที่วางกรอบสารต่างกันจากความเป็นปัจเจกนิยม-คติรวมหมู่โดยมีเป้าหมายการควบคุมของบุคคลเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย จตุพร นุตะศะริน (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/35984